Soft Power to Great Hero / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

Soft Power to Great Hero

 

ตอนที่น้องลิซ่า นักร้องดังชาวไทยสมาชิกวงแบล็กพิงค์ ออกมิวสิก วิดีโอ เมื่อปีก่อน โดยมีชุดไทยประยุกต์ และชฎาน้อยสีทองบนศีรษะ ก็สร้างความฮือฮาว่าเป็นการนำ “วัฒนธรรมไทย” เผยแพร่สู่สายตาชาวโลกได้อย่างดี

และนี่ก็ถูกเรียกว่า Soft Power ที่เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากตั้งแต่ปลายที่แล้ว

เมื่อน้องมิลลิ แร็พเปอร์สาวชื่อดังของไทย ขึ้นเวทีแสดงดนตรีใหญ่ระดับสากล และมีซีนโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วง ก็ฮือฮากันว่า ข้าวเหนียวมะม่วงของไทย โก อินเตอร์ แล้ว

และนั่นก็คือ Soft Power ที่หลายคนบอกดังๆ

 

Soft Power เป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญไม่น้อย มีการขับเคลื่อนเพื่อนำพาให้ของดีๆ ของไทยมีการต่อยอดและพัฒนาเป็น Soft Power ได้อย่างแข็งแรง ทำเงินตราให้กับประเทศได้

จริงๆ แล้ว Soft Power คืออะไร

ทางสายวิชาการให้ความหมายว่า คือ การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องยอมปฏิบัติตามสิ่งที่เราต้องการ

สำหรับสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพทั้งวงการโทรทัศน์มาอยู่ที่นี่ และทุกคนก็ยอมรับว่า สื่อบันเทิงเป็น Soft Power ที่ทรงพลังมาก ก็เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้

ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อเมริกา ที่ส่งออกงานภาพยนตร์ ดนตรี ละคร ซีรีส์ จนเป็น Soft Power สร้างรายได้ให้กับประเทศมานานแล้ว

ดังนั้น สมาพันธ์จึงได้จัดเสวนาออนไลน์ขึ้นในชื่อว่า Soft Power to Great Hero โดยจัดครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ “ทำคอนเทนต์แบบไหน เขาถึงอยากขาย”

“เขา” ในที่นี้หมายถึงเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น True, Netflix, We TV, VIU Thailand และ iQIYI

เขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นสถานีโทรทัศน์ แต่เป็นแพลตฟอร์มทางออนไลน์ มีคอนเทนต์ที่เป็นทั้งของไทยและของต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ นอกนั้นก็จะเป็นรายการและกีฬา

ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้คอนเทนต์ต่างๆ มาออกแล้ว ยังเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองอีกด้วย

มาฟังบางความคิดเห็นของตัวแทนจากทั้ง 5 รายนี้สักหน่อยว่า เขามีมุมมองเรื่องคอนเทนต์ของไทยอย่างไรกันบ้างที่เกี่ยวกับ Soft Power

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา จาก True Corporation พูดถึงการที่คอนเทนต์จากไทยจะแข็งแรงไปสู่ตลาดต่างประเทศได้นั้นต้องทำอย่างไรบ้าง

หนึ่ง คือ ต้องเพิ่มศักยภาพของบุคลากร ให้แข่งขันกับนานาชาติได้ นั่นคือ คุณภาพในการผลิตงาน นับแต่บท การถ่ายทำ นักแสดง การตัดต่อ ดนตรี และ computer graphic

สอง คือ ต้องรู้ว่าผู้ชมนอกประเทศไทยเขาอยากดูอะไร เพราะอะไร จึงจะเข้าไปถึงตลาดต่างประเทศได้ และควรได้รับความนิยมในไทยก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่ต่างประเทศ

พีรธนได้ยกตัวอย่างในการทำงานให้ฟังว่า ถ้าเข้าไปเซิร์ชในกูเกิลถึงคำที่เกี่ยวกับประเทศไทยที่คนต่างชาติรู้จัก ก็จะเจอตำว่า ต้มยำกุ้ง มวยไทย แล้วก็มีคำว่า แฝดสยาม

นั่นจึงทำให้ true จับมือกับบริษัทกันตนาลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์เรื่อง อินจัน ขึ้นมา ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Extraordinary Siamese Story : Eng and Chang ฉายทาง Disney +

 

มาทางฝั่งของ VIU Thailand เป็นคุณชายอดัม หรือ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล บุตรชายของท่านมุ้ย มาให้ความเห็นที่น่าสนใจในมุมการทำงานของเขาว่า

เขาต้องการสร้างความหลากหลายให้กับผู้ชม จึงเป็นเหมือนโปรเจ็กต์ทดลองในการทำงานหลากหลายรูปแบบ มุ่งหวังจะเจาะกลุ่มตลาดในแต่ละแนวให้กว้างขึ้น คุณชายใช้การทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย อย่างเรื่องการทำบท ก็จะมีโปรเจ็กต์ VIU Script Lab ที่จะให้มืออาชีพร่วมสร้างสรรค์บทกับมือสมัครเล่น เพื่อหาไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ น่าสนใจ

