ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
ปูตินกำลังจะทำศึกยูเครนครบสี่เดือนโดยยังไม่สามารถยึดยูเครนได้อย่างที่คาดคิดกัน
ยิ่งกว่านั้นคือมีสัญญาณหลายอย่างชี้ว่าศึกยูเครนจะยืดเยื้อเป็นสงครามที่กินเวลานานขึ้นเรื่อยๆ
เหมือนสงครามใหญ่ครั้งล่าสุดในยุโรปอย่างบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาที่กินระยะเวลากว่า 3 ปีกว่าจะยุติลง
จริงอยู่ว่ารัสเซียโจมตียูเครนอย่างหนักตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา
แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันว่ารัสเซียประสบความสำเร็จในการยึดยูเครนน้อยกว่ากำลังพลและอาวุธที่สูญเสียไปหลายเท่า ถึงแม้จะไม่มีใครมีตัวเลขว่าทหารรัสเซียตายในยูเครนไปจริงๆ เท่าไรก็ตาม
กระทรวงกลาโหมของอังกฤษอ้างว่าทหารรัสเซียตายขณะสู้รบ (KIA) จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ราว 15,000 ราย และถึงแม้ตัวเลขนี้จะดูเยอะ แต่ก็น้อยกว่าเกือบหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกระทรวงกลาโหมยูเครนที่แถลงวันเดียวกันว่าทหารรัสเซียตายขณะสู้รบไปแล้วราว 31,050 ราย ในวันที่ 6 มิถุนายน
รัสเซียยืนยันตลอดว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะสงครามยูเครน แต่ถ้ารัสเซียมีศักยภาพจะเป็นผู้ชนะจริงๆ ตัวเลขทหารรัสเซียที่ตายในสงครามควรจะน้อยมากจนไม่มีความจำเป็นต้องปกปิด
แต่ความจริงคือรัสเซียแถลงตัวเลขทหารตายครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม โดยระบุว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,351 คน
ขณะที่ยูเครนเปิดเผยจำนวนทหารรัสเซียว่าตายมากจนเหลือเชื่อ รัสเซียก็ปกปิดยอดทหารที่ตายมากจนมีพิรุธ
ตัวเลขที่สื่ออิสระในรัสเซียจริงๆ อย่าง Moscow Times และ IStories รายงานคือทหารรัสเซียตายราว 3,043 คน จากการตรวจสอบข้อมูลในโซเชียล, ในข่าว และการยืนยันของครอบครัว
ถ้าเชื่อตัวเลขกลาโหมยูเครนว่าทหารรัสเซียตายกว่าสามหมื่นคน ก็เท่ากับว่ารัสเซียตายเฉลี่ยเดือนละหมื่นจนการบุกยูเครนไม่คุ้มแน่ๆ อย่างน้อยก็ในสายตาคนปกติ
แต่ต่อให้เชื่อตัวเลขของสี่ออิสระรัสเซียอย่างมอสโกไทม์ส จำนวยทหารรัสเซียตายสามเดือนกว่าสามพันคนก็เป็นตัวเลขที่มากอยู่ดี
จริงอยู่ว่าทั้งรัสเซียและยูเครนล้วนสูญเสียจากสงครามนี้เหมือนกัน แต่ยูเครนคือผู้ปกป้องประเทศจากรัสเซียผู้รุกราน ขณะที่รัสเซียคือผู้รุกรานที่หลายฝ่ายเชื่อว่าพร้อมจะสูญเสียกำลังพลได้ไม่จำกัด โอกาสที่สงครามยูเครนจะยุติลงในเวลาอันใกล้จึงไม่มีเลย
ไม่มีใครตอบได้ชัดๆ ว่าแนวโน้มของสงครามยูเครนจะคลี่คลายไปอย่างไร
นาโตซึ่งเคยทำสงครามใหญ่ในยุโรปในกรณีบอสเนียช่วงทศวรรษ 1990 ระบุว่าสงครามยูเครนคือสงครามยืดเยื้อแน่ๆ
ขณะเลขาธิการนาโตพูดชัดเจนว่าสงครามยูเครนจะกลายเป็น “สงครามทอนกำลัง” (Attrition Warfare)
กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด “สงครามทอนกำลัง” คือสงครามที่ฝ่ายหนึ่งดำเนินการเพื่อบั่นทอนกำลังฝ่ายตรงข้ามจนยอมแพ้หรือถอนทัพไปในที่สุด
