ธงทอง จันทรางศุ | จริยธรรม

ธงทอง จันทรางศุ

ในราว 40 ปีมาแล้ว เวลานั้นผมเพิ่งเริ่มสอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เพียงแค่ปีสองปี ได้มีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งมาชวนผมไปสอนหนังสือเป็นอาจารย์พิเศษวิชานิติปรัชญา

เราหรือก็กำลังร้อนวิชา แถมเงินเดือนก็น้อย ยังดีที่อาศัยบ้านพ่อแม่อยู่มีข้าวมื้อเช้ามื้อเย็นกินฟรี ถ้าได้ลำไพ่ค่าสอนพิเศษมาเพิ่มสักหน่อยก็คงดีมิใช่น้อย เลยตกปากรับคำเขาไปสอนหนังสือตามคำเชิญ

เมื่อไปถึงชั้นเรียนจึงพบว่า นักศึกษาส่วนมากกว่าครึ่งห้องเป็นข้าราชการตำรวจ มาศึกษาเพื่อเพิ่มพูนวิทยฐานะ

ถ้าเป็นข้าราชการชั้นประทวนก็จะได้ปรับเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรเมื่อเรียนจบได้ปริญญาทางกฎหมาย

หรือบางคนเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรอยู่แล้ว การได้มีวุฒินิติศาสตรบัณฑิตติดตัวไว้อีกหนึ่งใบก็มีประโยชน์ไม่น้อยเวลาเข้าไปเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญต่างๆ จะได้เป็นแต้มต่อว่านอกจากจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วยังขยันมาเรียนหนังสือจนได้ปริญญาทางกฎหมายอีก

อะไรก็ดีไปหมดทั้งนั้น จนกระทั่งถึงเวลาสอบปลายภาค

ข้อสอบที่ต้องอธิบายว่าความยุติธรรมคืออะไรในวิชานิติปรัชญาต้องถือว่าเป็นยาหม้อใหญ่สำหรับนักศึกษาบางคนของผมเลยทีเดียว

คราวนี้นักศึกษาก็หืดขึ้นคอสิครับ

หลังจากวันสอบผ่านพ้นไปไม่กี่วัน เช้าตรู่วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งทำงานอยู่ในห้องทำงานที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มีนายตำรวจสัญญาบัตรชั้นยศอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้วมาเคาะประตูห้องผม ซึ่งผมก็ไม่ได้ขัดข้องอะไรที่ใครจะมาพูดคุยอะไรด้วย เพราะห้องทำงานของผมมีอาการคล้ายกับสถานีรถไฟหัวลำโพงที่มีรถไฟวิ่งเข้าออกทั้งวันอยู่แล้ว เดี๋ยวคนนี้ก็มา เดี๋ยวคนโน้นก็ไป สนุกดีออกจะตายไป

คุณตำรวจที่ว่ามาบอกว่าเพิ่งกลับมาจากเมืองจันท์คือจังหวัดจันทบุรี ได้ซื้อพลอยมาฝากผมเม็ดหนึ่ง เพราะระหว่างไปเที่ยวก็คิดถึงผมว่าสอนหนังสือดีเหลือเกิน อยากจะตอบแทนพระคุณจึงซื้อพลอยมาฝากกัน

พร้อมกันนั้นก็อ้อมๆ แอ้มๆ บอกว่า ทำข้อสอบไม่ค่อยได้ อยากจะขอความเมตตาอาจารย์ด้วย

ผมนึกถามตัวเองว่า ถ้ารับพลอยเม็ดนี้ของเขาไว้แล้ว จะมีปัญญาไปเล่าให้ใครๆ ฟังได้ ขืนเอาพลอยไปทำแหวน ถ้ามีคนถามว่าซื้อมาอย่างไร ได้มาจากไหน มิต้องกลั้นใจตายหรือ

สรุปได้ภายในเวลาครึ่งวินาทีว่าจะรับพลอยเม็ดนี้ไว้ใช้สอยเห็นจะไม่ได้การแน่ จึงได้แต่ขอบคุณเขาไป

แถมยังบอกด้วยว่าผมรับไว้ไม่ได้ ส่วนข้อสอบก็ยังไม่ได้ตรวจ ตอนตรวจก็จะได้ตรวจตามเนื้อผ้า ขอให้เราเข้าใจตรงกันอย่างนี้นะครับ

คุณตำรวจคนนั้นก็ลากลับไป โดยผมก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าชื่ออะไร และสุดท้ายแล้วสอบผ่านหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ไม่ว่าจะสอบผ่านหรือสอบไม่ผ่านก็ตาม ตอนนี้ก็คงเกษียณไปนานแล้วล่ะครับ

แล้วอยู่ดีๆ ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดทำไม

ที่ยกขึ้นมาเล่าซ้ำอีกครั้งหนึ่งในคราวนี้ ก็เพื่อจะขยายประเด็นต่อไปถึงเรื่องคำว่า “จริยธรรม” ซึ่งเป็นที่เรียกร้องต้องการกันเหลือเกินสำหรับสังคมยุคนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแวดวงราชการ ถึงขนาดต้องมีพระราชบัญญัติว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมเกิดขึ้น หน่วยงานทุกกระทรวงทบวงกรมต้องมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ต้องมีการจัดทำประมวลจริยธรรมเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับไว้ท่องก่อนนอน ฮา!

