สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ครูผู้เป็นแบบอย่าง (13)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผมถ่ายทอดเรื่องราว ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จากรายงานสรุปการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2560 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กทม. ประเทศไทย กับบทบันทึกการเดินทางไปเยี่ยมเยียนครู ของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือน่าอ่านชื่อ “ครูไทยพบครูเทศ” จนครบทั้ง 11 คน

ยังมีสาระและบรรยากาศ ว่าด้วยการจัดการศึกษา ระบบการศึกษา อีกหลายหัวข้อ ทำให้มองเห็นภาพรวมทิศทางทางการศึกษาของแต่ละประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์และน่าติดตามอย่างยิ่ง

อาทิ การจัดการศึกษาแบบองค์รวมและความพร้อมของโรงเรียนของประเทศสิงคโปร์

การจัดการศึกษาของประเทศบรูไนและหลักสูตรวิชาชีพผู้ประกอบการ สมาร์ต อินโดนีเซีย ทักษะเป้าหมายและพิมพ์เขียวการศึกษาของมาเลเซีย พ.ศ.2568 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแผนการศึกษาของประเทศเวียดนาม

มูลนิธิจัดพิมพ์รายงานโดยละเอียดเป็นรูปเล่ม เผยแพร่เป็นการสาธารณะ ท่านที่สนใจไถ่ถามได้ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) แล้วแต่จะสะดวกที่ไหน

 

การดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิ นอกจากเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับพัฒนาวิชาชีพครูแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเป็นงานด้านการระหว่างประเทศ การทูตโดยการศึกษาเป็นทางนำ เป็นการยืนยันหลักการตามกฎบัตรอาเซียน เสาหลักที่สาม ด้านประชาคม สังคม การศึกษาและวัฒนธรรม

เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ความร่วมมือร่วมใจกันในระดับนานาชาติ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ นำมาเป็นบทเรียนซึ่งกันและกัน

การอภิปรายหัวข้อเฉพาะเจาะลึกลงไปในแต่ละประเด็น ถูกบันทึกและถ่ายทอดออกไปให้แต่ละประเทศนำไปเป็นแนวทางความคิดแก้ไขปัญหา ปรับปรุงพัฒนาการศึกษาของตน เป้าหมายเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพและคุณค่ายิ่งขึ้น เตรียมการรับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต

การนำคณะเดินทางไปเยี่ยมเยียนครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาทุกประเทศ ทำให้เกิดขวัญกำลังใจ สร้างการรับรู้ไปทั่วประเทศและแรงสั่นสะเทือนวงการศึกษาโดยเฉพาะวิชาชีพครูของทุกประเทศ ได้รับความสนใจ ยกย่อง เชิดชู เป็นต้นแบบช่องทางแก้ปัญหา ปฏิรูปการศึกษาลงลึกถึงจิตวิญญาณ

มูลนิธิเป็นตัวกลางเชื่อมภาคส่วนต่างๆ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมมาช่วยครู โรงเรียน ปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมหลายแห่ง

ชุมชน องค์กรธุรกิจ องค์กรการกุศลในประเทศนั้นๆ ช่วยกันออกค่าใช้จ่าย สนับสนุนครูเดินทางไปประชุม ฝึกอบรม ร่วมกิจกรรมในอีกประเทศหนึ่ง ถ่ายทอดสภาพปัญหา แนวทางการแก้ไข และความต้องการพัฒนา ได้รับการช่วยเหลือ ส่งอุปกรณ์การศึกษาไปให้ทำกิจกรรม ทั้งเด็กยากจนและเด็กพิเศษมีโอกาสได้ใช้สื่อเพื่อพัฒนา

เกิดโครงการความร่วมมือขึ้นอย่างน่าชื่นชม

 

ขณะที่ภารกิจหลักการคัดเลือกครูผู้มีคุณสมบัติเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลยังดำเนินต่อเนื่องมา ในปี 2560 เป็นการคัดเลือกครั้งที่ 2

