พฤษภารำลึก (4) เสียสัตย์เพื่อชาติ! | สุรชาติ บำรุงสุข

“ความพยายามของรัฐบาลประชาธิปไตยในการลดทอนความเป็นอภิสิทธิ์ของกองทัพ จะสร้างแรงต้านอย่างมากในหมู่ทหาร และทำให้กองทัพต้องการที่จะดำรงอยู่ในการเมืองต่อไป ซึ่งสภาวะเช่นนี้จะนำไปสู่สถานการณ์แบบความขัดแย้งสูง-ผลประโยชน์สูง”

Alfred Stepan (1988)
ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ในความเป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ที่สนใจเรื่อง “ทหารกับการเมือง” ไทยเป็นกรณีศึกษาที่ได้ความสนใจเสมอ เพราะทหารไทยอยู่ในวงจรการเมืองอย่างที่ไม่เคยหลุดออกมาได้เลย

แต่กระนั้นก็ไม่คาดคิดเลยว่าชีวิตของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ จะจบลงด้วยการยึดอำนาจ เพราะในท่ามกลางการขับเคลื่อนของกระแสประชาธิปไตยที่ขยับตัวจากการสิ้นสุดของ “ระบอบพันทาง” ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อันนำไปสู่การขึ้นสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังจากการรัฐประหาร 2519 จึงเป็นเสมือนการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง

ภาวะเช่นนี้ทำให้ผมอดเปรียบเทียบไม่ได้กับกระบวนการทางการเมืองในละตินอเมริกาในเชิงทฤษฎีว่าเป็น “redemocratization” ของไทยหลัง 2519

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้ามีใครจะ “ฝันไกล” ว่า รัฐประหาร “น่าจะ” ไม่เกิดขึ้นอีก (ขอใช้คำว่า “น่าจะ”) เพราะรัฐประหารในยุค พล.อ.เปรมล้มเหลวมาแล้วถึงสองครั้ง และน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญของผู้นำทหาร

ประชาธิปไตยในยุคของรัฐบาลชาติชายจึงเป็น “ความหวัง” เท่าๆ กับที่เป็น “ความฝัน” เพราะไม่เพียงแต่จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างน้อยรัฐบาลแบบพันทางได้สิ้นสุดลง พร้อมกับการมาของรัฐบาลเลือกตั้ง

ในอีกด้านความเป็นประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นอีกครั้งในสังคมไทยยังมาพร้อมกับการขยายตัวของระบบทุนนิยมในยุคหลังสงครามเย็น และเป็นทุนนิยมที่ขยับตัวมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก จนต้องอธิบายด้วยสำนวนของนักเศรษฐศาสตร์ว่า “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” (economic miracle) กำลังเกิดขึ้น

ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยกระดับขึ้น และเป็นการเติบโตแบบคู่ขนานทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ

การเมืองในยุคของรัฐบาลชาติชายจึงอาจนำเอาทฤษฎีการสร้างประชาธิปไตยของแซมมวล ฮันติงตัน มาใช้ ดังที่เขาได้กล่าวเป็นข้อพิจารณาว่า ถ้าจะทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยแล้ว ประเทศนั้นก็จะต้องมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (แม้ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นทุนนิยม อาจจะไม่ใช่หลักประกันเลยว่า ประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตย)

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ไทยจะกลายเป็นตัวแบบหนึ่งในทางทฤษฎี ที่บ่งชี้ถึงการก้าวสู่ประชาธิปไตยพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และขับเคลื่อนด้วยกระแสภายนอกที่เป็นเสรีนิยม

ถ้าเช่นนั้นแล้ว โลกาภิวัตน์จะเปลี่ยนความคิดของทหารไทยได้เพียงใด

 

กระแสโลกาภิวัตน์

ผมเปิดประเด็นในข้างต้นด้วยข้อสังเกตทางทฤษฎีแบบนักเรียนรัฐศาสตร์ และอยากเสริมด้วยข้อพิจารณาอีกประการว่า ในขณะที่ประชาธิปไตยไทยขยับตัวไปกับพลวัตภายในของสังคมนั้น การเมืองโลกเองก็ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างมีนัยสำคัญ…

การประกาศรวมชาติของเยอรมนี และการทุบกำแพงเบอร์ลินในเดือนพฤศจิกายน 2532 เป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก ฉะนั้น จากปี 2533-2534 เป็นต้นไป สงครามเย็นที่เคยกำหนดชะตากรรมของโลกได้เริ่มปิดฉากลง และตามมาด้วยการมาของ “กระแสโลกาภิวัตน์” ที่พัดไปทั่วทุกมุมโลก

