จัตวา กลิ่นสุนทร : บ้าน “ศิลปินแห่งชาติ” วงเวียนใหญ่ (ซอยราษฎร์ร่วมเจริญ) กรุงธนบุรี

ถ้าเป็นคนกรุงธนบุรีโดยกำเนิด เป็นเด็กชาวสวนฝั่งธนบุรี ก็คงพอนึกกันออกว่าซอยสารภี 3 นั้นเริ่มต้นบริเวณสี่แยกบ้านแขกผ่านยาวลึกเข้าวงเวียนใหญ่ ทะลุถนนเจริญรัถ แต่พอตัดยาวเข้าไปในสวนแล้วมาออกถนนเจริญนคร ส่วนนี้ก็จะเรียกว่าซอยสารภี 3 (ตัดใหม่)

หากมิได้เป็นคนดั้งเดิม หรือผูกพันเกี่ยวดองกับคนย่านนั้นมาก่อนก็คงไม่รู้จัก เพราะสถานที่หลักๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังติดหูติดตาเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมักจะเป็นวงเวียนเล็ก (ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว) สี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ และถนนสายเก่าแก่ คือ ถนนเจริญนคร เส้นยาวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทิศใต้ของกรุงเทพฯ

คนรุ่นต่อมารู้จักแต่ “สะพานตากสิน” (สะพานสาทร) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครบริเวณสาทร ไปยังฝั่งธนบุรีเชื่อมต่อถนนตากสิน และถนนเส้นที่เกิดขึ้นใหม่เกือบ 40 ปีนี้เรียกว่า “ถนนกรุงธนบุรี” สองฝั่งของถนนเส้นนี้จึงเป็นซอยกรุงธนบุรี 1-2-3-4-5-6 และ ฯลฯ เมื่อข้ามมาจากฝั่งกรุงเทพฯ ด้านขวามือของถนนกรุงธนบุรีจะเป็นเลขคี่ ฝั่งซ้ายมือจะเป็นเลขคู่ โดยเริ่มต้นนับ 1 มาจากด้านถนนตากสิน

ซอยกรุงธนบุรี 1 เข้าไปก็จะมีแยกเป็นซอยราษฎร์ร่วมเจริญ

และในปลายปี 2560 จะกลายเป็นที่ตั้ง “หอศิลป์” อันเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยของ “กมล ทัศนาญชลี” (ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ก็ได้ ขณะเดียวกันถ้าหากจะเข้ามาทางวงเวียนใหญ่ ตรงถนนเจริญรัถ ก่อนจะมาแยกเข้าซอยราษฎร์ร่วมเจริญจะมาถึงได้เช่นเดียวกัน

 

บริเวณนี้แหละแต่ก่อนเป็นพื้นที่ของสวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน ส้มโอ หมาก มะพร้าว ฯลฯ ทั้งสิ้น มีคลองเล็กคลองน้อย และเมื่อเมืองเจริญเติบโต ผู้คนจากต่างพื้นที่จากหลายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยมากขึ้น สวนผลไม้ทั้งหลายก็เริ่มค่อยๆ หายไปจนกระทั่งทุกวันนี้กลายเป็นอาคารสูง คอนโดมิเนียม มีรถไฟฟ้าผ่านยาวไปถึงสถานีบางหว้าก่อนไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า รถใต้ดินสายต่างๆ ในอนาคต

คนพื้นถิ่นที่โชคดีมีที่ดินอยู่ริมถนนกรุงธนบุรีหลังจากสร้างสะพานตากสินแล้ว มีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อจากฝั่งกรุงเทพฯ ราคาที่ดินซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะรู้ล่วงหน้าก็มีราคาพุ่งกระฉูดยาวไปตลอดเส้นทาง ทุกวันนี้ตารางวาละหลายแสนบาท

เจ้าของสวนเก่าเปลี่ยนสภาพเป็นเศรษฐีที่ดินเพราะขายยกแปลง แล้วหอบเงินโยกย้ายถิ่นฐานไปซื้อหาบ้านพักอาศัยที่อื่นไกลไปจากเมือง

บางรายที่โชคร้ายที่ดินถูกเวนคืนไปจนหมดได้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า ที่เหลืออยู่ลึกเข้าไปในซอยราคาไม่สูงเหมือนริมถนน

บางครอบครัวเกิดการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงกัน เป็นที่น่าเวทนาพี่น้องคลานตามกันมาแท้ๆ แตกแยกชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบเพราะเรื่องของผลประโยชน์ซึ่งไม่เข้าใครออกใคร และความโลภ โง่ของบางคนในครอบครัว

 

กมล ทัศนาญชลี เป็นเด็กบ้านสวนฝั่งธนบุรีที่กล่าว สืบเชื้อสายศิลปินไทยรุ่นปู่ย่าตายาย เกิดและเติบโตจากตระกูลช่างศิลปะ ครอบครัว “ช่างสิบหมู่” ได้เรียนรู้วิชาเขียน ปั้น แกะสลัก มาตั้งแต่เยาว์วัย

เขามีคุณตาเป็นช่างศิลป์ เป็นศิลปินระดับยอดฝีมือถึง 3 ท่าน รวมทั้งบรรดาเพื่อนๆ ศิลปินของคุณตาเหล่านั้นที่ได้ช่วยกันถ่ายทอดวิชาความรู้ คือ คุณตาส่าง สดประเสริฐ (หมื่นช่างชำนาญกิจ) คุณตาสวง ทิมอุดม และ คุณตาเหม เวชกร

เขาฝึกฝนการทำงานศิลปะกับศิลปินเหล่านี้อยู่จนถึงอายุ 16 ปี

หลังจากที่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเพาะช่าง และทำงานศิลปะอย่างหนัก คบค้าสมาคมกับกลุ่มผู้ฝักใฝ่ศิลปะในละแวกฝั่งธนบุรี มีทั้ง “ประเทือง เอมเจริญ” (ศิลปินแห่งชาติ) และ (กวี) “จ่าง แซ่ตั้ง” (เสียชีวิต) และท่านอื่นๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบนเส้นทางศิลปะกันไปจำนวนไม่น้อย

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่างตามหลักสูตร 5 ปี ก็เข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.ประสานมิตร) พร้อมทำงานศิลปะอย่างหนักทุกรูปแบบ อุทิศตนเองสอนศิลปะชาวต่างประเทศอยู่ถึง 5 ปี เปิดนิทรรศการศิลปะ (Solo Exhibition) ของตัวเองทุกๆ ปีในกรุงเทพฯ รวมทั้งได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ

 

กมล ทัศนาญชลี เป็นคนทำงานศิลปะอย่างมุ่งมั่นจริงจังทำงานชนิดไม่มีวันหยุดทำได้ในทุกสภาพสถานที่ และหลากหลายชิ้นงานตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เครื่องเคลือบดินเผา (Ceramic) งานประติมากรรมไม้และเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งในระยะหลังๆ เมื่อได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” (จิตรกรรม+สื่อผสม) เขาได้เดินทางไปทำประติมากรรมเกือบทั่วประเทศไทย

ได้รับทุนการศึกษาของ Mr.William (Bill) Alexander สถาปนิก นักสะสมศิลปะผู้ซึ่งค่อนข้างมีฐานะ ท่านมีบ้านพักบนเนินเขาเบเวอรี่ ฮิลล์ (Bevery Hill) ซึ่งเป็นย่านบ้านหรูๆ ของดาราฮอลลีวู้ด (Holly Wood) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังรวมทั้งผู้มีอันจะกิน ให้เดินทางไปเปิดนิทรรศการศิลปะ ยังหอศิลป์ในนครลอสแองเจลิส (Los Angeles) สหรัฐอเมริกา และเข้าศึกษาต่อในสถาบันศิลปะโอทิส (Otis Art Institute)

ซึ่งด้วยความสามารถ และขยัน เขาเรียนจบได้รับ M.F.A ด้วยเวลารวดเร็ว

ด้วยความสามารถในการสร้างศิลปะ รวมทั้งชีวิตจิตใจที่ทุ่มเทเพื่องานศิลปะ ผลงานการสร้างสรรค์ของเขาจึงมีลักษณะพิเศษ จึงได้ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐในฐานะ “ศิลปินผู้มีความสามารถ” เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับวีซ่าถาวรมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

