วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (2)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เจตนารมณ์ (ต่อ)

ที่สำคัญ ไม่ว่าภาพของความเป็นจักรวรรดิจะเป็นอย่างไร มีความมั่นคงยาวนานเพียงใดนั้น นอกจากจะอยู่ที่นโยบายแต่ละด้านแล้ว ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจอยู่นอกเหนือการกำหนดของหลายราชวงศ์ก็ยังมีผลต่อความมั่นคงด้วย

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับจีนก็คือ ชนชาติที่มิใช่ฮั่น (Non-Han peoples) ที่บางครั้งก็เป็นภัยคุกคามต่อจีน บางครั้งก็อยู่ใต้อำนาจหรือรอมชอมกับจีน

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ปัจจัยนี้เป็นการกล่าวโดยมีจีนเป็นตัวตั้ง เพราะชนชาติเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามหรือไม่อย่างไรนั้น ล้วนถูกอธิบายโดยจีนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่หากมองไปในข้างชนชาติเหล่านี้แล้ว บางทีจีนก็เป็นภัยคุกคามชนชาติเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

เช่น ถ้าเราไปถามคนบางกลุ่มบางคนที่เป็นชนชาติทิเบตหรืออุยกูร์ที่ซินเจียงในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้ (ที่ไม่ชอบรัฐบาลจีน) ก็อาจจะตอบว่า ชนชาติฮั่น (จีน) คือฝ่ายที่มารุกรานตน และแย่งยึดเอาดินแดนของตนไปครอบครอง เป็นต้น

ที่ว่าปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญก็เพราะว่า หากย้อนกลับไปศึกษาถึงช่วงเวลาก่อนที่จีนจะตั้งตนเป็นจักรวรรดิได้เป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฉินเมื่อกว่า 2,200 ปีก่อนแล้ว จะพบว่า จีนได้ขยายดินแดนของตนให้กว้างใหญ่ออกไปก็ด้วยการรุกรานชนชาติต่างๆ อยู่เสมอ

จากนั้นจีนก็อยู่กับชนชาติเหล่านี้จนผสมกลมกลืนกันไปบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง สุดแท้แต่ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของชนชาติเหล่านี้หรือของจีนเอง

ประเด็นก็คือว่า หลังจากราชวงศ์ฉินไปแล้ว ราชวงศ์ในชั้นหลังๆ ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาชนชาติเหล่านี้มาโดยตลอด ซึ่งจนถึงเวลานั้นชนชาติเหล่านี้ในสายตาของจีนก็คือ ชนป่าเถื่อน

 

พ้นไปจากปัญหาชนชาติที่มิใช่ฮั่นแล้ว จักรวรรดิของแต่ละราชวงศ์จะมั่นคงหรือไม่อย่างไรจึงขึ้นอยู่กับนโยบายดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ถ้าหากจะมีประเด็นใดที่อยู่พ้นนโยบายแล้วประเด็นนั้นก็น่าจะเป็นพฤติกรรมของชนชั้นนำ อันหมายถึงบุคคลตั้งแต่จักรพรรดิ บรมวงศานุวงศ์ จนถึงเสนามาตย์ทั้งหลาย ที่บางครั้งบางคราก็มีพฤติกรรมที่เหลวแหลกจนสั่นคลอนความมั่นคง และทำให้รัฐหรือจักรวรรดิของราชวงศ์ล่มสลายลงไปในที่สุด

จากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า หากจะศึกษาจักรวรรดิจีนแล้ว ประเด็นที่พึงศึกษาจึงควรที่จะครอบคลุมไปถึงนโยบายในด้านต่างๆ รวมไปถึงปัจจัยชนชาติที่มิใช่ฮั่น และพฤติกรรมของชนชั้นนำประกอบกันไป เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาในที่นี้จึงย่อมหลีกเลี่ยงเรื่องราวของแต่ละราชวงศ์ไปไม่ได้

และเมื่อราชวงศ์หนึ่งๆ ล่มสลายไปจะด้วยเหตุใดจนนำจีนไปสู่ความแตกแยกแล้ว ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองด้วยเช่นกัน เพราะเป็นช่วงที่จีนไร้ซึ่งราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งมาปกครองให้เป็นเอกภาพ

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เห็นภาพความเป็นจักรวรรดิของจีนได้ดีตามสมควร และความเข้าใจที่มีต่อพัฒนาการของจักรวรรดิจีนในทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ที่งานศึกษานี้คาดหวังว่าจะทำให้เข้าใจจักรวรรดิจีนในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น ว่าแท้ที่จริงแล้วมีความต่างหรือความเหมือนกับอดีตอย่างไร

