แถบธุรกิจกรุงเทพฯ หลังโควิด-19 / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

แถบธุรกิจกรุงเทพฯ หลังโควิด-19

 

ช่วงเวลาวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะชะงักงัน ผู้คนต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จนดูเหมือนว่าโลกจะหยุดหมุน บ้านเมืองจะสงบนิ่ง

แต่ในความเป็นจริง ยังมีหลายภาคส่วนไม่หยุดนิ่งไป โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น สถานีรถไฟบางซื่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการรถไฟหลากสี ทางด่วน ทางด่วนพิเศษ และทางรถไฟรางคู่ โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีทั้งคอนโดมิเนียม สำนักงาน ศูนย์การค้า และบ้านจัดสรร

แม้จะเกิดปัญหาคลัสเตอร์คนงานบ้าง แต่การล็อกดาวน์กลับทำให้การขนส่งวัสดุก่อสร้างและแรงงานไม่ต้องฝ่าฟันปัญหาจราจรติดขัด

ทำให้โครงการต่างๆ รุดหน้าอย่างมาก

 

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้จะพาไปมองเฉพาะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้น บนถนนพระรามสี่

เนื่องจากเป็นถนนสายเดียว ย่านธุรกิจไชน่าทาวน์ มีทีท่าฟื้นชีวิต เนื่องจากรถไฟฟ้าใต้ดินช่วยให้การเดินทางเข้าถึงสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลต่อถนนพระรามสี่ เป็นเสมือนเกตเวย์

สถานีรถไฟหัวลำโพงที่ปิดไปแล้ว กำลังรอเวลาขึ้นโครงการขนาดใหญ่ ที่จะมีทั้งพื้นที่ธุรกิจและวัฒนธรรม ที่เป็นกิจกรรมเมืองสำคัญต่อไป

พื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวนจุฬาฯ 100 ปีแล้ว มีมิกซ์ยูส สามย่านมิตรทาวน์ และจามจุรีสแควร์ เปิดดำเนินการไปแล้วหลายปี ยังจะมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งศูนย์การแพทย์ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจรุ่นใหม่ อาคารชุดพักอาศัย และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อรวมกับโครงการอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่ ยังมี เดอะรูม บรรทัดทอง ออริจิ้น สะพานเหลือง เรียงรายต่อเนื่องกันเป็นขบวน

เช่นเดียวกับบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่เปิดโครงการพักอาศัยต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ ไอดีโอ จุฬาฯ-สามย่าน แอสตันจุฬาฯ คัลเจอร์จุฬาฯ และโคโคบราวน์ คลองเตย

ตรงศาลาแดง มีโครงการปรับปรุงสีลมเซ็นเตอร์ เป็น สีลมเอจ และมีโครงการ เซ็นทรัลดุสิต แทนโรงแรมดุสิตธานี

ตรงแยกวิทยุ สาทร มีอภิมหาโครงการ วันแบงคอก ที่มีเนื้อที่ถึงร้อยหกสิบไร่ ประกอบด้วย อาคารสูงระฟ้าถึงหกหลัง ไม่นับศูนย์การค้าและกิจกรรมในพื้นที่กว่าล้านหกแสนตารางเมตร

ฝั่งตรงข้าม บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ก็เปิดตัวคอมเพล็กซ์ใหม่ ประกอบด้วย โรงแรมเซ็นเตอร์พอยท์ และคอนโดมิเนียมหรูครบสูตร

ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ที่จะขยายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ พร้อมกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เวอร์ชั่นใหม่ พร้อมอาคารประกอบอีกมากมาย

ที่ต่อเนื่องไปจนถึงถนนพระรามสี่ มีศูนย์การแพทย์ สำนักงาน

กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เริ่มทยอยย้ายไปอยู่อีสเทิร์นซีบอร์ดแล้ว ต่อไปก็มีแผนจะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มากอีกแห่งหนึ่ง

เมื่อรวมกับกิจการสำนัก โรงพยาบาลที่มีอยู่เดิม ต่อเนื่องไปจนถึงกล้วยน้ำไท ยังมีที่ดินผืนใหญ่ ว่างการใช้สอยในปัจจุบัน คือ วิทยาเขตเดิมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พื้นที่หลายสิบไร่

เอื้อต่อการพัฒนาเมืองอย่างมาก ทั้งด้านธุรกิจการค้า บริการ และที่อยู่อาศัย

 

ด้วยเหตุนี้ ต่อไปในอนาคต ถนนพระรามสี่ก็จะกลายเป็นแถบธุรกิจกรุงเทพฯ Central Business Corridor – CBC ยาวหลายกิโลเมตร

เชื่อมต่อกับย่านธุรกิจโบราณไชน่าทาวน์ ไปถึงย่านธุรกิจชานเมืองพระโขนง

ที่สำคัญเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ ไปจากเดิมแน่นอน •