พิศณุ นิลกลัด : ชายงามโลก 7 ปีติดต่อกัน

พิศณุ นิลกลัด

วันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา มีการประกาศผลการประกวด Mr. Olympia 2017 ซึ่งถือเป็นสุดยอดการแข่งขันเพาะกายของนักเพาะกายชายที่ลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา ปีนี้เป็นการจัดประกวดปีที่ 53 ติดต่อกัน

ผู้คว้าตำแหน่ง Mr. Olympia 2017 คือ ฟิล ฮีธ (Phil Heath) ยอดนักเพาะกายชาวอเมริกันชื่อดัง ครองตำแหน่งนี้ติดต่อกันถึง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2011-2017 เท่ากับ อาร์โนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ อดีต Mr. Olympia ที่ผันตัวมาเป็นดาราหนัง และอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย

ฟิล ฮีธ ครองตำแหน่ง Mr. Olympia 2017 พร้อมรับเงินรางวัล 400,000 ดอลลาร์ หรือ 13,200,000 บาท

ประมาณว่าเขามีรายได้จากการแข่งขันเพาะกาย และเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสร้างกล้าม รวมแล้วกว่า 6 ล้านดอลลาร์ หรือ 200 ล้านบาท

สำหรับนักเพาะกายอาชีพแถวหน้าในอเมริกาที่ลงแข่งขันเป็นประจำและได้เงินรางวัลสม่ำเสมอ มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 80,000 ดอลลาร์ หรือ 2,700,000 บาท

ปัจจุบัน ฟิล ฮีธ อายุ 37 ปี สูง 175 เซนติเมตร ช่วงแข่งขัน หนัก 114 กิโลกรัม มีไขมัน 6%

ส่วนช่วงที่ไม่ได้แข่งขัน ไม่ต้องคุมน้ำหนักอย่างเคร่งครัด เขาปล่อยให้น้ำหนักเพิ่มอีก 13 กิโลกรัม ขึ้นไปอยู่ที่ 127 กิโลกรัม

รอบเอวของฟิล 29 นิ้ว ต้นขาใหญ่ 32 นิ้ว รอบน่อง 20 นิ้ว รอบแขน 23 นิ้ว รอบคอ 18.5 นิ้ว

ก่อนที่ฟิลจะเป็นนักเพาะกาย เขาเคยเป็นนักบาสเกตบอลของ University of Denver ตำแหน่งพอยต์การ์ด ตอนนั้นหนัก 84 กิโลกรัม

 

การประกวด Mr. Olympia และชายงามรายการอื่นๆ ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีกฎ กติกาหยุมหยิม คล้ายว่านักเพาะกายที่ลงแข่งขันสวมกางเกงในตัวจิ๋วตัวเดียวขึ้นเวทีแล้วเบ่งกล้ามในท่าต่างๆ ให้กรรมการตัดสินว่าใครกล้ามสวยที่สุด

แต่ในความเป็นจริงการประกวด Mr. Olympia หรือการประกวดเพาะกายระดับโลก มีกฎ กติกาหลายอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง โดยต้องปฏิบัติตามกฎของ IFBB (International Federation of Bodybuilding & Fitness) หรือสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสนานาชาติ ซึ่งเป็นสหพันธ์ที่จัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายและฟิตเนสที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กางเกงในตัวจิ๋วที่นักเพาะกายชายสวมแข่งขัน ตามกฎนักเพาะกายต้องสวมกางเกงในสีเดียว ห้ามมีลวดลาย เป็นเนื้อผ้าทึบแสงไม่ใช่โปร่งใส และกางเกงในต้องสะอาด ดูสุภาพ โดยต้องปกปิดอย่างน้อย 3 ใน 4 ของบริเวณก้น

ดังนั้น นักเพาะกายชายจะสวมกางเกงในจีสตริงโชว์ก้นลงแข่งขันไม่ได้

นอกจากนี้ บริเวณเป้าก็ห้ามยัดสิ่งใดๆ เพื่อให้อวัยวะเพศชายดูใหญ่ได้สัดส่วน

สำหรับด้านข้างของกางเกงในก็ควรหนาอย่างน้อย 1 เซนติเมตร

กางเกงในที่นักเพาะกายสวมเข้าประกวดนั้นไม่ใช่เป็นกางเกงว่ายน้ำทั่วไป แต่เป็นกางเกงที่สวมเพื่อประกวดเพาะกายโดยเฉพาะ ซึ่งมีทรงที่ต่างจากกางเกงว่ายน้ำ คือ ด้านหน้าบริเวณของเอวจะเป็นทรงรูปตัว V ลึกกว่ากางเกงว่ายน้ำหรือกางเกงในทั่วไป เพื่อจะโด้โชว์กล้ามเนื้อหน้าท้องรูปตัว V ให้เห็นชัดเจน