โลกาภิวัตน์ภายใต้เงื่อนไขของระเบียบโลกยุคหลังสงครามเย็น มีลักษณะเป็น “กระแสเสรีนิยม” ในตัวเอง ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วย “การเมืองเสรีนิยม” เดินคู่ขนานไปกับ “เศรษฐกิจเสรีนิยม” แน่นอนว่า กระแสการเมืองของยุคโลกาภิวัตน์ไม่ตอบรับการรัฐประหาร และเป็นปฏิปักษ์กับระบอบทหาร

ในท่ามกลางการขับเคลื่อนของกระแสเสรีนิยม เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลอำนาจนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเผชิญกับการประท้วงใหญ่ของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 (ค.ศ.1989) จนนำไปสู่การกำเนิดของ “ขบวนประชาธิปไตย 89” การชุมนุมจบลงด้วยการที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงในวันที่ 4 มิถุนายน

แต่ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงกระแสประชาธิปไตยที่พัดข้ามเส้นพรมแดนเข้าสู่สังคมจีน คนรุ่นใหม่และนักศึกษาฝ่ายประชาธิปไตยเดินออกจากกรอบคิดเก่า การควบคุมแบบเดิมที่รัฐบาลปักกิ่งเคยใช้ไม่อาจต้านทานการไหลบ่าของกระแสเสรีนิยมได้อีกต่อไป ทางเลือกมีเพียง 2 ทาง คือ จะปฏิรูปการเมืองให้เปิดมากขึ้นแบบรัสเซีย หรือจะกระชับอำนาจให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้มแข็งมากขึ้นด้วยการปราบ

แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนกระชับอำนาจด้วยการปราบ แต่เท่ากับชี้ให้เห็นถึงกระแสประชาธิปไตยในสังคมจีน ที่แม้ระบอบอำนาจนิยมมีความแข็งแกร่งเพียงใด ก็ไม่สามารถปิดกระแสนี้ได้ อย่างน้อยภาพของชายนิรนามที่ถือถุงใส่ของและยืนขวางหน้าขบวนรถถังที่จะเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่การปราบปราม ยังคงเป็น “ภาพแห่งความทรงจำ” ที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย… เขาคนเดียวทำให้ขบวนรถถังที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจต้องหยุดกลางถนนในกรุงปักกิ่ง

ในอีกมุมหนึ่งของโลก ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ตัดสินใจใช้กำลังผนวกคูเวตในปี 2533 ด้วยข้ออ้างว่าคูเวตเป็นส่วนหนึ่งอิรักมาแต่เดิม (วันนี้ประธานาธิบดีปูตินก็พยายามที่จะผนวกยูเครนด้วยข้ออ้างเดียวกัน ผู้นำรัฐเผด็จการมักคิดแบบจักรวรรดิโบราณ ที่ต้องการขยายดินแดน)

สุดท้ายแล้ว รัฐตะวันตกที่นำโดยสหรัฐตัดสินใจใช้กำลังเข้าแทรกแซง อันนำไปสู่ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย” ในเดือนมกราคม 2534 สงครามดำเนินต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ และยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของอิรัก

สงครามครั้งนี้เป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกของยุคหลังสงครามเย็น และเป็นดังชัยชนะของระเบียบโลกแบบเสรีนิยม แม้ผลสืบเนื่องของสงครามจะเกิดต่อมาอีกหลายปีก็ตาม แต่อย่างน้อยกระแสโลกาภิวัตน์ได้แสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่า และกระแสนี้มีประชาธิปไตยเป็นเสาหลักทางการเมือง

 

ผิดกาลเทศะ!

หากพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคแล้ว รัฐประหาร 2534 ดูจะเป็นสิ่งที่ “ผิดกาลเทศะ” อย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่สวนทางกับกระแสโลก ซึ่งผู้นำทหารไทยอาจจะไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง…

พวกเขาอยู่ในโลกแคบๆ ที่เชื่อว่า เส้นเขตแดนจะเป็น “ของวิเศษ” ที่ขวางกั้นทุกอย่างที่ทะลุเข้ามาในรัฐไทยได้ ทั้งที่ในอดีต กระแสสงครามเย็นก็เคยทะลุผ่านเส้นเขตแดนเข้าสู่สังคมไทยมาแล้ว

ดังนั้น รัฐประหารซึ่งอาจจะเคยเป็น “สินค้าการเมือง” ในยุคสงครามเย็น แต่ในยุคหลังสงครามเย็น สิ่งนี้เป็น “สินค้าตกยุค” ที่ขายได้ยาก เพราะด้านหนึ่งกระแสโลกขับเคลื่อนด้วยลัทธิเสรีนิยม และอีกด้านหนึ่งกระแสการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เห็นถึงการสิ้นสุดของระบอบทหารในหลายประเทศทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าการเมืองโลกก้าวสู่ภาวะ “สิ้นยุคทองรัฐบาลทหาร” แต่ไทยกลับสวนทางตั้งรัฐบาลทหาร

