วิกฤตปัญหาเชื้อเพลิง รัฐไล่บี้ ‘ค่าการกลั่น’ บีบบริษัทน้ำมัน-อุ้มดีเซล/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

วิกฤตปัญหาเชื้อเพลิง

รัฐไล่บี้ ‘ค่าการกลั่น’

บีบบริษัทน้ำมัน-อุ้มดีเซล

หลังจากที่สหพันธ์การขนส่งทางบก ได้ “จุดพลุ” ให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบ “ค่าการกลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นของคนไทยและต่างชาติ ที่พุ่งสูงขึ้นกว่าค่าการกลั่นตามปกติ

ตามมาด้วยข้อเสนอของพรรคกล้า ที่ว่า “คนไทยโดนปล้น! ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ด้วยการเปรียบเทียบค่าการกลั่นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 เทียบกับวันเดียวกันนี้ของปี 2564 และปี 2565 จากค่าการกลั่น 0.88 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้นมาเป็น 8.56 บาท/ลิตร

พร้อมกับเสนอให้มีการกำหนด “เพดานค่าการกลั่น” รวมไปถึงการเรียกเก็บ “ภาษีลาภลอย” หรือ Windfall tax โดยเห็นว่า กำไรที่เกิดขึ้นจากค่าการกลั่นนั้น เป็นกำไรที่ลาภลอยมาให้ผู้ประกอบการบริษัทน้ำมัน

ในจังหวะเดียวกันกับข้อเรียกร้องให้เข้าไปตรวจสอบ “กำไร” ที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าการกลั่นดังกล่าว สถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันภายประเทศกำลังย่ำแย่ลง จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งทะยานมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ไม่มีวันใดที่ราคาน้ำมันดิบต่ำกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล

ส่งผลให้ราคาน้ำมันภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดีเซล ปรับตัวสูงขึ้นจนเกือบทะลุกรอบ 35 บาท/ลิตร ที่ ครม.มีมติเป็นคำมั่นสัญญาที่ว่า ส่วนที่เกินจากราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตรนั้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง

แต่การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันติดลบถึง 91,089 ล้านบาท หรือใกล้จะทะลุ 100,000 ล้านบาทในไม่เกินสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

 

การติดลบดังกล่าวสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่า กองทุนน้ำมันมีแต่ “เงินไหลออก” ขณะที่ “เงินไหลเข้า” จากการเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันนั้น “แทบจะไม่มี” อันเนื่องมาจาก “ยกเว้น” การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อช่วยไม่ให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศพุ่งสูงเกินไปมาอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการบริหารจัดการความมั่นคงด้านพลังงานตกอยู่ในภาวะ “วิกฤตจากการขาดสภาพคล่อง” ความจริงภาวะนี้เป็นที่ทราบกันดีมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แล้วว่า ช้าเร็วก็ต้องเกิดขึ้นในเมื่อกองทุนมีแต่รายจ่าย แต่ไม่มีรายรับ

มีข้อสั่งการจากรัฐบาล ให้กองทุนน้ำมันฯ หาแหล่งเงินกู้ใหม่อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทเพื่อนำไปช่วยสภาพคล่องของกองทุน ทว่า กลับปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีสถาบันการเงินของภาคเอกชนแห่งใดจะเข้ามาปล่อยกู้ “ยกเว้น” สถาบันการเงินของรัฐอย่างแบงก์กรุงไทย หรือแบงก์ออมสิน

แต่ก็ติดขัดในข้อสงสัยที่ว่า หากปล่อยกู้ไปแล้ว กองทุนน้ำมันฯ จะมีความสามารถในการชำระเงินกู้คืนได้ทันเวลาที่ตกลงกันไว้ได้หรือไม่

หมายความว่า ธนาคารมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญ หรือการผิดนัดชำระหนี้ จากกองทุนน้ำมันฯ ประกอบกับรัฐบาลเองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับกองทุนเหมือนในอดีตได้

จากสถานการณ์ที่บีบรัดรัฐบาลในเรื่องของการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 35 บาท ปัญหาการขาดสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ที่น่าจะ “หมดสภาพ” ไม่เกินสิ้นเดือนมิถุนายนตาม “เส้นตาย” หากไม่มีแหล่งเงินใหม่เข้ามา ประกอบกับรัฐบาลในขณะนี้แทบจะไม่เหลือ “เครื่องมือ” ที่จะเข้าไปช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลได้อีก

หลังจากที่ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงไปถึง 5 บาท/ลิตรเพื่อนำเงินจากภาษีที่ลดลงไป “โปะต่อชีวิต” ให้กับกองทุนน้ำมันฯ มาก่อนหน้านี้ไปแล้ว

 