หลายครั้งประเทศที่เสียเปรียบมักรบแบบนี้เพื่อให้ฝ่ายที่ได้เปรียบอ่อนแอจนสถานการณ์สู้รบกลับเป็นตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น รัสเซียชนะนโปเลียนปี 1812
เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น ควรระบุด้วยว่า “สงครามทอนกำลัง” มีรูปแบบทั้งที่เป็นการรบเต็มรูปแบบ, สงครามกลางเมือง, การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ, การตัดเสบียง ฯลฯ จนทำให้ฝ่ายที่ถูกโจมตีทนอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ต่อไปไม่ไหว หรือไม่ก็คืออ่อนแอลงจนตัดสินใจยอมจำนน
หนึ่งในหัวใจของสงครามแบบทอนกำลังคือการทำให้ฝ่ายหนึ่งอยู่ในสงครามโดยไม่มีความคืบหน้าทางยุทธศาสตร์เลย ทุกวินาทีที่ผ่านไปจึงเป็นความสูญเสียที่ไม่ได้อะไรกลับมา หรือไม่อย่างนั้นก็ได้น้อยมากจนการอยู่ในสงครามอาจไม่คุ้มเมื่อเทียบกับการออกไปจากสงคราม
สี่เดือนของสงครามยูเครนเป็นบทพิสูจน์ว่ายูเครนต้านทานรัสเซียได้แข็งแกร่ง เพราะขณะที่ปูตินเชื่อว่ากองทัพรัสเซียจะบุกถึงกรุงเคียฟใน 2-3 วัน จนไม่มีการเตรียมพร้อมทำศึกระยะยาว
ยูเครนกลับต่อสู้กับผู้รุกรานได้นานจนฉากทัศน์สงครามกลายเป็นสงครามยืดเยื้อและสงครามทอนกำลัง
ยูเครนแข็งแกร่งในการต่อสู้ภาคพื้นดินกับรัสเซีย และถึงแม้ทหารรัสเซียจะฆ่าพลเรือนและทำลายเมืองต่างๆ ในยูเครนไปมหาศาล ยูเครนก็ปกป้องเมืองหลวงจนรัสเซียต้องถอนกำลังไปโจมตีเมืองชายแดนอื่นแทนในที่สุด ไม่ต้องพูดถึงการบุกแบบสายฟ้าแลบที่รัสเซียทำสำเร็จแค่เขตชายแดน
รัสเซียไม่เคยแถลงว่าเปลี่ยนแผนการรบเพราะอะไร แต่การต่อต้านของยูเครนต้องเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้แน่ๆ ต่อให้รัสเซียจะไม่อยากยอมรับความจริงข้อนี้ก็ตาม
ถ้าสาเหตุที่ยูเครนต้านรัสเซียสำเร็จในช่วงแรกมาจากความชำนาญพื้นที่และการตัดระบบส่งกำลังบำรุง สาเหตุที่ทำให้ยูเครนต้านรัสเซียได้ในช่วงหลังก็มาจากความสนับสนุนด้านอาวุธและเทคโนโลยีจำนวนมากจากนานาอารยประเทศอย่างสหรัฐ, เยอรมนี, สวีเดน, อังกฤษ, เช็ก ฯลฯ
แม้การส่งอาวุธให้ยูเครนจะไม่ใช่ความลับต่อไป แต่บทความในนิวยอร์กไทม์สวันที่ 4 พฤษภาคม เปิดเผยว่าสหรัฐให้ความช่วยเหลือด้านข่าวกรองเรื่องที่ตั้งกองบัญชาการทหารและค่ายทหาร ส่วนยูเครนสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้กับข่าวกรองตนเองจนสังหารนายพลหรือโจมตีฐานทหารรัสเซียหลายกรณี
ล่าสุด สถานีโทรทัศน์รัสเซีย-1 ของรัฐบาลรัสเซียรายงานว่า พล.ต.โรมัน คูตูซอฟ ตายขณะต่อสู้ ส่วนโซเชียลมีเดียรัสเซียก็ระบุว่า พล.ท.โรมัน เบอร์นิคอฟ ผบ.กองพลที่ 29 ตายขณะสู้รบ
รัสเซียจึงมีนายทหารระดับนายพลตายอย่างต่ำ 4 เท่าที่รัสเซียแถลงยอมรับ หรืออาจ 12 ตามที่ยูเครนยืนยัน
ยูเครนรบรัสเซียในสมรภูมิต่างๆ บนยุทธศาสตร์การป้องกันตนเอง ขณะที่รัสเซียรุกรานยูเครนโดยขีปนาวุธและจรวดพิสัยไกลจากพื้นที่ซึ่งรัสเซียยึดครอง ความได้เปรียบของรัสเซียจึงมาจากการโจมตียูเครนในพื้นที่ซึ่งยูเครนไม่มีอาวุธโจมตีกลับได้ ยูเครนทำได้แค่การตั้งรับรัสเซียตลอดเวลา
