เปิดยุทธการ ‘เด็ด-สอย’ 1 หัวกับ 10 นั่งร้าน ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย ฝ่ายค้านปิดเกม ‘3 ป.’?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เปิดยุทธการ ‘เด็ด-สอย’

1 หัวกับ 10 นั่งร้าน

ศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย

ฝ่ายค้านปิดเกม ‘3 ป.’?

 

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอบนี้ฝ่ายค้านวางเป้าหมายเด่นชัด ภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน”

พุ่งไปยัง “3 ป.” หัวใจและเส้นเลือดใหญ่รัฐบาล

ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

พร้อมชำแหละเปิดแผล 8 รัฐมนตรีแกนนำ 3 พรรครัฐบาล พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์

“หัว” คือ พล.อ.ประยุทธ์ กับอีก 10 รัฐมนตรีที่เสมือน “นั่งร้าน”

ยุทธการเด็ด 1 หัว สอย 10 นั่งร้าน จึงเป็นหมากตาสุดท้ายของฝ่ายค้าน

11 รายชื่อที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แยกเป็นรัฐมนตรีโควต้าพลังประชารัฐ 6 ราย นอกจาก 3 ป. ยังประกอบด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

ภูมิใจไทย 2 คน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ประชาธิปัตย์ 3 คน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

หากดูจากการทำงานที่ผ่านมาทั้ง 11 รายชื่อที่โดนล็อกเป้า ไม่อยู่เหนือความคาดหมายเท่าใดนัก

 

สําหรับเนื้อหาในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1+10 รัฐมนตรี

เริ่มจาก “หัว” ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดเวลา 8 ปีที่บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้ประเทศได้ ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีให้ประชาชน

ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นต้นตอทำให้ปัญหาที่มีอยู่ซับซ้อนขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง อาชญากรรม ยาเสพติด ทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในยุค พล.อ.ประยุทธ์ มีสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์และแพร่กระจายไปทุกอณูของสังคม

เป็นผลจาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ขาดภาวะความเป็นผู้นำที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้นำที่พิการทางความคิด ยึดติดแต่อำนาจ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว

ปล่อยปละละเลยให้บุคคลแวดล้อมและพวกพ้องแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชน

การใช้จ่ายงบประมาณมิได้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง มุ่งก่อหนี้เพื่อแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมือง โดยไม่สนใจต่อภาระหนี้สาธารณะและหนี้สินต่อหัวของประชาชน

เป็นยุคก่อหนี้มหาศาลเพื่อนำมาผลาญโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ

ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มุ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนและปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชน ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธที่ไม่มีความจำเป็นต่อภารกิจประเทศในภาวะที่ประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจรุนแรง

ผลการบริหารงานทำให้ประเทศถอยหลัง เศรษฐกิจประเทศดิ่งเหว ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วยิ่งยากจนลง

 

ส่วนของ “นั่งร้าน” ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร ระบุข้อกล่าวหา จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่มีความซื่อสัตย์ มุ่งสร้างความมั่งคั่งในตำแหน่งหน้าที่

รู้เห็นเป็นใจให้ปล่อยปละละเลยให้ทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไร้จิตสำนึกและไร้ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่

ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กลับทำตนเป็นแบบอย่างหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อพบเห็นการทุจริตกลับปกป้องและไม่แก้ไข

ญัตติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ ระบุข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตของหน่วยงานในกำกับดูแลอย่างกว้างขวาง เมื่อรู้ว่ามีการทุจริตกลับไม่ระงับยับยั้ง

แต่กลับรู้เห็นยินยอมให้กระทำการดังกล่าวจนทำให้ทุจริตเป็นเรื่องปกติ ทำให้ระบบราชการและประเทศเสียหาย

นายชัยวุฒิ ถูกฝ่ายค้านกล่าวหา บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ปล่อยปละละเลยให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทำลายระบบเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยไม่สนใจป้องกันและปราบปราม

ยังมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย มีความประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นายสันติ ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้ทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ในหน่วยงานที่ดูแล เพื่อเอื้อประโยชน์กับเอกชน ไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ประเทศ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นายสุชาติ ซึ่งถูกฝ่ายค้านใส่ชื่อในญัตตินาทีสุดท้าย ด้วยข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ปล่อยปะละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ

เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ในการใช้ประโยชน์จากแรงงานโดยผิดกฎหมาย

 

ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอนุทิน ฝ่ายค้านระบุข้อกล่าวหา ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้จิตสำนึกการเป็นนักการเมืองที่ดี มีพฤติกรรมทำลายระบบการเมืองด้วยการรู้เห็นเป็นใจ

สนับสนุนการใช้เงินเพื่อดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองตนเอง

โดยไม่คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและคุณธรรมทางการเมือง ทำให้ระบบการเมืองถอยหลังไปยุคการใช้เงินและผลประโยชน์สร้างฐานอำนาจทางการเมือง อันถือเป็นธุรกิจการเมืองที่ทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตย เปลี่ยนจากระบบคุณธรรมนำการเมืองไปใช้เงินผลประโยชน์นำการเมือง

ใช้งบฯ เกินความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ เกิดความเสียหายแก่งบของประเทศ มุ่งเอื้อประโยชน์ให้เพื่อนพ้องบริวารแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งและหน้าที่ของตน จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ญัตติอภิปรายนายศักดิ์สยาม กล่าวหาใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ดำเนินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าด้านการใช้งบฯ ใช้งบฯ มากโดยไม่ก่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสาธารณะ

ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการโดยทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงคมนาคม เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นและพรรคของตนที่สังกัด

มีผลประโยชน์ทับซ้อนและกระทำการขัดกันแห่งประโยชน์ จงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ

 

ฝั่งรัฐมนตรีประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมฉ้อฉล รู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยให้ทุจริตในองค์กรหรือหน่วยงานในกำกับดูแล สร้างความเสียหายแก่ราชการ

ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง ละเลยไม่ติดตามแก้ไขปัญหาทุจริตเพื่อติดตามให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

ล้มเหลวและไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงในกำกับดูแล ปล่อยให้ราคาสินค้าสูงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจภาคเอกชน

ด้านนายจุติ ถูกกล่าวหาว่าล้มเหลว ไร้ความรู้ความสามารถในการดูแลงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยให้ประชาชนขาดไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ

การใช้งบฯ กลับมุ่งแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนตกต่ำ ขาดโอกาสพัฒนา

คนสุดท้าย นายนิพนธ์ ถูกกล่าวหาไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย

ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปล่อยปละละเลย รู้เห็น สนับสนุนให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ภายในหน่วยงานในกำกับ

ไม่ดำเนินการตรวจสอบ ระงับยับยั้งและป้องกันการทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ

 

มีการวิเคราะห์ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายนี้ ฝ่ายค้านอาจเจออุปสรรคเงื่อนไขเวลา

เนื่องจากรัฐสภายังมีร่างกฎหมายที่พิจารณาค้างอยู่ทั้งร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.ป.หรือร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ

ที่หวั่นเกรงฝ่ายรัฐบาลจะใช้เป็นเครื่องประวิงเวลาการระเบิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ประเด็นนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านประเมินว่า กฎหมายที่รัฐสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อาจพิจารณาอีก 2 สัปดาห์คือวันที่ 16-17 มิถุนายน และ 23-24 มิถุนายน

จากนั้นวันที่ 30 มิถุนายน-1 กรกฎาคม จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ

ส่วนกรอบเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจเชื่อว่าต้องไม่น้อยกว่า 4 วัน คาดว่าจะเป็นช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม หรือช่วงระหว่าง 18-22 กรกฎาคม

ถึงกระนั้นก็ตาม พรรคก้าวไกลยังคงมีความกังวลว่าฝ่ายรัฐบาลอาจดึงเกมยื้อเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ และร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง เพื่อซื้อเวลาต่ออายุของรัฐบาลออกไป

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อกังวลนี้ว่า เนื่องจากรัฐบาลเป็นฝ่ายกำหนดวันเวลาอภิปราย ขณะนี้ระยะเวลาต่างพันกันทั้งการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่ไม่รู้จะเสร็จสิ้นเมื่อใด

จึงเป็นห่วงถ้าจังหวะเวลาที่กฎหมายเคลื่อนออกไปจะมีผลต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ที่สำคัญหากเกิดกรณีรัฐบาลยุบสภา หรือถูกโหวตไม่ไว้วางใจโดยที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ จะทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมืองทันที

แม้หลายฝ่ายมองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งสุดท้ายนี้ จำนวนมือ ส.ส.ของฝ่ายค้านที่มีอยู่ไม่สามารถเด็ดหัว และสอยนั่งร้านให้พังทลายลงได้ เห็นได้จากการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 วาระแรกที่เสียงรัฐบาลทิ้งห่างฝ่ายค้านมากกว่า 80 เสียง

แต่นั่นเป็นสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านคาดการณ์ไว้แล้ว แล้วจุดมุ่งหมายในสงครามครั้งสุดท้ายที่แท้จริงของฝ่ายค้านคืออะไร

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่นอน อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 23 มีนาคม 2566 แต่เรามั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งเร็วกว่านั้น

การอภิปรายครั้งนี้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ 2 อย่าง คือ อาศัยมือในสภาเด็ดหัว สอยนั่งร้าน และคาดหวังในสนามเลือกตั้ง เราจะตรวจสอบนั่งร้านเพื่อให้ประชาชนชี้ขาดวินิจฉัย

เรามั่นใจในศรัทธาของประชาชน ถ้าไม่ตายในสภาก็ไปตายในการเลือกตั้ง