กมล ทัศนาญชลี ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริการ่วม 40 ปี สร้างความมั่นคงทางด้านครอบครัว สร้างงานศิลปะ สร้างชื่อเสียงด้วยการทำงานศิลปะ เชื้อเชิญศิลปินไทยตั้งแต่ระดับครูอาจารย์ ซึ่งก็เสียชีวิตกันไปไม่น้อยแล้ว ไปเผยแพร่ผลงานศิลปะ เป็นผู้คิดโครงการนำนักศึกษาศิลปะ ครูผู้สอนศิลปะของไทยเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา แลกเปลี่ยนเชื่อมต่อศิลปินของสหรัฐให้เดินทางเข้ามาทำ Work Shop ศิลปินไทยไปเยือนสหรัฐ รวมทั้ง “ศิลปินแห่งชาติ” ของไทยด้วย

ศิลปินผู้มีชื่อเสียงของบ้านเราจำนวนไม่น้อยได้ไปปักหลักสร้างงานศิลปะในยังบ้านพักของกมล ณ สหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ปราชญ์วาดรูป ซึ่งได้เสียชีวิตไป 3 ปีแล้ว ได้ไปสร้างงานเป็นประจำทุกปี และผลงานของท่านได้รับการตอบรับมาก ขนาดสียังไม่ทันจะแห้งก็มีนักสะสมมาแย่งซื้อจนหมดเกลี้ยง

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” เขาต้องเดินทางไปกลับสหรัฐ-กรุงเทพฯ-สหรัฐ โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งจะใช้เวลาทำกิจกรรม สร้างงานศิลปะในประเทศไทยเป็นเวลาหลายๆ เดือน กระทั่งความสามารถและผลงานแห่งการเสียสละอย่างจริงใจในการบรรยาย การสอนศิลปะในสถาบันการศึกษาซึ่งเปิดการเรียนการสอนศิลปะทั่วประเทศไทย จึงไม่แปลกใจที่กมลจะเป็นคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันเหล่านั้นตลอดมาไม่น้อยกว่า 10 ปริญญา

การทำงานอย่างหนัก อุทิศจิตวิญญาณทั้งชีวิตเพื่องานศิลปะโดยแท้จริง ส่งผลให้เขาได้รับการตอบแทนทุกด้าน ทั้งครอบครัว พ่อแม่พี่น้องได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา สร้างงานสร้างอาชีพประสบความสำเร็จตามเส้นทางของตัวเองหลังจากได้รับการผลักดันจากศิลปินผู้มากความสามารถ และมุ่งมั่นมุมานะคนนี้

 

กมล ทัศนาญชลี ได้กลับมาสร้างสถานที่เก็บงานศิลปะหลังการเปิดนิทรรศการแบบแสดงเดี่ยวในประเทศไทยเกือบทุกปี เป็นผลงานที่สร้างในสหรัฐ และในเมืองไทยของเขายังบ้านเกิดในซอยราษฎร์ร่วมเจริญ วงเวียนใหญ่ รวมทั้งเป็นที่พัก ที่นัดพบพรรคพวกเพื่อนพ้องระหว่างที่เดินทางมายังประเทศไทย แต่ก็เป็นไปได้เพียงไม่กี่ปี สถานที่แห่งนั้นก็ไม่เพียงพอกับผลงานที่เกิดอย่างต่อเนื่องด้วยความขยันขันแข็ง

พื้นที่ละแวกนั้นก็เหมือนชุมชนทั้งหลายทั่วๆ ไปของบ้านเรา เป็นคนพื้นถิ่น เกี่ยวดองเป็นญาติ ผูกพันเป็นเพื่อนบ้านสนิทสนมเสียส่วนใหญ่จึงไม่ยากที่จะเจรจาขอ (ซื้อ) ขยายพื้นที่ออกไป เพื่อทำการก่อสร้าง “หอศิลป์”

เป็น “หอศิลป์” ส่วนตัวขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีห้องติดตั้งแสดงงานครบทุกชั้น และมีการตกแต่งด้วยผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ชิ้นงานเหล็ก (Steel) สเตนเลส สตีล (Stainless Steel) ของเขาอย่างสวยงาม

ไม่น่าเชื่อว่าในซอยแคบๆ ซึ่งเป็นบ้านสวนเก่าแก่ดั้งเดิมจะเกิด “หอศิลป์ร่วมสมัย” ของ “ศิลปินแห่งชาติ” จะเรียก “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ของ “กมล ทัศนาญชลี”

เด็ก “บ้านสวนฝั่งธนบุรี” เมื่อกว่า 70 ปีที่ผ่านเลย