ตีเหล็กตอนกำลังร้อน พรรคฝ่ายค้านเร่งจังหวะ ยื่นไม่ไว้วางใจรัฐบาล รุกไล่ปิดเกมประยุทธ์/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ตีเหล็กตอนกำลังร้อน

พรรคฝ่ายค้านเร่งจังหวะ

ยื่นไม่ไว้วางใจรัฐบาล

รุกไล่ปิดเกมประยุทธ์

 

ผ่านไปแล้วสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร

รอบนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพึ่งพาบารมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกแรงระดมสรรพกำลังทุกเสียงพรรคร่วมรัฐบาลในสภาถึงจะเอาอยู่

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ หนนี้ เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านประกาศล่วงหน้าจะลงมติ “คว่ำ” ในวาระแรก ต่างจากทุกครั้งที่จะยอมปล่อยผ่านไปก่อนแล้วตามไปเขย่าอีกทีในวาระ 2 และ 3

จุดเปลี่ยนเกมฝ่ายค้านที่เลือกรุกใส่รัฐบาลตั้งแต่เริ่ม ปัจจัยหลักมาจาก ส.ส.กลุ่มสะวิงโหวตในฝั่งรัฐบาลเองที่ออกมาร่วมมหกรรมเขย่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส.ส.กลุ่มสะวิงโหวต คือพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่อ้างว่ามี ส.ส.อยู่ในมือกว่า 30 เสียง

ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่ม 16 ส.ส. จากพรรคเล็ก ที่ผสมโรงกดดันรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายร่วมโต๊ะดินเนอร์กับแกนนำพรรคเพื่อไทย

แต่แม้ฝ่ายค้านจะลุ้นเสียง ส.ส.กลุ่มสะวิงโหวต หวังใช้เป็นกลไกในการพลิกเกม แต่ฝั่งรัฐบาลก็พยายามผนึกเสียงสู้ไม่ถอย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปกำชับ ส.ส.ลูกพรรคของตัวเอง ให้ช่วยกันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบฯ ผ่านสภาไปให้ได้

ตามด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กล่าวยืนยันขอให้มั่นใจว่าเราต้องอยู่ มั่นใจว่างบฯ ต้องผ่าน ไม่มีอะไร เชื่อผมสิ ครม.ต้องอยู่ต่อไป มั่นใจว่าเราเป็น ครม.ต่อไปจนถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจะผ่านไปได้ เป้าหมายคือทำงานหลักให้ประเทศจนครบอายุรัฐบาล

หลังเสร็จจากประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรยังได้เดินสายประชุม ส.ส.พลังประชารัฐ เรียกคุยกลุ่ม 16 ส.ส.และพรรคเล็ก เพื่อเคลียร์ปัญหารอยร้าวที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดเป็นความพยายามของรัฐบาล “สู้กลับ” ฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม ศึกอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ แท้จริงเสมือนเป็นเพียงการชิงจังหวะหยั่งเชิงกันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านเท่านั้น

ศึกใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะทือนให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้

 

ตามคิวเดิม ก่อนถึงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล สภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้แล้วเสร็จเสียก่อน ต่อท้ายร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่ค้างอยู่ ในวันที่ 9-10 มิถุนายน

แต่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย ต้องการเร่งเกม ขอให้สภาเลื่อนร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ค้างอยู่ ตามด้วยกฎหมายลูก 2 ฉบับ ใจจริงอยากยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหลังกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับผ่านวาระ 3

จึงขอคุยกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อขอเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เพื่อหวังขยับเวลายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจให้เร็วขึ้น แต่รัฐบาลไม่เอาด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ทำให้กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ต้องไปเข้าคิวพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป 16-17 มิถุนายน

เมื่อเห็นว่ารัฐบาลพยายามดึงเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจออกไป โดยใช้ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งมาเป็นเครื่องกีดขวาง ฝ่ายค้านจึงรุกกลับอีกครั้ง ประกาศจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 15 มิถุนายน

เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไทม์ไลน์ไว้ว่าจะยื่นญัตติอภิปรายฯ หลังร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับลัดคิวเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระ 2-3 วันที่ 9-10 มิถุนายนนี้ก่อน

หากเป็นเช่นนี้หลังจากฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว จะมีผลทำให้นายกรัฐมนตรีไม่สามารถประกาศยุบสภาได้ มีแต่ต้องเดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิศึกซักฟอก ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมสถานเดียว

 

การเปิดเกมรุกใส่รัฐบาลของฝ่ายค้านแบบไม่ให้ตั้งตัว เพราะเล็งเห็นผลว่า พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก

จากคะแนนนิยมที่ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็วหากเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่กระแสเชียร์ลุงตู่มาแรงแบบสุดๆ

แต่จากการบริหารงานมากว่า 3 ปี กลับเป็นรัฐบาลเองที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ส่งผลให้กระแสที่เคยมาแรง ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด

สวนทางกับพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่กระแสความนิยมค่อยๆ พลิกฟื้นคืนกลับ โดยเฉพาะแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย

เริ่มจากผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ ปลายเดือนมกราคม พรรคเพื่อไทยชนะพรรคพลังประชารัฐแชมป์เก่าแบบไม่เห็นฝุ่น

จนมาถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. 50 เขต ที่พรรคพลังประชารัฐตั้งเป้าหวังเรียกความเชื่อมั่นกลับมา

แต่ด้วยปรากฏการณ์ “ชัชชาติฟีเวอร์” ทำให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 1.38 ล้านเสียง

ขณะที่ผลการเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขต พรรคเพื่อไทยกวาดไปถึง 20 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคก้าวไกล 14 ที่นั่ง

ส่วนพลังประชารัฐพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งปี 2562 และกำลังจะเสนออีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ได้รับเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งนี้เพียง 2 ที่นั่ง

แพ้ราบคาบ หมดสภาพพรรคแกนนำรัฐบาล

 

แม้จะเป็นผลเลือกตั้งจังหวัดเดียว แต่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงประเทศไทย การเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 50 เขต ตามระบอบประชาธิปไตย ย่อมสะท้อนภาพไปถึงการเมืองใหญ่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ปรากฏการณ์ชัชชาติฟีเวอร์ เป็นการพิสูจน์ว่าแลนด์สไลด์เกิดขึ้นได้จริง และเกิดขึ้นแล้วกับฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย บวกกับการที่พรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ชนะ ส.ก.รวมกันถึง 34 ที่นั่ง สร้างความหวั่นไหวให้ฝั่งรัฐบาลอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่า ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงทางการเมืองขึ้นมาเสียก่อน นายกรัฐมนตรีจะไม่ด่วนตัดสินใจยุบสภาในเร็ววันนี้แน่นอน ด้วยกระแสตกต่ำดำดิ่งไม่หยุด หากจัดเลือกตั้งใหม่ สถานการณ์อาจยิ่งเลวร้ายหนักกว่าเดิม

จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อประวิงเวลา ยื้อสถานการณ์ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตรุมเร้านี้ไปให้ได้ ไม่ว่าวิกฤตของแพง น้ำมันแพง รวมถึงวิกฤตเสียงในสภา

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐอีกต่อไป

ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์ชัชชาติแลนด์สไลด์ และผลเลือกตั้ง ส.ก. ได้สร้างความมั่นใจให้พรรคฝ่ายค้านมากขึ้น

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ตั้งเป้าเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าจะต้องแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน

โอกาสในชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ถูกพูดถึงมากขึ้นโดยหยิบยกผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.มาเป็นโมเดลขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

ปัจจัยแห่งชัยชนะไม่ว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือ ส.ก. ล้วนมาจากการต่อสู้ขับเคี่ยวกันด้วยเรื่องของนโยบายสร้างความหวังให้ประชาชน ซึ่งเป็นวิธีต่อสู้ที่พรรคเพื่อไทยถนัดอย่างยิ่ง

 

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย

เหตุผลหนึ่งที่คนเลือกจนชนะการเลือกตั้ง เป็นผลจากนโยบายที่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วทำได้จริง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เลือกหยิบประเด็นนี้มาเป็นจุดแข็งในการเดินเครื่องหาเสียงสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์

สวนทางกับพรรคพลังประชารัฐที่เจอกระแสดราม่าถึงนโยบายหลักๆ ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งปี 2562 เข้ามาเป็นรัฐบาล 3 ปีกว่า ยังไม่สามารถทำได้จริงแม้แต่เรื่องเดียว

จุดนี้ถือเป็นความพร้อมของเพื่อไทยมากกว่าพรรคอื่น หากมีเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้นในเร็ววัน

เป็นที่มาของการเปิดเกมในสภารุกไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลพลังประชารัฐ ตั้งแต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 จนถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม

เปรียบเสมือนตีเหล็กตอนร้อน ในยามที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำจากสถานการณ์ทั้งภายในภายนอก

ทั้งหมดทั้งมวลยังต้องจับตาไปยัง ส.ส.กลุ่มสะวิงโหวต ทั้งกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส และกลุ่ม 16 ส.ส.จากพรรคเล็ก

กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกันของพรรครัฐบาล แต่หลักโดยรวมแล้วถือเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนด้วยเช่นกัน

ต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มุ่งไปในเรื่องความผิดพลาด บกพร่องและทุจริตในการทำหน้าที่ เจาะจงลงไปเฉพาะตัวรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่อาจทำให้ ส.ส.กลุ่มสะวิงโหวต ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

บวกกับกระแสถดถอยสุดกู่ในตอนนี้ แม้แต่ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐเองก็ย่อมรู้ดีว่าเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะฝืนไปต่อ

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ จึงเสมือนสนามซ้อมรบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างหากที่เป็นสนามรบจริง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านมีความพร้อมมากที่จะปิดเกมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้จงได้

บทสรุปของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบเทอมหรือปิดฉากลงก่อนกำหนด ทุกอย่างชี้ขาดกันในเดือนกรกฎาคม