“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลเกียรติยศแห่งความเป็นครูที่จัดขึ้นในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเด็กและเยาวชนไทย โดยพระราชทานรางวัลแก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 ท่าน รวม 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต มีการคัดเลือกเป็นประจำทุก 2 ปี”

“ในส่วนของประเทศไทย กระบวนการคัดเลือกจาก 3 ช่องทาง จากการเสนอชื่อโดยศิษย์เก่าอายุ 25 ปีขึ้นไป สถานศึกษา สมาคม หรือองค์กรที่มีการคัดเลือกครู เพื่อปลุกพลังคนไทยทั้งชาติร่วมกันเสนอชื่อครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์และสร้างคุณูปการแก่วงการศึกษาไทย”

ดร.กฤษณพงศ์ เล่าถึงที่มาของรางวัล

 

ผลการคัดเลือกครั้งที่ 2 ปรากฏแล้ว ประเทศไทยแถลงเปิดตัว “ครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2560” ในการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา คือ นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

ครูจิรัฏฐ์ ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้วยการจัดการเรียนรู้แนวใหม่บนโลกอินเตอร์เน็ตเพื่อเปิดโลกกว้างแก่นักเรียนให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่นอกตำราเรียน ตั้งแต่ปี 2528 ผู้บุกเบิกให้มีหลักสูตรการสอนไอซีทีในโรงเรียน และนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญของโลกอนาคตมาร่วมจัดการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนพัฒนานวัตกรรมจนชนะการประกวดทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นครูผู้มีความรักและเมตตาต่อศิษย์ ทุ่มเทเวลาและกำลังทรัพย์ส่วนตัวในการส่งเสริมนักเรียนทำกิจกรรมนอกเวลาราชการอย่างสม่ำเสมอ ตลอด 30 ปี

ครูจาก 10 ประเทศอาเซียนที่ผ่านการคัดเลือกจากประเทศนั้นๆ ได้แก่

นางดี โสะพวน (Mrs.Dy Sophorn) ประเทศกัมพูชา

นางฮัจญะห์ ซารีปะห์ บินตี เอิมบง (Mrs.Saripah Embong) ประเทศมาเลเซีย

นายอู แตง ทน (Mr.U Than Tum) ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

มาดามสะรับจิต คอร์ บุตรีฮาร์ดิป ซิงห์ (Mdm Sarabjeet Kaur d/๐ Hardip Singh) ประเทศสิงคโปร์

นางฟาน ถิ หนือ (Mrs.Phan Thi Nu) ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

มาดามลิม ซง โงว (Mdm.Lim Soh Ngo) ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

นายเอนซอน ระมัน (Mr.Encon Rahman) ประเทศอินโดนีเซีย

Mr.Jesus Insilada ประเทศฟิลิปปินส์

Mr.Leopoldina Joana Guterres ประเทศติมอร์-เลสเต

นางควนวิลัย เคนกิตติสัก (Mrs.Khounvilay Khenkitisack) ประเทศสาธารณัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

 

ครูทั้ง 11 คน จะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กทม.

ในโอกาสเดินทางมาเข้ารับพระราชทานรางวัล ทั้ง 11 ท่านจะนำเสนอผลงาน เล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงาน ความคิด บทเรียน ประสบการณ์ ให้เพื่อนครูไทย และผู้เข้าร่วมงานได้รับรู้ ซึมซับตามลำดับ เป็นความเคลื่อนไหวทางการศึกษาที่ไม่ควรพลาดทีเดียว

ประเทศไทยนอกจากรางวัลเกียรติยศดังกล่าวแล้ว ยังมีครูผู้ได้รับการเชิดชูในระดับรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์อีกส่วนหนึ่ง ครูผู้มีจิตวิญญาณ

ท่านเหล่านั้นเป็นใคร ผลงาน วิธีคิด การปฏิบัติตนเป็นอย่างไร ต้องติดตาม