อันเป็นเจตนารมณ์ที่งานศึกษานี้มุ่งจะไปให้ถึง

 

หลักคิดกับข้อจำกัด

จักรวรรดิจีนก็เช่นเดียวกับจักรวรรดิในอู่อารยธรรมอื่นๆ ที่มิได้จู่ๆ ก็ผุดขึ้นมาบนโลกใบนี้โดยไร้ที่มาที่ไป

จากหลักฐานทางโบราณคดี บันทึก และปกรณ์ต่างๆ ของจีนทำให้รู้ว่า ก่อนที่จักรวรรดิจะเกิดขึ้น จีนได้วิวัฒน์ตนเองจากสังคมหมู่ชน (Bands) สังคมเผ่า (Tribes) สังคมผู้ปกครอง (Chiefdoms) และสังคมรัฐ (States) มาก่อนแล้วอย่างไร

การวิวัฒน์ตามขั้นตอนที่ว่านี้เป็นไปตามธรรมชาติโดยตัวของมันเอง คือเป็นไปตามกาลเวลาที่ยาวนานนับหมื่น นับแสน หรือนับล้านปี

ตราบจนเมื่อลุเข้าสู่สังคมที่เป็นรัฐแล้ว ความเป็นรัฐก็ถูกสะท้อนผ่านความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ

รัฐในภาพที่ว่านี้แสดงผ่านสามราชวงศ์ในยุคต้นประวัติศาสตร์ คือราชวงศ์เซี่ย ซาง และโจว

ราชวงศ์ทั้งสามมีอายุในราว ก.ค.ศ.2070-256 โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ค้นพบจนถึงทุกวันนี้ (ค.ศ.2017) ยังมิอาจชี้ชัดถึงการมีอยู่ของราชวงศ์เซี่ย ถึงแม้หลักฐานที่พบจะมีอายุอยู่ในช่วงเดียวกับราชวงศ์นี้ก็ตาม (1)

ส่วนสองราชวงศ์หลังคือซางและโจวไม่มีปัญหาเรื่องหลักฐานทางโบราณคดีมากนัก

ดังนั้น เมื่อศึกษาถึงสองราชวงศ์นี้ผ่านบันทึก ภาพของความเป็นรัฐจึงมีความชัดเจนขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังและช่วงปลายราชวงศ์โจวนั้น ถือเป็นภาพที่ชวนตื่นตาตื่นใจอย่างมาก เมื่อในช่วงที่ว่านี้ได้เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ จนนำไปสู่การศึกที่ทอดเวลายาวนานหลายร้อยปี

กระทั่งเมื่อมันจบลงด้วยชัยชนะของรัฐฉินเมื่อราว 2,200 ปีก่อนแล้ว รัฐฉินจึงได้สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรวรรดิในที่สุด

ณ จากจุดนี้เองที่หลักคิดเรื่องจักรวรรดิได้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วหลักคิดนี้ก็ใช่เพียงจะทำให้เข้าใจจักรวรรดิจีนมากขึ้นเท่านั้น หากยังทำให้เข้าใจจักรวรรดิอื่นในเชิงเปรียบเทียบกับจักรวรรดิจีนไปในตัวอีกด้วย

 

เกี่ยวกับประเด็นจักรวรรดินี้ งานศึกษาโดยสังเขปของ สตีเฟน โฮวี (Stephen Howe) เรื่อง อะไรหรือคือจักรวรรดิ (ค.ศ.2002) อาจเป็นงานประมวลสารัตถะเกี่ยวกับจักรวรรดิได้อย่างกระชับเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่องานชิ้นนี้ขึ้นต้นบทแรกด้วยการบอกตรงๆ ว่า “จักรวรรดิ” เป็นคำที่มีประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนและมีความหมายหลากหลาย เป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันอย่างเข้มข้น

ที่สำคัญ ยังเป็นศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับศัพท์อื่นๆ อีกหลายคำที่เกิดขึ้นในชั้นหลังอีกด้วย

เช่นคำว่า “จักรวรรดินิยม” “การล่าอาณานิคม” “ลัทธิอาณานิคมแบบใหม่” “โลกาภิวัตน์” “จักรวรรดิแบบไม่เป็นทางการ” “ลัทธิอนุจักรวรรดินิยม” (sub-imperialism) “ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม” “ลัทธิอาณานิคมภายใน” “ลัทธิหลังยุคอาณานิคม” เป็นต้น