เมื่อผลงานมีความน่าสนใจแล้ว ก็จะสามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ใส่อะไรที่เป็น Soft Power ลงไปได้ ที่ไม่ใช่แค่วัฒนธรรม แต่เป็นวิถีชีวิต

และทูตวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ดี ก็คือ ดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง

 

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ จาก We TV ซึ่งมีบริษัทแม่คือ เทนเซ็นต์ จากประเทศจีน บอกถึงวิธีทำงานที่จะใช้ข้อมูลสถิติต่างๆ มาวิเคราะห์ในการหาคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ที่จะสามารถเจาะตลาดในบางช่วงอายุ หรือในบาง segment ที่ขาดคอนเทนต์ที่เขาสนใจได้ อย่างเช่น ตลาดของกลุ่ม E-Sport ซึ่งมีขนาดใหญ่ เมื่อทำซีรีส์เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ขึ้นมาก็ได้รับความสนใจมาก จนต่อยอดออก เป็นอีเวนต์ได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับทุกคนที่กนกพรก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องของ “บท” อย่างมาก ในปีๆ หนึ่งมีเรื่องผ่านตาเป็นร้อยๆ แต่ได้สัก 4-5 เรื่องที่นำมาพัฒนาต่อได้

ส่วนคนทำงานไม่จำกัดเฉพาะโปรดักชั่นที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แม้จะเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ แต่ถ้าได้คุณภาพก็สามารถร่วมงานกันได้

 

ซึ่งเรื่องการทำงานนี้ ทางฝั่งของ Netflix ประเทศไทย โดยยงยุทธ ทองกองทุน ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการทำงานของโปรดักชั่นที่ร่วมงานกับ Netflix ว่า จะกำหนดให้ทีมงานทำงานไม่เกินวันละ 12 ช.ม. และในหนึ่งสัปดาห์ให้ทำงานไม่เกิน 5 วัน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพมาตรฐาน และไม่ทำร้ายคนทำงานมากเกินไปจนไม่ได้พักผ่อน ซึ่งแน่นอนที่จะมีผลตามมากับตัวงานได้

ส่วนเรื่องการผลิต Original Content ยงยุทธให้ความสำคัญกับเรื่อง Local Content ซึ่งเชื่อว่า หากซีรีส์หรือภาพยนตร์นั้นดี มีความนิยมในเมืองไทย ด้วยภาษาสากลของหนัง มันจะพาตัวงานออกเดินทางไปยังตลาดต่างประเทศได้เอง

และที่สำคัญคนที่ทำงานต้องมี Passion ในการทำงาน หากเราเจอคนที่มี Passion ที่ไปกับเราได้ ก็จะสามารถสร้างงานร่วมกันได้

 

สําหรับอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่มาจากประเทศจีนเช่นกันอย่าง iQIYI อ่านว่า อ้ายฉีอี้ สำหรับบางคนที่อาจจะไม่คุ้นเคยนะครับ ครั้งนี้ได้ผ่านศึก ธงรบ มาร่วมพูดคุยด้วย โดยมีการชูตัวอย่างงานที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในตอนนี้ คือ เรื่อง Kin Porche The Series La forte

ซีรีส์เรื่องนี้เป็นแนว Y ซึ่งตลาด Y นี้ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างมาก และไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นแถวหน้าในการผลิตซีรีส์แนวนี้ จนนักแสดงไปมีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศก็หลายคน

แต่ที่ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะความแตกต่างที่จับเอาเรื่องมาเฟียมาเป็นแกนเรื่อง ที่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่มักจับเรื่องในกลุ่มของเด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย หรือเรื่องในครอบครัว

จากความสำเร็จนี้ ทำให้เกิดการต่อยอดไปถึงการทัวร์ตามรอยของนักแสดงในไทยได้ เกิดเป็นสินค้า หรืออีเวนต์ต่างๆ ได้อีก

 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นจากทั้ง 5 ตัวแทนของแพลตฟอร์มที่ว่า หากใครอยากฟังเต็มๆ ไปชมได้ทาง Facebook หน้าจอ ได้ครับ

Soft Power เป็นเรื่องที่มีองคาพยพที่เกี่ยวข้องมาก ทั้งภาครัฐและเอกชน ข้อสำคัญคือ ผู้นำอย่างภาครัฐต้องมีวิสัยทัศน์ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ที่ต้องไม่ใช่การบริหารงานแบบราชการทั่วไป

งั้นที่หวังว่า Soft Power จะเป็น Great Hero ของไทยได้จริงๆ คงอยู่อีกไกล •