จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 3-9 มิถุนายน 2565 ฉบับที่ 2181

 

จดหมาย

 

• ระหว่างประเทศ (1)

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. 7th Fleet) พล.ร.ท.คาร์ล โทมัส

เป็นประธานส่งมอบระบบอากาศยานไร้คนขับและไม่ติดอาวุธ RQ-21A Blackjack ให้กับกองทัพเรือไทย

ระบบดังกล่าวออกแบบมาสำหรับการค้นหาข้อมูลข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวนทางทะเล มีพิสัยทำการ 50 ไมล์ทะเล ความเร็ว 60 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง และบินติดต่อกันได้นาน 16 ชั่วโมง

RQ-21A Blackjack จะเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางทะเลของไทย

ทั้งปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการปราบปรามการค้ายาเสพติดและมนุษย์

อีกทั้งยังจะยกระดับการปฏิบัติการร่วมกันของกองทัพเรือสหรัฐและไทยด้วย

โครงการสำหรับกองทัพเรือไทยนี้ได้รับทุนจากโครงการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางทะเล (MSI) ของสหรัฐ สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

สัมพันธไมตรีระหว่างสหรัฐและไทย จะทำให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เสรีและเปิดกว้าง

ซึ่งสำคัญยิ่งต่อสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพของภูมิภาค

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

ขณะที่เรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยซื้อจากจีนมีปัญหา

และคาดว่าจะร้อนฉ่าในศึกซักฟอกอีกไม่นานนี้

สหรัฐก็ยังรุกเข้ามาเรื่อยๆ

นอกจากมอบโดรน RQ-21A Blackjack ให้ เพื่อยกระดับการปฏิบัติการร่วมกันของกองทัพเรือสหรัฐและไทยแล้ว

กองทัพเรือไทยและสหรัฐ ยังเพิ่งฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ หรือ “การัต” (Cooperation Afloat Readiness and Training : CARAT) อยู่ตอนนี้

โดยสหรัฐส่งเรือ USS Jackson (LCS 6) และเครื่องบิน P-8A Poseidon เข้าร่วม

เรือ USS Jackson สังกัดกองเรือพิฆาต (DESRON) ที่ 7 เป็นฝูงเรือพิฆาตส่วนหน้าของกองทัพเรือสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกองเรือบัญชาการรบทางทะเลของชุดจู่โจมโพ้นทะเล

เป็นข้อมูลที่หยิบมาให้กองเชียร์ “จีน” ในไทย

ตัดแปะข้างฝาไว้เตือนความจำ!

 

• ระหว่างประเทศ (2)

สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC)

ได้จัดแสดงอาหารทะเลนอร์เวย์ ณ บูธอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ภายในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม THAIFEX – Anuga Asia 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม พ.ศ.2565

ดร.อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC)

เปิดเผยว่า ปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ตลาดไทยเป็นหนึ่งในสามตลาดหลักอาหารทะเลจากนอร์เวย์ รองจากประเทศจีนและเกาหลีใต้

21% ของผู้ตอบแบบสอบถาม NSC บอกว่าซื้อแซลมอนบนช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ‘ค่อนข้างบ่อย’ หรือ ‘บ่อยมาก’

และกว่า 59% กล่าวว่าร้านที่มีแบรนด์สินค้าปลาและอาหารทะเลที่มีคุณภาพนั้น ‘สำคัญมาก’ ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า

ผู้บริโภคชาวไทยมักจะตามเทรนด์ และเปิดกว้างต่อการสำรวจตัวเลือกใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็พิถีพิถันกับคุณภาพของอาหารที่เลือก

ตัวเลขยอดการส่งออกแซลมอนสดและฟยอร์ดเทราท์สดจากนอร์เวย์มายังประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2565 มีปริมาณกว่า 8,385 ตัน (เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน) นับเป็นมูลค่าสูงถึง 2.8 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน)

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่สูงมากของตลาดไทย

สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC)

 

จากเรื่องเครียดๆ เรื่องอาวุธ

ตัดฉับไปที่เรื่องอาหารการกิน

สังเกตไหมว่า ตอนนี้ในเมืองไทย

เมนูปลาแซลมอนสด มีขายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง

ทำไมปลาแซลมอนจึงดาษดื่น

คำตอบส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลของ “อีเมล” ข้างต้น

เทรนด์ “Seafood from Norway” จากแหล่งน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาด ที่โชว์ขึ้นมาเป็นจุดขาย

กำลังมาแรงและดูจะถูกใจหลายคน

น่าคิด–จากดินแดนไกลโพ้นเขายังมีช่องบุกเข้ามาครองตลาดไทย

แล้วไทยมีอะไรจะไปบุกดินแดนอื่นเขาบ้าง

 

• ระหว่างประเทศ (3)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้บันทึกการประหารชีวิตในปี 2564

พบว่า มีข้อมูลการประหารชีวิตอย่างน้อย 579 ครั้งใน 18 ประเทศ

เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับจำนวนที่บันทึกได้ในปี 2563

อิหร่านยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุด อย่างน้อย 314 คน (เพิ่มจากอย่างน้อย 246 คนในปี 2563)

ภายในสิ้นปี 2564 มี 108 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี

และมี 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว

สำหรับประชาคมอาเซียน

กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท

ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ คือยังคงโทษประหารชีวิตอยู่ตามกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไป แต่ได้มีการระงับการประหารชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น

ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

ในปี 2564 หลายประเทศยังคงใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงและชนกลุ่มน้อย

มีข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจภายใต้กฎอัยการศึกในเมียนมา

ศาลทหารพิจารณาคดีต่อพลเรือน โดยสั่งประหารไปแล้วเกือบ 90 คน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณี เพราะมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

แอมเนสตี้

อินเตอร์เนชั่นแนล

 

สังคมไทยยังไม่มีข้อสรุปตรงกันนัก

ในประเด็นการประหารชีวิต

คำพูดทำนองว่า อยากให้ตายตกไปตามกัน

ที่มักพูดถึงในยามมีคดีร้ายแรง

ซึ่งก็อภิปรายแลกเปลี่ยนกันได้

แต่ที่ไม่ควรเกิดขึ้น

คือ ใช้การประหารชีวิตปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐ

อย่างที่เกิดกับเมียนมา เพื่อนบ้านของเรา

ส่วนในไทย ลำพังแค่ตามจับคนเห็นต่างทางการเมืองเข้าคุก

ก็ยากจะยอมรับแล้ว! •