ถึงยูเครนจะแข็งแกร่งไม่น้อยหน้ารัสเซียในการต่อสู้บนสนามรบ ยูเครนก็ไม่มีทางป้องกันตัวเองจากขีปนาวุธโจมตีระยะไกลของรัสเซียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่รัสเซียมียุทธศาสตร์ยึดยูเครนภาคตะวันออกเพื่อเป็นเส้นทางให้รัสเซียภาคตะวันตกผ่านไปออกทะเลดำที่ไครเมียได้ทันที
นอกจากการยึดยูเครนตะวันออกจะทำให้รัสเซียตะวันตกมีเส้นทางถึงทะลดำ ผลลัพธ์อีกข้อคือรัสเซียจะมีอิทธิพลเหนือทะเลแถบนั้นทั้งหมด เพราะยูเครนตะวันออกติดทะเลอาซอฟ ส่วนไครเมียติดทะเลดำ การครอบครองสองพื้นที่จึงทำให้รัสเซียครอบครองทะเลอาซอฟและทะเลดำโดยปริยาย
รัสเซียทำสงครามทอนกำลังยูเครนทั้งในสนามรบและในทางเศรษฐกิจ เพราะขณะที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธและจรวดโจมตียูเครนระยะไกล รัสเซียก็ปิดทะเลอาซอฟไม่ให้ยูเครนส่งออกธัญพืชไปขายในตลาดโลก และเป้าหมายของการกระทำแบบนี้คือทำให้ระบบเศรษฐกิจยูเครนพินาศโดยสิ้นเชิง
อาจมีผู้โต้แย้งว่าสหรัฐและสหภาพยุโรปก็ทำสงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย แต่บทความในวอชิงตันโพสต์อ้างแหล่งข่าวจากอภิมหาเศรษฐีรัสเซียที่ระบุว่าปูตินพร้อมสูญเสียทุกอย่างเพื่อเผด็จศึก
ยิ่งไปกว่านั้นคือปูตินเชื่อว่าสหรัฐและยุโรปจะได้รับผลกระทบจากสงครามเศรษฐกิจจนพ่ายแพ้ไปเอง
ไม่ต้องสงสัยว่าปูตินคือผู้นำประเทศที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ายอมรับความเสียหายทุกรูปแบบเพื่อชัยชนะทางทหาร
ความตายของทหารรัสเซียในสนามรบและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจึงมีผลต่อการตัดสินใจปูตินน้อยมาก
หรืออีกนัยคือปูตินพร้อมทำให้โลกเป็นนรกเพื่อชัยชนะของรัสเซีย
ยุทธวิธีของปูตินบีบให้โลกต้องยกระดับสงคราม หรือไม่อย่างนั้นก็คือดูยูเครนล่มสลายพร้อมกับการขยายแสนยานุภาพทางบกและทะเลของรัสเซียไม่สิ้นสุด
ล่าสุดสหรัฐจึงประกาศส่งจรวดหลายลำกล้องศักยภาพสูง (HMARS) ให้ยูเครน เช่นเดียวยุโรปประเทศอื่นๆ จะทยอยส่งจรวดพิสัยไกล
ทันทีที่ยูเครนได้อาวุธยิงระยะไกลจากนานาอารยประเทศ ยูเครนจะสามารถตอบโต้รัสเซียได้ไกลถึง 70 กิโลเมตร นั่นเท่ากับว่ารัสเซียจะมีโอกาสถูกยูเครนทำลายฐานยิงจรวดและขีปนาวุธต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในดินแดนรัสเซียมากขึ้น ผลก็คือความได้เปรียบด้านการรบของรัสเซียจะลดหายไปทันที
เยอรมนีเป็นประเทศที่ถูกจับตามองว่าไม่เต็มร้อยกับสหรัฐและยุโรปในการตอบโต้รัสเซีย แต่ท่าทีผู้นำเยอรมนีล่าสุดคือการยืนยันว่ารัสเซียถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ จนความสามารถทางทหารลดลงในที่สุด และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้จะทำให้ศึกยูเครนเปลี่ยนไป
ล่าสุดของล่าสุด ปูตินประกาศว่าพร้อมจะยกระดับโจมตียูเครน หากโลกมีการส่งจรวดพิสัยไกล และก็ได้กลับมายิงโจมตีเคียฟเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนไปแล้ว
ศึกยูเครนจึงเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่น่าจะทวีความรุนแรงและความโหดเหี้ยมกว่าเดิม โดยเฉพาะจากฝั่งรัสเซีย