แต่กระนั้น โฮวีก็ยังสู้อุตส่าห์สรุปนิยามที่ใช้กันอย่างแพร่หลายว่า “จักรวรรดิ” และ “ลัทธิจักรวรรดินิยม” หมายถึง ความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างรัฐหรือสังคมฝ่ายที่ทรงอำนาจเหนือกว่า กับรัฐหรือสังคมฝ่ายที่ด้อยอำนาจกว่า

จากนั้นโฮวีก็พาเราย้อนกลับไปยังรากศัพท์เดิมของคำว่า empire หรือจักรวรรดิ ว่ามาจากภาษาละตินว่า อิมเปริอุม (imperium) โดยอธิบายว่า คำในภาษาอังกฤษที่มีความหมายใกล้เคียงที่สุดคงจะได้แก่คำว่า อธิปไตย (sovereignty) หรือ การปกครอง (rule) และว่า สำหรับชาวโรมันแล้วคำนี้สื่อถึงความหมายสองประการคือ การทำสงครามและการออกกฎหมายกับการใช้กฎหมาย

ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำคำนี้จะสัมพันธ์และแฝงนัยเกี่ยวกับอำนาจหรือการใช้อำนาจอยู่ลึกๆ

แต่ที่ดูเหมือนจะฉายภาพจักรวรรดิได้ชัดขึ้นก็คือ พอมาถึงยุคหลังๆ ของสาธารณรัฐโรมันแล้ว คำว่า imperium ก็กลายความหมายมาบ่งถึงการปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลและไกลโพ้น ซึ่งเป็นภาพที่แสดงผ่านขนาดของจักรวรรดิโดยตรง

 

นอกจากนี้ โฮวียังได้สรุปนัยอื่นๆ ที่พ้นไปจากเรื่องขนาดของจักรวรรดิให้เรารู้อีกว่า

นัยแรกคือ อธิปไตยสัมบูรณ์ ที่หมายถึง การไม่ยอมรับว่ามีผู้ใดครอบงำหรือมีคู่แข่งอ้างสิทธิ์ในอำนาจ จักรวรรดิจึงไม่จำเป็นต้องสวามิภักดิ์และไม่ยอมรับการแทรกแซงใดๆ

นัยต่อมา เป็นการนำคำว่า “จักรวรรดิ” ไปใช้เฉพาะในเชิงศาสนาในฐานะแรงดลบันดาลสู่ความเป็นสากล ผู้ที่อยู่นอกศาสนาของจักรวรรดิถือว่าเป็นคนป่าเถื่อน

นัยที่สาม เป็นเรื่องสัญชาติและเชื้อชาติ อันเป็นนัยที่สลับซับซ้อนและเป็นที่โต้แย้งกันมาก เพราะนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักเห็นกันว่า ลัทธิชาตินิยมและความคิดที่ยึดถือเรื่องเชื้อชาติ (racialized thought) เป็นมโนคติสมัยใหม่ที่เข้าไปเสริมมโนคติอันเป็นแกนหลักจากสมัยโบราณและสมัยกลางของยุโรป

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ภาพของจักรวรรดิที่มองผ่านขนาดและนัยทั้งสามนี้ โฮวีอธิบายบนพื้นฐานบริบทของสังคมยุโรปเป็นหลัก แต่ก็ด้วยพื้นฐานเดียวกันนี้เองที่เราสามารถนำมาพิจารณากรณีจีนได้อย่างเหมาะเจาะ อันเป็นภารกิจของงานศึกษานี้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม เมื่อโฮวีสาธยายนิยามแรกเริ่มมาจนถึงนัยบางด้านของนิยามแล้ว โฮวีก็สรุปนิยามแบบพื้นๆ อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “จักรวรรดิ” หมายถึง องค์กรขนาดใหญ่ทางการเมืองที่ปกครองดินแดนนอกเขตแดนเดิมของตน มีอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลางและมีดินแดนที่เป็นแกน (core territory)

ซึ่งประชากรมักจะประกอบด้วยกลุ่มชน เชื้อชาติ หรือสัญชาติที่ครอบงำระบบทั้งหมด และมีพื้นที่ครอบงำแผ่เป็นปริมณฑลอันไพศาลอยู่รอบนอก

——————————————————————————–
(1) หมายถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่หมู่บ้านเอ้อร์หลี่โถว อำเภอเอี่ยนซือ ใกล้เมืองลว่อหยาง มณฑลเหอหนาน หลักฐานนี้มีอายุราว ก.ค.ศ.1500 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาของราชวงศ์เซี่ยตามที่ปรากฏในบันทึก