‘ภาษีที่ดิน’ ป่วนไม่เลิก ‘ชัชชาติโมเดล’ มาแรง บี้ ‘แลนด์ลอร์ด’ แสร้งทำเกษตร/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

‘ภาษีที่ดิน’ ป่วนไม่เลิก

‘ชัชชาติโมเดล’ มาแรง

บี้ ‘แลนด์ลอร์ด’ แสร้งทำเกษตร

 

ประเดิมนั่งเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนที่ 17 ได้ไม่กี่วัน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ออกตะลุยงานเดินหน้า 214 นโยบายแบบรายวัน ไม่มีวันหยุด

หนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจและกำลังถูกพูดถึงในขณะนี้ คือ โครงการ “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” หลัง”ชัชชาติ”เปิดไอเดียชวนเอกชนหรือเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ร่วมกับ กทม.ทำเป็นสวนสาธารณะ โดยอาศัยกลไกลทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่องดเว้นการเสียภาษี

“ชัชชาติ”อธิบายว่า โครงการสวน 15 นาที ใกล้บ้าน อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปี เพราะต้องดูแลต้นไม้ และปรับปรุงพื้นที่ได้สมบูรณ์ วิธีนี้เป็นการแบ่งปันอย่างหนึ่ง จะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น โดยลำพัง กทม.ไม่ได้มีงบฯ มากมายจะซื้อที่ดินทำสวนสาธารณะกลางเมือง และเชื่อว่ามีอีกหลายที่ยังไม่ได้นำที่ดินไปทำอะไร ดังนั้น วิธีนี้อาจจะดีกว่าการนำที่ดินไปปลูกกล้วย แม้อาจจะไม่ได้ช่วยลดภาษีที่ดินมาก แต่ก็ขอเป็นทางเลือกและแรงจูงใจให้เอกชนนำที่ดินมามอบให้ กทม.

ไม่เพียงเท่านั้น “ชัชชาติ” ยังมีแนวคิดจะใช้อำนาจของ กทม.กำหนดอัตราประเมินภาษีที่ดินสำหรับพื้นที่ไม่เหมาะสมทำเกษตร และใช้ปลูกกล้วย

“กทม.มีอำนาจประเมินภาษี แต่ก็ต้องประเมินตามอำนาจตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกฎหมายระบุให้ท้องถิ่น หรือ กทม.สามารถระบุอัตราภาษีเองได้ แต่ไม่ให้เกินอัตราสูงสุดที่กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ ถ้า กทม.เห็นว่าพื้นที่ไหนไม่เหมาะทำเกษตร อาจใช้อำนาจตรงนี้ปรับให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ “ชัชชาติย้ำ

 

จาก “ไอเดีย” กทม. จึงจัดหารือรอบแรกกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงปัญหาอุปสรรคการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและช่องทางการปรับอัตราภาษีใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน

งานนี้ กทม.พุ่งเป้าที่ดินที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม หลังปัจจุบันแลนด์ลอร์ดนำที่ดินเปล่าร่วม 1.2 แสนแปลง แห่เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นเกษตรกรรมกันมากเพื่อให้จ่ายภาษีถูกลง

สำหรับอัตราภาษีใหม่นั้น กทม.อาจจะปรับไม่เท่ากับอัตราเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยที่ดินเกษตรกรรมอัตราเพดานไม่เกิน 0.15% บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3% ที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 1.2%

อีกทั้งจะขอความชัดเจน ไม่ใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีว่าที่ดินแบบไหนเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ที่อยู่อาศัยหรือที่ดินเกษตรกรรม โดยต้องกำหนดให้ชัดและยึดตามสีผังเมือง

เช่น ที่ดินเกษตรกรรมต้องพัฒนาบนพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่อยู่บนพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรมในเมือง

แม้ต้องใช้เวลาในการผันไอเดียไปสู่ภาคปฎิบัติ เพราะต้องผ่านการอนุมัติจากมหาดไทยและสภา กทม. แต่อย่างน้อยสัญญาณจาก “ชัชชาติ” อาจทำให้สำนักงานเขต 50 แห่ง มีความละเมียดละไมใช้ดุลพินิจประเมินภาษีที่ดินปี 2565 จะเก็บอัตรา 100% ภายในเดือนกรกฎาคมนี้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ดินกลางเมืองที่แสร้งปลูกกล้วย มะนาว มะม่วง เพราะถึงแม้จะเป็นไปตามเกณฑ์ของกฎหมาย แต่อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ในเมื่อคนเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนถึง “ชัชชาติโมเดล” ว่าไอเดียดี แม้คงไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

“อธิป พีชานนท์” รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดีจะใช้ผังเมืองมากำหนดการเก็บภาษีที่ดิน เพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่งั้นจะเห็นการนำที่ดินกลางเมือง เช่น สีลมมาปลูกกล้วยกันหมด แต่ในทางปฏิบัติต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นการกำหนดอัตราภาษีใหม่ และหากทำต้องไม่ใช่แค่ กทม. ต้องทำทุกจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่น