ดูเหมือนว่า ข้อเสนอในเรื่องของการปรับลด “ค่าการกลั่น” ขึ้นมาจึงเปรียบเสมือน “ฟางเส้นเล็กๆ” ที่อาจจะช่วย “ต่ออายุ” การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลผ่านทางกลไกที่ใกล้จะหมดสภาพอย่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกไปได้อีกนิดหนึ่ง ทว่า การจะเข้าไปกำหนดเพดานค่าการกลั่น หรือการเรียกเก็บภาษี Windfall Tax หรือทำอย่างไรก็ได้ที่จะนำค่าการกลั่นนั้นมาช่วยลดราคาน้ำมันดีเซลในประเทศตามข้อเสนอของทั้งพรรคกล้า และสหพันธ์การขนส่งทางบก ข้างต้น “กลับไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่อยากจะทำขึ้นมาทันที”

ทั้งนี้ จากนิยาม “ค่าการกลั่น” ของสำนักงานแผนและนโยบายพลังงาน ให้ความหมายไว้ว่า เป็น “กำไรเบื้องต้น” ของโรงกลั่นน้ำมันก่อนที่จะหักค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยกำไรนี้จะยึดโยงอยู่กับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ที่กลั่นได้

ดังนั้น ค่าการกลั่น (Gross Refining Margin หรือ GRM) ยิ่งสูงขึ้นเท่าใดก็หมายถึงความสามารถในการทำกำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นนั้นก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย จนกลายเป็นกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามา “ควบคุม” ด้วยการบริหารจัดการค่าการกลั่นของแต่ละโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งไม่เท่ากัน ด้วยการนำ “ส่วนต่างกำไรที่สูงกว่าปรกติ” นั้น มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่พุ่งสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าการกลั่น

ด้วยข้อเท็จจริงจากการคำนวณค่าการกลั่นเบื้องต้น ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม 2565) พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ 6 แห่ง ได้แก่ TOP กำลังการผลิต 275,000 บาร์เรล/วัน, IRPC กำลังการผลิต 215,000 บาร์เรล/วัน, PTTGC กำลังการผลิต 280,000 บาร์เรล/วัน, BCP กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรล/วัน, ESSO กำลังการผลิต 177,000 บาร์เรล/วัน และ SPRC 175,000 บาร์เรล/วัน เฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม 2565) อยู่ที่ 3.27 บาท/ลิตร

โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวพบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.20 บาท/ลิตร (คำนวณจากส่วนต่างของราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนปริมาณการผลิตของประเทศกับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 3 แหล่งคือ ดูไบ-โอมาน-ทาปิส) ซึ่ง “สูงกว่า” ค่าการกลั่นในภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เคยอยู่ระหว่าง 2-2.50 บาท/ลิตรเท่านั้น

 

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาแสดงท่าทีว่า ค่าการกลั่นที่คำนวณได้นั้นยังไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงไม่ใช่กำไรสุทธิที่แท้จริง สะท้อนให้เห็นว่า โรงกลั่นน้ำมันไม่ได้มีกำไรสุทธิมากมายอย่างที่กล่าวกัน ท่ามกลางข้อเท็จจริงจากการรายงานผลประกอบการของโรงกลั่นน้ำมันส่วนใหญ่ในไตรมาส 1/2565 ที่ว่า ต่างมีผลประกอบการ “กำไร” มากน้อยลดหลั่นกันไปตามความสามารถในการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัท

สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเป็นรายวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดีเซลที่ราคาลิตรละ 35 บาท แก๊สโซฮอล์ 91-95 ลิตรละ 44-45 บาท และเบนซิน 95 ลิตรละ 52.56 บาท กับการตั้งความหวังที่จะให้รัฐบาล “อุดหนุน” ราคาน้ำมันด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป (ราคา ณ หน้าโรงกลั่นใกล้จะทะลุ 40 บาท/ลิตร)

ส่งผลให้รัฐบาลมีทางเลือกไม่มากนัก หาก “จำเป็น” ต้องใช้กลไกในการบริหารจัดการราคาน้ำมันผ่านทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่กองทุนน้ำมันฯ เองก็ยังไม่สามารถกู้เงินหรือหาเงินจากแหล่งใหม่เข้ามาเสริมสภาพคล่องได้

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจต่อคำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลกระตือรือร้นที่จะเข้าไป “จัดการ” กับการ “รีด” ส่วนต่างของกำไรที่สูงเกินปกติของค่าการกลั่น เพื่อนำเงินเข้ามา “โปะ” ต่ออายุกองทุนน้ำมัน ทั้งๆ ที่รู้ทั้งรู้ว่า การดำเนินการดังกล่าวสุ่มเสี่ยงกับการไม่มีกฎหมายรองรับ หรือขัดกับสัญญาการตั้งโรงกลั่นน้ำมันต่างชาติในอดีต

เป็นความเสี่ยงในเมื่อทุกหนทางที่จะทำการ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดูจะตีบตันกันไปหมด