สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น

 

ผมได้รับหนังสือของคุณหนุ่มเมืองจันท์ หรือคุณตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ ซึ่งเป็นผลงานเล่มล่าของเขา ที่ชื่อ “สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น” เป็นน้ำใจไมตรีจากผู้เขียนที่มีมาให้ตลอด

คาดว่าคงอยากให้อ่าน และช่วยเขียนถึงให้ด้วย อันหลังนี่คิดเอาเองนะครับ แฮะๆ

อย่างแรกที่จะเขียนถึงคือ อิจฉาครับ คนอะไร ขยันสร้างงานจนหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจของเขา เดินทางมาถึงลำดับที่ 34 แล้ว เรื่องสั้นชุดว้าวุ่นของผมยังต้วมเตี้ยมอยู่ลำดับที่ 2 อยู่เลย ช่างไม่เกรงใจกันบ้าง

เวลาอ่านหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดฯ ของเขาทีไร ก็จะได้ “พลัง” กลับมาทุกที เพราะหนังสือของเขาจัดเป็นเรื่องแนวบวก อ่านแล้วได้มุมมองดีๆ ได้วิธีคิดใหม่ๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์หลากหลาย และที่สำคัญได้แรงบันดาลใจก้อนโตๆ เสมอ

จากทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง จากที่ได้แต่เคยมอง ตามชื่อหนังสือเลย

ขออนุญาตยกมาให้อ่านกันเป็นบางเรื่องนะครับ

 

เรื่องนี้ผมชอบมาก คือ เรื่องของ “เจ๊จง” ที่ขายหมูทอด เจ๊จงโด่งดังเป็นที่รู้จักขึ้นมาก็ในช่วงโควิดอาละวาด เพราะข้าวหมูทอดของเจ๊ ที่ขายราคาไม่แพงแต่ปริมาณคับกล่อง ได้ช่วยชีวิตผู้คนในยุคโควิดมาแล้ว

ใครที่เคยอ่าน หรือเห็นเจ๊จงในข่าว คงจะรับรู้ถึงศักยภาพหมูทอดของแกได้เป็นอย่างดี แต่ที่เราไม่เห็นคือ เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ข้างหลังหมูทอดนั่น ที่ทำให้เจ๊จงเป็นขวัญใจคนจนจริงๆ

ช่วงโควิดมีคนตกงานเยอะ เงินทุนจะลุกขึ้นมาทำมาหากินก็ไม่มี แกจึงประกาศให้คนมารับข้าวหมูทอดของแกไปขายก่อนได้โดยยังไม่ต้องจ่ายเงิน พอขายได้แล้วค่อยมาชำระทีหลัง

แกบอกว่าคนเหล่านี้ลำบาก เงินทุนที่จะมาจ่ายให้เราก็ไม่มี ยังงี้ก็จะลำบากไปใหญ่

กำไรของข้าวหมูทอดตกกล่องละ 7 บาท หากใครขยันขายหน่อย สัก 100 กล่องก็ได้แล้ว 700 บาท ต่อชีวิตได้อีกวันสองวันเลย

ถามว่ามีคนเคยเบี้ยวไม่เอาเงินมาชำระคืนไหม ตอบเลยว่ามี แต่เป็นส่วนน้อย

เรื่องนี้แสดงถึงสิ่งที่เจ๊จงเห็นคือ ปัญหาด้านการเงินของคนเหล่านี้ และสิ่งที่เราได้เห็นคือ “น้ำใจ” ของเจ๊แก

ก่อนหน้าจะมาขายข้าวหมูทอด แกขายข้าวราดแกงมาก่อน และข้าวราดแกงของแกมีจุดขายคือ ข้าวไม่อั้น เติมเท่าไหร่ก็ได้ เพราะเจ๊เห็นว่าลูกค้าของแกเป็นคนใช้แรงงานเยอะ ต้องได้กินอิ่มๆ เลยให้ตักข้าวเพิ่มได้จนกว่าจะอิ่ม แถมยังมีกล้วยน้ำว้าและผักให้กินฟรีอีกด้วย

หนุ่มเมืองจันท์ตั้งชื่อตอนนี้ว่า “เจ๊จง” = “จริงใจ”

 

มีอีกเรื่องหนึ่งที่วนเวียนอยู่กับเรื่องข้าวเหมือนกัน ชื่อตอน “ข้าวพอไหม?”

เจ้าของเรื่องเป็นร้านขายข้าวแกงในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีชื่อว่า “ร้านน้องแอม” แต่คนมักเรียกแบบมีสร้อยว่า ร้านน้องแอม…ข้าวพอไหม

เพราะเป็นคำติดปากของ “พี่หญิง” เจ้าของร้านที่คอยยืนตักอาหารให้นักศึกษาที่มาพึ่งท้องทุกวัน

พี่หญิงบอกว่า เป็นสิ่งที่ทำสืบทอดมาตั้งแต่ที่แม่ดูแลร้าน แม่จะมองนักศึกษาเหมือนลูกหลาน ไม่ใช่ลูกค้า อยากให้ลูกหลานกินข้าวอิ่มๆ

ลูกค้าบางคนเป็นวินมอเตอร์ไซค์ ทั้งเงินน้อยและต้องใช้แรงเยอะ ข้าวที่เติมให้จนพูนจานจะทำให้เขาอิ่มท้อง มีแรงทำงานได้

นอกจากนั้น ยังมีการให้ทุนการศึกษาแก่น้องบางคนด้วย แต่ไม่ได้ให้เป็นเงิน แต่อนุญาตให้มาฝากท้องที่ร้านนี้ได้ฟรีทุกวัน ทำให้น้องคนนั้นมีความสุข หมดกังวลจากการที่ไม่มีเงินกินข้าวได้ มีกำลังใจและมีแรงร่ำเรียนหนังสือ

เรื่องเริ่มต้นจากการที่พี่หญิงสังเกตเห็นน้องคนหนึ่งสั่งข้าวกินกับหมูยอแค่ชิ้นเดียวที่ไม่น่าจะอิ่ม จึงเข้าไปคุย ถึงได้รู้ว่าน้องไม่มีตังค์กินข้าว จึงเกิดเป็นทุนการศึกษาที่ว่าขึ้นมา ซึ่งน้องๆ ที่ได้รับทุนก็สามารถเรียนจนจบได้ผ่านการฝากท้องไว้ที่ร้านน้องแอมนี้

เป็นผลจากการที่ “เห็น” ไม่ใช่แค่ “มอง”

 

“สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น” ผลงานของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ สำนักพิมพ์มติชน

 

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ของ” ที่ขายอยู่ใน 7-11

ใครก็รู้ว่าใน 7-11 มีของสนองต่อความต้องการของผู้คนแทบจะทุกอย่าง แต่มีอยู่สองอย่างที่จะเขียนถึง ซึ่งเป็นสินค้าธรรมดาที่มาจากการ “พลิกวิธีคิด”

อย่างแรกเลยคือ “แบรนด์” ซุปไก่ ที่เรารู้จักกันดี ใครๆ ก็รู้ว่าคนนิยมซื้อแบรนด์ไปเป็นของเยี่ยมผู้ป่วย หรือเอาไปให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งก็จะต้องซื้อแบบยกกระเช้า ไม่มีที่จะแยกขายเป็นขวดๆ ทั้งที่บางทีคนเราก็อยากกินแบบขวดเดี่ยวๆ ซื้อขวดเดียวก็เปิดฝากินได้แล้ว

แต่ที่ 7-11 มีครับ เหตุเพราะผู้บริหารของ 7-11 เป็นคนที่ชอบกินแบรนด์ตอนเช้ามาก ยิ่งแช่ให้เย็นๆ ละก็ ของโปรดเลย โดยเฉพาะในวันที่เมื่อคืนนอนดึก