ผมจำได้ดีว่าเมื่อข่าวรัฐประหารไทยมาถึงมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อาจารย์ของผมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเอเชียนั้น ตกใจเป็นอย่างมาก เพราะข่าวคราวการเมืองไทยที่มาถึงนิวยอร์กดูจะบ่งบอกถึงการเดินหน้าของรัฐบาลพลเรือน โดยเฉพาะการปรับยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ คือ “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ทำให้เชื่อว่า รัฐบาลไทยกำลังเปลี่ยน “ภูมิทัศน์สงคราม” ที่อาจนำไปสู่การสร้างสันติภาพจากปัญหาสงครามกลางเมืองกัมพูชาได้

ผมจำได้ดีอีกเช่นกันว่าบรรดาอาจารย์ของผมมองว่า รัฐประหารไทยเป็นสิ่งที่มาผิดเวลาเป็นอย่างยิ่ง… ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์กำลังเคลื่อนตัว การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนเกิดในปี 2532 สงครามอ่าวเปอร์เซียเกิดในเดือนมกราคม 2534 และตามมาด้วยรัฐประหารไทยในเดือนกุมภาพันธ์

ผมซึ่งกำลังต้องกลับมาทำวิจัยเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องทหารกับการเมือง มองด้วยสายตาของกระแสโลกว่า แล้วทหารไทยจะไปรอดอย่างไร

แม้รัฐบาลทหารพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ด้วยการเชิญอดีตนักการทูตนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมคำสัญญาว่า “จะไม่สืบทอดอำนาจ” และเปิดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 ซึ่งได้กลายเป็นสูตรที่จะต้องมีการจัดตั้งพรรคทหารคือ “พรรคสามัคคีธรรม” อันเป็นที่รู้กันว่า เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับรัฐบาลใหม่ที่มีผู้นำรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ 2534 เพื่อเปิดทางสืบทอดอำนาจ…

ในทางทฤษฎีก็คือการจัดตั้ง “รัฐบาลไฮบริด” อีกครั้ง

 

เสียสัตย์เพื่อชาติ!

ในที่สุด พล.อ.สุจินดา คราประยูร ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคำประกาศว่า “มีความจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ” แต่ขบวนการต่อต้าน พล.อ.สุจินดาได้ก่อตัวขึ้นเพื่อทวงคำสัญญาที่จะไม่สืบทอดอำนาจ และการเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง แต่เขากลับท้าทายว่า “ไม่ลาออกไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วง หรือการอดอาหาร ก็ไม่สามารถกดดันได้ เดี๋ยวก็หมดแรงกันไปเอง…” คำตอบเช่นนี้คือ การโหมไฟการเมืองให้ลุกโชนขึ้น และเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้กับการเมืองบนถนน

ความท้าทายอีกส่วนเป็นผลมาจากคำกล่าวของผู้นำรัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ที่กล่าวก่อนการรับตำแหน่งว่า “สุไม่เอาให้เต้” หมายถึง ถ้า พล.อ.สุจินดาไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะยกตำแหน่งนี้ให้แก่ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล

คำกล่าวเช่นนี้คือ การ “บายพาส” ฉันทานุมัติของประชาชน และเป็นการยืนยันชัดชัดเจนว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็น “กรรมสิทธิ์” ส่วนบุคคลของผู้นำทหารที่จะยกให้ใครก็ได้… คำกล่าวเช่นนี้เป็นยิ่งกว่า “การตบหน้า” ประชาชน

จากวาทกรรม “สุไม่เอาให้เต้” จนถึง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” กลายเป็นเชื้ออย่างดีที่ช่วยสร้างม็อบบนถนน เสียงต่อต้านรัฐบาลดังมากขึ้น และมุ่งเป้าไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง

คงต้องกล่าวว่า พล.อ.สุจินดากลายเป็นพื้นที่ “ตำบลกระสุนตก” ดังปรากฏชัดว่า แม้ผู้นำทหารจะมีอำนาจจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่กลับไม่มีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล… คณะรัฐประหารที่แปลงตัวเองเป็นรัฐบาลเลือกตั้งแบบพันทางกำลังเผชิญพายุใหญ่อย่างคาดไม่ถึง

แม้ผู้นำรัฐประหารมีความเชื่อแบบคิดเอาเองว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของชนชั้นนำและผู้นำทหาร แต่ประชาชนในวันนั้นเริ่มทวงอำนาจคืน

สำหรับผมซึ่งกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ บทบาททหารจากรัฐประหาร 2534 จนถึงการจัดตั้งรัฐบาลพันทางและการประท้วงใหญ่ 2535 เป็น “ห้องทดลองทางทฤษฎี” อย่างดีกับตัวแบบ “ความขัดแย้งสูง-ผลประโยชน์สูง” ว่าจะเดินไปสู่ความรุนแรงหรือไม่