ภูมิเสน่ห์สำเนียงเหนือ / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ภูมิเสน่ห์สำเนียงเหนือ

 

ระหว่างวันที่ 13-14 มิถุนายนที่ผ่านมาไปร่วมงานในโครงการ “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อประมวลข้อมูลเบื้องต้นจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่างจะจัดที่จังหวัดพิษณุโลกในเร็วๆ นี้

โครงการนี้มีเจ้าภาพร่วมคือ คณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภา มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน สสส. และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สถานที่คือ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 ซึ่งมีทั้งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ท่ามกลางทิวทัศน์งดงามยิ่ง

ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งนักวิชาการ ศิลปิน และปราชญ์ท้องถิ่น รวมทั้งผู้มีประสบการณ์และบทบาทอยู่ในพื้นที่มาต่อเนื่องอย่างเข้มแข็ง

แบ่งเป็นสามกลุ่มสำคัญ มี

ภูมิภาษาและวรรณศิลป์

ภูมิบ้านภูมิเมือง

ภูมิปัญญาแผ่นดิน

ทุกกลุ่มร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลความรู้ ซึ่งคณะกรรมการจะประมวลมากลั่นกรอง รวมกับข้อมูลอีกสองภาคที่ผ่านมาคือ ภาคใต้ และภาคอีสาน ซึ่งจะได้จัดประชุมร่วมกับภาคกลาง เพื่อสรุปผ่านรัฐสภาในลำดับต่อไป

 

จังหวัดเชียงรายนับเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมภาคเหนือตอนบนที่สำคัญสุด ด้วยเป็นอู่อารยธรรมของทั้งไทย พม่า จีน ลาว ตามลักษณะภูมิศาสตร์ โดยมีลำน้ำโขงเป็นเส้นทางวัฒนธรรมและอารยธรรม

พื้นที่ภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตทั้งเศรษฐกิจ ค่านิยม และหลักคิดร่วมคือศาสนา รวมถึงภูมิปัญญาพื้นถิ่น

โดยเฉพาะ “ภูมิภาษา” ด้วยภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่นี้มีลักษณะที่เป็น “รากเหง้า” หรือ “รากร่วม” น่าสนใจยิ่ง

ปราชญ์จากแม่ฮ่องสอนที่ใช้ภาษาดังเราเรียก “ไทยใหญ่” ทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมทางภาษาไทย ที่ไม่ได้มีเฉพาะรัฐฉานของพม่าเท่านั้น หากโยงไปถึงชาวจ้วงในมณฑลยูนนานของจีนและชาวไทยทรงดำในเดียนเบียนฟูของเวียดนามจนถึงชาวลาวหลวงพระบางด้วย

เรื่องนี้ต้องไปอ่านหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติฯ” ของจิตร ภูมิศักดิ์

อย่างน้อยจะได้รู้คำว่า “ฉาน” มาจาก “ฉาม” ซึ่งคือ “สยาม” และ “ขอม” นั่นเอง

นี้คือ “ภูมิภาษา” ที่น่าภูมิใจยิ่ง

กระทั่งคำ “หื้อ” ที่หมายถึง “ให้” ของชาวเหนือนี่ก็เถิด น่าสนใจนัก

ด้วยชาวหลวงพระบางออกเสียงสระไอไม้ม้วนทุกคำเป็น “อา-อือ” เช่น เชียงใหม่เป็น “เชียงหม่าอื่อ” ครูใหญ่เป็น “ครูหญ่า-อื่อ”

ฉะนั้น “ให้” จึงออกเสียงเป็น “ห้า-อื้อ” ซึ่งที่สุดเหลือเพียง “หื้อ” ดังที่ใช้เป็นภาษาและสำเนียงเหนือกันอยู่นี้

เสียง “อือ” คือสำเนียง “ขึ้นนาสิก”

ฉะนั้นเราจึงเรียกสระไอไม้ม้วนก็เพราะมันมีเสียง “ม้วน” ขึ้นนาสิกนี่เอง

และเสียงม้วนขึ้นนาสิกเป็น “อา-อือ” นี้ในลาวมีเฉพาะหลวงพระบางเท่านั้นที่เวียงจันทน์ก็ไม่มี

ก็เพราะชาวหลวงพระบางมีเชื้อสายมาจากชาวไทยทรงดำที่เดียนเบียนฟูเวียดนามดังเรียกเมือง “ชะวา” ก่อนจะชื่อหลวงพระบาง

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่าคำ “ชะวา” นี้อาจมาจากคำ “เจ้าฟ้า” ซึ่งพ้องกับเดียนเบียนฟูตรงคำว่า “เดียน” คือ “เทียน” ภาษาจีนแปลว่า ฟ้า ไทยเรามาแผลง “เดียน” เป็น “แถน”

นักภาษาศาสตร์น่าลองสืบเค้าดูนะ

 

ภาษิตเมืองเหนือนอกจากสะท้อนถึงค่านิยมในวิถีวัฒนธรรมแล้ว ยังมีสำเนียงเสนาะน่าฟัง เช่น

“ตุ๊กบ่มีกิ๊น บ่มีไผต๋ามไฟส่องต้อง

ตุ๊กบ่ได้แต่งหย้อง ปี้น้องดูถูกดูแคน”

แปลเป็นไทยกลางว่า

“ทุกข์ไม่มีกิน ไม่มีใครเอาไฟมาส่องท้อง

ทุกข์ไม่ได้แต่งตัวงาม พี่น้องดูถูกดูแคลน”

อีกบทนี่ก็ดีนักคือ

“ยามหนุ่มก๋ำขวดเหล้า ยามเฒ่าก๋ำขวดยา”

บทนี้คงไม่ต้องแปลนะ

สำเนียงเหนือนี้สะท้อนเสน่ห์อยู่ในเสียงดนตรีวง “สะล้อ ซอ ซึง” ไม่เชื่อลองฟังดูมีทั้งสำเนียงจีน พม่า ลาว และไทยพื้นถิ่นที่เสนาะและมีมนต์เสน่ห์นัก

พิเศษอีกวงคือเครื่องดนตรีที่เรียก “ปี่จุม” ที่มีตั้งแต่เลาเดียวจนถึงสี่หรือห้าเลา โดยแต่ละเลาให้เสียงต่างกัน แปลกตรงเป่าด้วยการอมเป่า คืออมปากปี่เข้าไว้ในกระพุ้งแก้มแล้วเป่าเป็นเสียงเพลงด้วยนิ้วมืออย่างขลุ่ย

ฟังวงปี่จุมแล้วเหมือนได้ยิน “จาวเหนีย” อู้กันไพเราะเหลือจะกล่าว

 

เสน่ห์ของแผ่นดินถิ่นฐานบ้านเรานี้แหละ เป็นทั้ง “รากฐาน-พื้นฐาน-ภูมิฐาน” ให้เราต้องร่วมตระหนัก

ดังคำของผู้รู้ที่ว่า

ลึกซึ้งรากเหง้า

เข้าใจปัจจุบัน

เท่าทันอนาคต •