ถ้าลืมกินจากที่บ้าน มาหาซื้อกินข้างนอกก็จะไม่มีขาย เลยลองให้ลูกน้องไปเอาแบรนด์มาวางแช่เย็นขายดู ปรากฏว่ามีคนนิยมซื้อกินไม่น้อย นั่นจึงเป็นคำตอบให้กับช่องทางใหม่ของการวางขายของแบรนด์

อีกอย่างหนึ่งก็คือ “กล้วยหอม” มาจากวิธีคิดแบบเดียวกัน จริงๆ กล้วยหอมหาซื้อไม่ยาก แต่ที่มีวางขายก็จะเป็นหวี ทีนี้คนเราบางทีอยากกินแค่ลูกสองลูก ซื้อมาเป็นหวีก็กินไม่ทัน เน่าเสียก่อนก็มี นี่คือช่องว่างที่มองเห็น

7-11 เลยเอากล้วยหอมเป็นลูกๆ มาวางขาย คนเลยสะดวกที่จะซื้อกิน กลายเป็นของขายดีขึ้นมาเลย

เป็นการค้นพบสินค้าขายดีไอเท็มใหม่ โดยเป็นสินค้าเดิมที่เราคุ้นเคย นี่ก็เป็นการพลิกวิธีคิดอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

 

นี่แค่ตัวอย่างเป็นน้ำจิ้มนะครับ มีเรื่องดีๆ รอให้คนที่สนใจได้อ่านอีกหลายเรื่อง และด้วยสำนวนที่อ่านง่าย มีอารมณ์ขันของผู้เขียน ทำให้อ่านเร็วรวดเดียวจบได้เลย

อีกอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับชื่อหนังสือ นั่นก็คือ “ภาพประกอบ”

หนุ่มเมืองจันท์เขาประทับใจภาพถ่ายจากฝีมือของนักถ่ายภาพสมัครเล่นคนหนึ่ง ชื่อว่า “พิชัย แก้ววิชิต” เป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ชอบถ่ายภาพมาก ไปไหนมาไหนจะพกกล้องติดตัวตลอด พอเห็นอะไรที่เขาเห็นว่าน่าสนใจหรือสวยดีก็ถ่ายเก็บเอาไว้

ซึ่งภาพส่วนใหญ่ของวิชัยก็เป็นภาพบ้านเมืองสองข้างทางนั่นเอง ที่เราๆ ท่านๆ เคยขับรถหรือเดินผ่าน เพียงแต่เรามองเป็นของธรรมดาชินตาจึงไม่ได้สนใจอะไร แต่วิชิตเห็นครับ เขาไม่ได้ใช้ตามอง แต่ใช้ใจมอง จึงได้เห็นมุมมองแปลกๆ และสวยงามของสิ่งตรงหน้าที่คุ้นเคย

ในหนังสือเล่มนี้ มีอีกอย่างหนึ่งที่ผมมองเจอ แต่ไม่รู้สึกว่าจะเห็นคล้อยตามไปด้วยเลย

มันอยู่ในหน้าเกือบสุดท้ายของเล่ม เป็นคำโปรยประกอบภาพปกหนังสือทั้งหมดของหนุ่มเมืองจันท์ผู้เขียน ที่เขียนว่า

“คู่มือบำบัดความเครียด ย่อยเรื่องธุรกิจให้อ่านสนุก และเติมพลังความคิดสร้างสรรค์ จากนักเขียนอารมณ์ดีที่หนุ่มตลอดกาล”

ที่ผมไม่เห็นคือ “หนุ่มตลอดกาล” ยังไงเหรอ จะบอกว่าหนุ่มเพราะนามปากกาหนุ่มเมืองจันท์ก็ใช่ที่

และถ้าบอกว่า หนุ่มจากภาพปรากฏของสังขาร ก็จะยิ่งเถียงใหญ่ว่า ไม่จริ๊ง ไม่จริง

เป็นสิ่งที่เคยมอง และไม่เคยเห็นเลยล่ะตุ้ม อย่าว่ากันนะ

ขอโทษที…แฮะ แฮะ •