“เอกชนเคยเสนอตั้งแต่แรกแล้วว่า การประเมินภาษีต้องแยกประเภทที่ดินให้ชัดและไม่ควรกำหนดหลายอัตรา เพราะทำให้มีช่องโหว่ และการออกกฎกระทรวงต่างๆ มารองรับ เช่น เกณฑ์ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่เกิดปัญหาการตีความและการใช้ดุลพินิจของท้องถิ่น ที่แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน” อธิปกล่าว และว่า

ส่วนการชวนเอกชนนำที่ดินยังไม่ใช้ประโยชน์ทำเป็นสวนสาธารณะก็เป็นหลักการที่ดี ทำให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น แต่ กทม.ต้องกำหนดให้ชัดจะใช้กี่ปี ไม่ให้มีปัญหาภายหลัง โดยส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินส่วนบุคคลมากกว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วจะพัฒนาทันที

พร้อมเสนอว่า ภาครัฐต้องนำกฎหมายภาษีที่ดินทบทวนใหม่ แก้ปัญหาอุปสรรคและช่องโหว่ หลังใช้มา 3 ปี เพราะภาษีที่ดินเป็นเรื่องใหม่และบังคับใช้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม

สอดคล้องกับ “พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพราะที่ผ่านมาแต่ละท้องถิ่นใช้ดุลพินิจไม่เหมือนกันในการประเมินภาษีที่ดิน ส่วนการให้เอกชนนำที่ดินทำสวนสาธารณะถือเป็นเรื่องดี เพราะคนที่ได้รับที่ดินเป็นมรดกหากไม่มีเงินเสียภาษีก็ให้รัฐใช้ประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มายาวนานถึง 2 ปี ยังต้องใช้เวลา 2-3 ปีถึงจะฟื้นตัว ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลออกมาตรการบรรเทาภาระเก็บภาษีที่ดิน 100%

 

ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ผู้ที่ค้างชำระภาษีผ่อนชำระได้ 1 ปี โดยไม่มีเบี้ยปรับ เก็บหรือลดอัตราการจัดเก็บเป็นขั้นบันได เช่น ในปี 2566 ลด 75% ปี 2567 ลด 50% และปี 2568 ลด 25% และให้ปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ กำหนดอัตราที่เหมาะสมและเป็นอัตราเดียวจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประเมินภาษีได้ง่าย

ขณะที่ “อัญชลี ชวนิชย์” นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า สมาคมยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอให้ขยายเวลาที่ดินรอพัฒนาจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี ให้มีการประเมินราคาตามสภาพความเป็นจริงและแยกประเมินราคาที่ดินรอพัฒนากับที่ดินพัฒนาสาธารณูปโภคไปแล้ว รวมถึงขอขยายเวลาลด 90% อีก 2 ปี และให้จัดเก็บแบบเป็นขั้นบันได

ปัจจุบันมีที่ดินนิคมรอพัฒนา 20,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นที่ดินของบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ประมาณ 5,000 ไร่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประมาณ 10,000 ไร่ และที่เหลือเป็นที่ดินของนิคมรายใหม่ 4-5 ราย

“ตามกฎหมายที่ดินยังไม่พัฒนาจะได้รับยกเว้นภาษี 3 ปี แต่ที่ดินนิคมอุตสาหกรรมกว่าจะดำเนินการครบขั้นตอน และเปิดขายได้ต้องใช้ระยะเวลา 5 ปี จะต่างจากที่ดินพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะใช้เวลา 3 ปี หากไม่ได้นำมาพัฒนาภายในเวลาที่กำหนด จะเสียภาษีประเภทที่ดินรกร้างในอัตรา 0.3-0.7%”

ด้าน “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย ออกมาย้ำอีกครั้งว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากจากการเก็บภาษีที่ดิน 100% เพราะธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวจากจากโควิด-19 และถึงแม้ต้องจ่ายภาษีที่ 10% ยังไม่สามารถจ่ายไหว

“ช่วง 2 ปีรายได้ธุรกิจโรงแรมหายไปมาก ไม่ต้องพูดถึงผลกำไร ขณะที่ภาษีที่ดินเริ่มเก็บแล้ว ขอให้รัฐผ่อนคลายการเรียกเก็บ ลดให้ 90% อีก 1-2 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงขอให้ปรับปรุงเงื่อนไขการจัดเก็บอ้างอิงจากประเภทและรายได้ของธุรกิจมาคำนวณ และให้จัดเก็บเป็นขั้นบันได เช่น เก็บเพิ่มปีละ 5-10%”

 

ยังมีเสียงตอบรับที่ยังไม่มีคำตอบ จาก “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เจ้ากระทรวงการคลัง สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีที่ดินและหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยมีแนวทางใดจะแบ่งเบาภาระประชาชนได้ เพราะภาษีที่ดินเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่จะนำรายได้จากภาษีไปพัฒนาพื้นที่

เสียงเรียกร้องที่ยังดังไม่หยุดจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่ยังต้องลุ้นกันต่อ

แต่จากปัญหาที่มีการสะท้อนออกมา คงถึงเวลาสังคายนาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันใหม่อีกครั้ง เพื่อปิดจุดอ่อน อุดรูโหว่ในสิ่งที่เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 จำเป็นในชีวิต

น่าจะเป็นอีกเรื่องร้อนข้ามปี!!