ขากางเกงที่สวมประกวดเพาะกายจะเว้าขาสูงมาก เพื่อโชว์กล้ามเนื้อต้นขา

ส่วนสีกางเกงในที่นิยมสวมขึ้นเวทีแข่งขันนั้น คือสีเข้ม เพราะหากครีมทาตัวสีแทนเปื้อนกางเกงในจะได้เห็นไม่ชัด ถ้าสวมกางเกงในสีอ่อนและเกิดเปื้อนเป็นคราบสีน้ำตาลตรงก้นขึ้นมาก็อาจดูไม่ดี ชวนคลื่นไส้ นอกจากนี้ กางเกงในสีเข้มยังช่วยให้สะโพกดูเล็กลง ส่งผลให้กล้ามไหล่ และกล้ามต้นขาดูใหญ่ขึ้นด้วย

เครื่องประดับต่างๆ ห้ามใส่ลงแข่งขัน เช่น ต่างหู สร้อย วิก รวมถึงรองเท้า นาฬิกา และแว่น สิ่งที่ใส่ได้อย่างเดียว คือแหวนแต่งงาน

 

ในวันแข่งขันเพาะกาย เช้าวันแข่งขัน นักเพาะกายจะทานอาหารน้อยมาก เน้นทานผลไม้ และธัญพืช เช่น โอ๊ตมีล

เมื่อถึงเวลาแข่งขัน นักเพาะกายจะไม่ทานอะไรเลย จะจิบน้ำเพียงเล็กน้อยเมื่อกระหายเท่านั้น

ทันทีที่หลังการแข่งขันเพาะกายสิ้นสุด นักเพาะกายจะรับประทานเต็มที่ ตามใจปาก เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไอศกรีม เค้ก เพื่อเป็นรางวัลให้กับตัวเองหลังจากควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดมานานหลายเดือน

แต่สำหรับนักเพาะกายอาชีพ มักจะไม่ปล่อยตัวให้ทานตามใจปากเกิน 2 วัน และหลังการแข่งขัน นักเพาะกายหญิงจะไม่ปล่อยตัวให้น้ำหนักเกิน 4.5 กิโลกรัม ส่วนนักเพาะกายชายจะไม่ปล่อยตัวให้น้ำหนักเกิน 9 กิโลกรัม

 

หลายคนสงสัยว่าทำไมนักเพาะกายถึงทาตัวสีแทนจนดูเหมือนตัวไหม้ มีกฎบังคับให้ทาตัวให้สีเข้มหรือเปล่า

คำตอบคือ กฎการแข่งขันเพาะกายไม่ได้บังคับว่านักเพาะกายต้องทาสีตัวให้แทน หรือน้ำตาล

แต่นักเพาะกายทุกคนเลือกที่จะทาสีตัวให้เข้มเพื่อที่เวลาเบ่งกล้ามจะเห็นกล้ามคมชัด หรือที่เรียกว่า เดฟฟินิชั่น (Definition) หากขึ้นเวทีตัวขาวซีด ยิ่งโดนแสงไฟจ้าบนเวที จะยิ่งทำให้เห็นกล้ามไม่ชัด

ตามกฎของ IFBB นักเพาะกายสามารถฉีดสเปรย์แทน หรือใช้ Tanning Lotion ทาตัวให้ผิวดูเข้ม ซึ่งทำให้เห็นกล้ามเนื้อชัดเจน โดยต้องทาตัวหรือฉีดสเปรย์ก่อนแข่งขันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ต้องฉีดให้เนียนทั่วตัว ไม่ใช่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง ห้ามใช้ชิมเมอร์ กากเพชร ทาตัวให้เป็นประกาย สามารถใช้น้ำมันทาตัวให้ตัวมันเงาได้ แต่ห้ามทามากเกินเหตุ ซึ่งนักเพาะกล้ามส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก ทาตัวหรือสเปรย์น้ำมันที่ใช้ทำกับข้าวฉีดตัว

การทาตัวให้เป็นสีแทนของนักเพาะกายนั้น นิยมใช้ลูกกลิ้งทาสีบ้านทาตัวกันเลยทีเดียว

หลังจากแข่งขันเสร็จแล้ว ขั้นตอนการล้างสีแทนจากการฉีดสเปรย์ยุ่งยากเอาเรื่อง ใช้เวลาขัดถูเกือบสัปดาห์กว่าสีแทนจะออกหมดตัว

ถามว่า หน้าตาของนักเพาะกายมีผลต่อการให้คะแนนมั้ย?

ตอบว่า กรรมการจะดูที่ความสวยงามของกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ความหล่อของใบหน้า เพราะนี่คือการประกวดผู้ชายกล้ามสวยครับ