อะไรประมาณนี้

ผมเอง หลายคนมองโลกในแง่ดีเป็นคนมีจริยธรรมมากมายอย่างไรก็ไม่ทราบ จึงได้รับแต่งตั้งมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการจริยธรรมของหน่วยราชการสองสามแห่ง เขาให้เป็นก็เป็นครับ

และขอบคุณที่ให้เป็นด้วย

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม เรื่องของจริยธรรมนั้นมีมาตรฐานสูงกว่ากฎหมาย และเป็น “คนละเรื่องเดียวกันกับกฎหมาย”

แล้วมีอะไรบ้างไหมครับที่ผิดกฎหมายแต่ไม่ผิดจริยธรรม

มีถมไป ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความผิดกฎหมายทางเทคนิคบางอย่าง เช่น กฎหมายบังคับหรือกำหนดว่าถ้ามีบุคคลเกิดขึ้นในบ้านของเรา ผู้เป็นเจ้าบ้านต้องไปแจ้งเกิดกับพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้วัน ถ้าไม่ไปตามกำหนดก็ต้องถูกปรับเพราะทำผิดกฎหมาย

ตัวอย่างนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับจริยธรรมเลย ไม่มีเรื่องของความดีความชั่วอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ความผิดที่กฎหมายกำหนดขึ้นก็เป็นเรื่องทางเทคนิคโดยเฉพาะ เพราะทางราชการอยากจะได้ข้อมูลไปทำสถิติประชากรเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม การกระทำบางอย่างอาจไม่ผิดกฎหมาย หรือจะบอกว่าไม่ผิดกฎหมายเลยก็ว่าได้ แต่การกระทำเช่นนั้นเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ตัวอย่างที่อาจอภิปรายถกเถียงกันในแนวทางอย่างนี้ ไม่ต้องดูอื่นไกลแต่ขอให้ดูจากกรณีการที่สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งผู้ช่วยงานการในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ โดยได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมีคำอธิบายว่าสามารถทำได้ เพราะไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามข้อกำหนดตามกฎหมายแต่อย่างใด

แต่จะสรุปได้แน่แล้วหรือว่า เมื่อไม่ผิดกติกาก็ไม่ผิดจริยธรรม

ผมเองมีมาตรวัดง่ายๆ ที่ใช้กับตัวเองอยู่เสมอ คือเรื่องใดที่เกิดขึ้นแล้ว ทำไปแล้ว สามารถบอกเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างน่าชื่นตาบาน ไม่มีอะไรต้องปกปิดมิดเม้ม ผมว่าเรื่องนั้นไม่มีปัญหาทางจริยธรรมครับ

ตัวอย่างเรื่องนี้ขอให้ย้อนกลับไปดูเรื่องพลอยจากเมืองจันท์ข้างต้นเป็นอุทาหรณ์

ตรงกันข้าม เรื่องใดถ้าทำไปแล้วเกิดขึ้นแล้ว ไม่กล้าบอกใคร ใครมาขอดู มาขอสอบทานก็ขัดเคือง เรื่องนั้นแหละมีปัญหาทางจริยธรรม

ทุกวันนี้ผมได้รับมอบหมายจากทางราชการให้เป็นประธานคณะกรรมการอุทธรณ์กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเมื่อมีผู้มาขอใช้สิทธิตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

ผมพบว่า หลักที่อยู่ในกฎหมาย และวิชาการที่เราสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ว่าสำหรับหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ในครอบครองนั้น “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

ในทางปฏิบัติแล้ว หลายหน่วยก็ดื้อตาใส หลายครั้งก็อ้างส่งเดชไปถึงสิทธิที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

อันที่จริงแล้วข้อมูลส่วนบุคคลที่จะปกปิดได้นั้นต้องนำมาชั่งน้ำหนักกับประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ ว่าอะไรยิ่งหรือหย่อนกว่ากัน

ยิ่งถ้าเป็นคนซึ่งเข้ามาทำงานการเมืองในตำแหน่งสำคัญ การแสดงความโปร่งใส ความจริงใจของตัวเอง ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นเครื่องประกันได้ว่า ตนเองเข้ามาทำงานด้วยมือที่สะอาด และจะจบหน้าที่พ้นตำแหน่งไปด้วยมือที่สะอาดเหมือนขามา

ถ้ามั่นใจในมาตรฐานทางจริยธรรม การเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่รับเงินเดือนในฐานะเป็นผู้ช่วยงานของสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่มีปัญหาอะไรที่ต้องปิดบังอำพราง

จะได้รู้กันชัดๆ ว่า จริยธรรมของผู้หลักผู้ใหญ่ในระดับนั้นมีอยู่เช่นไร และทนทานต่อการพิสูจน์หรือไม่

เอ๊ะ! หรือว่าไม่ทนทาน

ชาวบ้านร้านตลาดอย่างเราก็อยากรู้เหมือนกัน