ยุทธการตีเหล็กเมื่อยังร้อน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ยุทธการตีเหล็กเมื่อยังร้อน

 

เหล็กเป็นโลหะที่มีความแข็ง จึงถูกใช้ทำเป็นอาวุธและเครื่องมือนานาชนิด การเอาชนะความแข็งของเหล็กได้ คือต้องกระทำในระหว่างที่เหล็กถูกเผาไฟจนร้อน ยามนั้น จะทุบจะตี จะดัดเป็นรูปทรงใดๆ ย่อมกระทำได้ไม่ยาก

ภาษิต ตีเหล็กเมื่อยังร้อนในทางการเมือง จึงหมายถึงการที่ต้องเร่งลงมือกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในจังหวะเวลาที่ฝ่ายนั้นอ่อนแอหรือเพลี่ยงพล้ำ เพราะหากล่าช้ารอเหล็กแข็งตัว การลงมือก็อาจไม่เป็นผลสำเร็จ

จากผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2565 การที่ผู้สมัครอิสระ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น

ตลอดจนการที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครอีก รวม 34 ที่ ใน 50 ที่ เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกตีความว่า คะแนนความนิยมของฝ่ายรัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำสุด

สิ่งที่ตามมาจึงเป็นการเร่งรุกทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่มาพร้อมกันจนราวกับมีการนัดแนะ

แต่จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ

 

ไม่รับหลักการ

พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี

ตามปฏิทินของการจัดทำงบประมาณประจำปี พ.ศ.2566 จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาวาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน พ.ศ.2565

ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดไม่เคยมีปัญหาการพิจารณางบประมาณ เนื่องจากเป็นฝ่ายครอบครองเสียงข้างมากในสภา แม้ฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายไม่เห็นด้วย แต่จะไม่ถึงกับการลงมติไม่เห็นชอบ เนื่องจากเห็นประโยชน์ในการเข้าไปพิจารณาต่อในขั้นกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งได้ประโยชน์ในการเจาะลึกรายละเอียดและการซักถามตัวแทนหน่วยราชการที่มาชี้แจงงบประมาณ ตลอดจนสามารถใช้เป็นเวทีในการแปรญัตติปรับแต่งงบประมาณให้เกิดประโยชน์ในทิศทางที่ตนต้องการ และข้อมูลที่ได้ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอภิปรายวาระที่สองหรือสามต่อไปได้

ความน่าแปลกอยู่ที่หลังจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครออกมาที่มีผลแบบถล่มทลาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศว่า พรรคฝ่ายค้านจะไม่เห็นชอบกับการผ่านวาระที่หนึ่งของพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี ด้วยเหตุว่า การจัดทำงบประมาณดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวะเวลาเดียวกับที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคเศรษฐกิจไทยที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นแกนหลักมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับฝั่งรัฐบาลออกและประกาศท่าทีที่เป็นอิสระ พร้อมจะลงมติแตกต่างจากฝ่ายรัฐบาล

เป็นที่ทราบกันว่า หากพระราชบัญญัติงบประมาณซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญถูกล้ม ไม่ผ่านการรับหลักการของสภา เท่ากับรัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ นายกรัฐมนตรีมีทางเลือกแค่ 2 ทางคือ ลาออกหรือยุบสภาเท่านั้น

 

กรณีนายกรัฐมนตรีลาออก

หากนายกรัฐมนตรีเลือกหนทางลาออก การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังต้องกระทำโดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ตามมาตรา 272 ของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา โดยในมาตรา 159 กำหนดให้เลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ในสภา

ซึ่งในกรณีนี้จะมีเพียงผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อเพียงไม่กี่ราย

จำแนกตามพรรคดังนี้

1) พรรคเพื่อไทย 3 ชื่อ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ

2) พลังประชารัฐ 1 ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

3) พรรคภูมิใจไทย 1 ชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

4) พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ชื่อต่างๆ เหล่านี้ ยังคงเป็นชื่อที่เสนอได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนในพรรคหรือนอกพรรค ดำรงหรือไม่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม หากยังมีคุณสมบัติครบและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ โดยต้องมีผู้รับรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประมาณ 50 คน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง รัฐสภาสามารถหาทางออกได้โดยใช้ข้อความในวรรคสองของ มาตรา 272 โดยใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภาเพื่อยกเว้นการใช้รายชื่อในบัญชีของพรรคการเมือง และใช้เสียงสองในสามของสองสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกได้

นายกฯ ที่มาใหม่นี้ ก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน คือเพียงไม่เกินวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2566 เท่านั้น

 

กรณีนายกรัฐมนตรี

เลือกใช้วิธีการยุบสภา

การยุบสภาเป็นวิถีทางหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในกรณีที่รัฐบาลมีความขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎรจนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ เช่น ไม่สามารถเสนอกฎหมายสำคัญผ่านสภา การยุบสภาจึงเป็นการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนฝ่ายใดให้ทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ

โดย กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา ทั้งนี้เป็นไปตามวรรคสาม มาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 97(3))

ผลจากการยุบสภา รัฐบาลชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่รักษาการ ไม่สามารถตัดสินใจหรือกระทำการในเรื่องสำคัญได้ โดยในมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุถึง 4 เรื่องที่รัฐบาลรักษาการช่วงยุบสภาทำไม่ได้ คือ

1) การอนุมัติงานหรือโครงการที่ผูกพัน ครม.ชุดต่อไป

2) แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เว้นแต่ กกต.เห็นชอบ

3) ไม่อนุมัติใช้จ่ายเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ กกต.เห็นชอบ

และ 4) ไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐเพื่อการหาเสียง

ผลจากการยุบสภา บรรดากฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของรัฐสภาจะตกไปทั้งหมด ตามหลักการในมาตรา 147 ของรัฐธรรมนูญ แต่ ครม.ชุดใหม่สามารถหยิบมาเสนอใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้

มีคำถามว่า ในกรณีกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาวาระที่สองและสามของรัฐสภา จะตกไปด้วยหรือไม่ คำตอบคือตกไป และหากจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อใช้ในการเลือกตั้งก็จะมีทางเลือกคือ คณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ออกพระราชกำหนด ที่มีฐานะศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระราชบัญญัติมาใช้แทน หรือให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ต้องออกคำสั่งและประกาศที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป

ที่แน่ๆ คือ บัตรเลือกตั้งต้องเป็น 2 ใบ ไม่สามารถย้อนกลับเป็นใบเดียว สัดส่วนของ ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องเป็น 400 : 100 ตามรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่หมายเลขผู้สมัครเขตกับบัญชีรายชื่อจะเป็นหมายเลขเดียวกันหรือไม่ หรือการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ ครม.สามารถออกในพระราชกำหนดได้เลย

บทสรุปในเรื่องยุทธการตีเหล็กเมื่อยังร้อนในกรณีการคว่ำพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีในวาระที่หนึ่ง มีโอกาสที่จะประสบทั้งความสำเร็จและล้มเหลว

แต่ที่แน่ๆ ในปีนี้ ยังตีเหล็กได้อีกหลายรอบครับ