สุรา-เบียร์ ก้าวหน้า (2) / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

สุรา-เบียร์ ก้าวหน้า (2)

 

การเปลี่ยนแปลงเชิงก้าวหน้า มักเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลง ในจังหวะเวลาที่เป็นไปได้

ว่าด้วยกรณีจะเปิดเสรีสุรา-เบียร์ในไทย อาจมีปัจจัยเชิงบวกมาจากพัฒนาการธุรกิจไทยซึ่งชักใย เกี่ยวข้องได้ก้าวข้ามไปไกลแล้ว

ตั้งแต่ปี 2534 แม้ว่ามีสุรา-เบียร์แบรนด์ระดับโลกเข้ามาอย่างหลากหลาย แต่ตลาดในประเทศ โดยเฉพาะสุราขาวนับสิบแบรนด์ของมือเดียว สินค้าหลักในตลาดฐานกว้าง คงครอบงำไว้อย่างเหนียวแน่น

ส่วนเบียร์ ว่ากันว่ามีสัดส่วนมากกว่า 90% ยึดครองโดยเบียร์ไทย “สิงห์” (บุญรอดบริวเวอรี่) กับ “ช้าง”(ไทยเบฟฯ) ซึ่งมีการแข่งขันกันตามสมควร มีแตกแบรนด์ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เสียงเรียกร้องเปิดโอกาสให้ “รายย่อยๆ” ในสังคมร่วมวงบ้าง ได้ดังขึ้นเป็นช่วงๆ กดดันให้รัฐบาลชวน หลีกภัย (2540-2543) ขยับตัว มีนโยบายการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราหลังปี 2542

ถ้อยแถลงเวลานั้นจะน่าสนใจยิ่ง หากไม่มีประโยคสำคัญตามมา “ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 เห็นชอบนโยบายการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราหลังปี 2542 โดยให้กระทรวงการคลังชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจชัดเจน ในหลักการและกรอบของการเปิดเสรีสุราด้วยว่า มิได้หมายความว่าผู้ใดจะผลิตสุราได้เองโดยเสรีทุกกรณี…” สาระสำคัญตอนต้นของประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543 (6 ตุลาคม 2543) ลงนามโดย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น

ด้วยปรากฏชัดมีข้อจำกัดมากทีเดียว ที่สำคัญมิได้ทำให้โครงสร้างการผลิตสุรา-เบียร์ไทย ขยับขเยื้อน อย่างกรณีเบียร์ อนุญาตให้ทำได้เพียง 2 ประเภท 2 กรณี

หนึ่ง – หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี

สอง -โรงเบียร์ขนาดเล็ก มีลักษณะเป็น Brew Pub และต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตรต่อปี โดยให้มีการบริโภคภายในพื้นที่ผลิต ไม่อนุญาตให้บรรจุขวด ทั้งนี้ การผลิตเบียร์ทั้งสองประเภท ผู้ผลิตจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนด้วยเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

มาช่วงหลังวิกฤตการณ์ ปี 2540 สักพักหนึ่ง “ขาใหญ่” ธุรกิจสุรา-เบียร์ไทย มีความพยายามปรับตัว เปิดสู่โลกภายนอกอย่างจริงจังมากขึ้น

“สิงห์” แม้ว่าได้เริ่มต้นส่งออกบ้างเมื่อราว 4 ทศวรรษที่แล้ว ได้จัดตั้ง Boonrawd Trading International (ปี 2544) ดูแลตลาดโลกโดยตรง

ส่วน “ช้าง” เริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจ ก่อตั้งไทยเบฟฯ (ปี 2546) จากนั้นเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์หรือ SGX (ปี 2549) พร้อมกับซื้อกิจการสุราในต่างประเทศ ตามด้วยดีลสำคัญ เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งสิงคโปร์ (ปี 2555)

กระแสข้างต้น มีแรงขับดันสำคัญมาจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี 2558

 

ปี2556 “สิงห์” มีดีลสำคัญในแผนการนำ Carlsberg เบียร์ระดับโลก เข้าสู่ตลาดไทยอีกครั้ง ในฐานะผู้จัดจำหน่ายซึ่งมีเครือข่ายทรงพลัง มิติหนึ่งเป็นการเพิ่มสินค้าเบียร์ในมือให้หลากหลายและครอบคลุม ตามภาวะตลาดที่ปรับเปลี่ยน นอกจากนี้ยังมี Asahi เบียร์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น และ Corona แบรนด์เบียร์เม็กซิกันที่มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในอเมริกาอีกด้วย

เป็นช่วงเวลาที่ “สิงห์” ประกาศบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับตลาด AEC เป็นหลัก เชื่อว่าแผนการผนึกกำลัง Carlsberg จะมีผลให้เป็นไปตามแผนนั้น ด้วย Carlsberg ซึ่งมีฐานการผลิต 8 โรงงาน ในลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมในภูมิภาค

อันที่จริงในปีคาบเกี่ยวกันนั้น (2556) “สิงห์” ในนาม “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จับมือกับทีมฟุตบอลระดับโลกเริ่มต้นด้วยทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้ และต่อมาแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เชลซีฟุตบอลคลับ และเลสเตอร์ซิตี้ นอกจากนี้ ได้จับมือกับรถแข่งสูตรหนึ่งและทีมรถแข่งระดับโลกอย่างเรดบูล และเฟอร์รารี่ด้วย” อีกข้อมูลของสิงห์เองได้เปิดแผนเชิงรุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง

ในจังหวะระยะนั้นเอง “สิงห์”ได้พยายามเพิ่มผลิตภัณฑ์เบียร์ใหม่ๆ ของตนเอง สะท้อนมุมมองธุรกิจเบียร์กำลังเติบโตสัมพันธ์กับภาวะตลาดซึ่งยกระดับ ซับซ้อนและหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่า U BEER (ปี 2559) Snowy Weizen เข้ามาเติมพอร์ตในตลาดเบียร์พรีเมียม (ปี 2560) EST33KOPPER ตามกระแสคราฟต์เบียร์จากร้าน EST. 33 เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกระป๋อง และ MY BEER ตอบสนองคนรุ่นใหม่ๆ (ปี 2561)

 

ขณะ “ช้าง” ดูเว้นจังหวะไประยะหนึ่ง ก่อนก้าวไปอีกขั้น จากเดินหน้าเต็มกำลังสร้าง “ช้าง” ให้เป็นแบรนด์เบียร์ระดับภูมิภาคของตนเอง ไปสู่เป็นหุ้นใหญ่ในกิจการเบียร์ในเวียดนาม

ผ่านไปราวๆ 5 ปีหลังจากไทยเบฟฯ เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ และมีดีลซื้อกิจการใหญ่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มระดับภูมิภาคแห่งสิงคโปร์ ตามแผนพยายามเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ด้วย โครงสร้างธุรกิจสำคัญยังคงอยู่ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ดี โดยสุรายังคงครองสัดส่วนมากที่สุดมากกว่าครึ่ง ส่วนใหญ่เป็นตลาดในเมืองไทย

ขณะที่เบียร์มีส่วนแบ่งประมาณหนึ่งในสาม ขณะนั้นคาดกันว่าธุรกิจเบียร์มีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนขึ้นอีก ดัชนีนั้นมาจากทั้งความคเลื่อนไหวของคู่แข่งรายสำคัญในประเทศไทย และความเคลื่อนไหวอันคึกคักของเบียร์แบรนด์ระดับโลกในภูมิภาค

จุดเปลี่ยนมาถึงอีกครั้ง เมื่อไทยเบฟฯ หันกลับมาโฟกัสธุรกิจเบียร์ และสามารถฝ่าด่านคู่แข่งธุรกิจจะดับโลก บรรลุดีลใหญ่กับรัฐบาลเวียดนาม เข้าควบคุมกิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนามได้สำเร็จเมื่อปลายปี 2560

ภาพกว้างทางธุรกิจ Sabeco เจ้าของเบียร์แบรนด์สำคัญ-Saigon Beer หรือ Bia Saigon และ 333 เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์มากที่สุดในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ “เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี” และ “ตลาดเบียร์เวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น” อย่างที่ว่ากัน

เมื่อผนวกกับกิจการในไทยและเวียดนามเข้าด้วยกัน กิจการในเครือไทยเบฟฯ (ในนาม Beer Co) ได้กลายเป็นผู้นำธุรกิจเบียร์ในอาเซียนทันที (อ้างจาก THAI BEVERAGE PLC1H22 FINANCIAL RESULTS-First Half ended 31 March 2022) ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่มากที่สุดมีสัดส่วน 23.6% ว่าไปแล้วถือว่าทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญไม่มาก โดยเฉพาะอันดับสอง เป็น Heineken แห่งเนเธอร์แลนด์ เข้าตลาดอาเซียนมาราว 90 ปี มีสัดส่วน 22.4% ขณะบุญรอดบริวเวอรี่มาเป็นอันดับ 4 ทิ้งห่างพอสมควรด้วยสัดส่วน 9.7%

 

ภาพข้างต้นแสดงว่า “ขาใหญ่” ธุรกิจสุรา-เบียร์ไทย ก้าวพ้นพรมแดนที่มีการปกป้องไว้ภายใน “เกาะแก้วพิสดาร”ไปแล้ว อย่างแท้จริง ภายใต้เงื่อนเวลาในการปรับตัวพอสมควร

กรณี “สิงห์” ก้าวข้ามตำนานการผูกขาดราว 80 ปีมาแล้วกว่า 3 ทศวรรษ

ขณะที่ “ช้าง” ก้าวจากผู้ผูกขาดสุรามาเป็น “ผู้ท้าทาย” วงการเบียร์ จากนั้นตัดสินใจเด็ดเดี่ยวสู่โลกภายนอกราว 2 ทศวรรษแล้ว

จนถึงวันนี้ทั้งสองก้าวข้ามบริบทนั้น มามี “ที่ยืน” ในโลกกว้างขึ้น

เชื่อว่าผู้บริหารรุ่นปัจจุบัน ทั้ง “สิงห์”และ “ช้าง” มีมุมมองโลก มุมมองธุรกิจที่กว้างขึ้น ย่อมเข้าใจดีว่า “หน่อ” ความคิด และปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย ว่าด้วยกระแส “สตาร์ตอัพ” ที่น่าสนใจ ไปจนถึงกระบวนการรังสรรค์ใหม่ “มรดกแห่งชุมชน” เป็น “สิ่งใหม่เล็กๆ” ที่จะเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว ไม่อาจขัดขวางได้

ที่สำคัญในกรณีนี้ “สิ่งใหม่เล็กๆ” เหล่านั้น ไม่มีบทบาทคุกคาม “ขาใหญ่” อย่างปลูกฝังความกลัวเกินเหตุเช่นที่ผ่านมา หากเป็นสีสัน เป็นกระบวนการทดลอง ค้นคิด และการสร้างสรรค์ เพื่ออนาคต มักเป็นจุดตั้งต้นโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาพใหญ่

หรือแม้กระทั่ง เป็นโอกาสในการหลอมรวมเป็นพัฒนาการอีกขั้นของ “ขาใหญ่” •