ปรากฏการณ์กวีนิพนธ์ร่วมสมัย ปี 2565/รายงานพิเศษ ชาคริต แก้วทันคำ

รายงานพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

ปรากฏการณ์กวีนิพนธ์ร่วมสมัย ปี 2565

 

ช่วงปี 2564-2565 มีปรากฏการณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะการประกวดบทกวี-เรื่องสั้น ซึ่งไม่ได้จัดทุกปีอย่างรางวัลพานแว่นฟ้า แต่เป็นเวทีใหม่ที่ได้รับความสนใจ และอาจช่วยกระตุ้นวงการวรรณกรรม รวมทั้งกวี นักเขียน ตลอดจนผู้สนใจให้ร่วมประชันฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอ่านยาใจ ปี 2 ที่เพิ่มการประกวดบทกวีเข้ามา ทั้งระดับเยาวชน และประชาชนทั่วไป รางวัลบรรณาธรที่แบ่งการประกวดออกเป็น 6 รอบ จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

และล่าสุดรางวัลมติชนอวอร์ด กำลังเปิดรับผลงาน

นอกจากเวทีประกวดที่อาจถือเป็นปรากฏการณ์แล้ว พื้นที่นิตยสาร วารสารรูปเล่มกระดาษที่หายไป หรือถูกจำกัดจำนวนผลงานผ่านการตีพิมพ์ ก็เริ่มมีพื้นที่ออนไลน์เข้ามาแทน เป็นตัวเลือกในการอ่าน การเขียน การคิดและเข้าถึงสำหรับคนรุ่นใหม่ ตามยุคสมัยที่สื่อโซเชียลมีบทบาทในชีวิตประจำวัน

ไม่ว่าจะเป็นเพจช่างเขียนพยัญชนะที่ดำเนินการเข้าปีที่ 6 เปิดรับทั้งเรื่องสั้น-บทกวีรายเดือน ประเภทละ 4 ผลงาน มีดิเรก นนทชิต เป็นบรรณาธิการ

หรือบางกอกนิวไลฟ์ เปิดรับทั้งเรื่องสั้น-บทกวีเช่นกัน โดยมีค่าเรื่องตอบแทน และ Gliss พื้นที่ใหม่ที่เปิดรับเฉพาะบทกวี (ไร้ฉันทลักษณ์-ไม่จำกัดรูปแบบ ความยาว) เดือนละ 4 ชิ้น มีค่าเรื่องตอบแทนพร้อมความคิดเห็นจากคณะบรรณาธิการ นำทีมโดยรัฐพล เพชรบดี

 

กล่าวถึงเวทีประกวดและพื้นที่สื่อออนไลน์ที่เป็นปรากฏการณ์ไปแล้ว ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ หนังสือเล่ม ซึ่งมีทั้งพิมพ์จำนวนจำกัดเพื่อจำหน่าย และการประกวดรางวัลซีไรต์ โดยจะอธิบายไปตามลำดับ

หนังสือเล่มที่พิมพ์จำกัดในรูปแบบทำมือ (เย็บมุงหลังคา) ในนามสำนักพิมพ์เหล็กหมาด มีอุเทน มหามิตร ศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปี 2563 เป็นทั้งบรรณาธิการและเจ้าสำนัก เปิดรับผลงานกวีนิพนธ์ของคนรุ่นใหม่/เล่มแรก เช่น ผลงานของปรัชวิชญ์ บุนยะวันตัง อมตะ รอนฝัน ตะวันเศร้า พนา เพชรสัมฤทธิ์ ปภาตพงศ์ วันภักดี เพตรา วิเศษรังสี สุพัตรา เกริกสกุล เป็นต้น

นอกจากนี้กวีรุ่นใหม่บางคนยังก่อตั้งเครือข่ายกวีสามัญสำนึกขึ้น ผลักดันการเขียน การสื่อสารและเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งการอ่านบทกวีในที่สาธารณะในนาม #ไอ้พวกกวี

 

ส่วนเวทีประกวดรางวัลซีไรต์ปี 2565 ซึ่งประกาศรายชื่อผลงานจำนวน 75 เล่ม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปีนี้ทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยไม่ระบุชื่อสำนักพิมพ์ จึงอาจสร้างความลำบากให้กับผู้สนใจที่ต้องการเสพบทกวี หรือในแง่หนึ่ง บทกวีหลายเล่มที่ส่งเข้าประกวดไม่ได้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ใหญ่เช่นแต่ก่อน แต่กลับพิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์ขนาดกลาง ขนาดเล็ก พิมพ์เองเพื่อจำหน่ายในเฟซบุ๊กและส่งประกวด ทำให้ตลาดเกี่ยวกับงานวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ที่ขายยากสุดเกิดหดตัวยิ่งกว่าเดิม หรือจำกัดการอ่าน การเขียนเฉพาะคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

แต่เมื่อดูจากรายชื่อผลงาน 75 เล่มที่ส่งประกวดแล้ว สำนักพิมพ์ผจญภัยน่าจะส่งผลงานมากที่สุด และยังเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือประเภทนี้ทั้งปกแข็งให้สะสม และปกอ่อนในราคาประหยัด

จากผลงานทั้ง 5 เล่มที่ส่งประกวด มีความน่าสนใจ เพราะมีทั้งผลงานเล่มแรกของกวี ผลงานของนักเขียนรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง โดยจะพิจารณาดังต่อไปนี้

“กัดกินฉันอีกคำสิ” ของสันติพล ยวงใย กวีรุ่นใหม่จากสามจังหวัดชายแดนใต้ นำเสนอในรูปแบบไร้ฉันทลักษณ์

ถ้าหากพูดถึงกวีสามจังหวัดชายแดนใต้ มีผลงานกวีที่น่าศึกษา เช่น งานของ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” (2553)

ส่วนกวีรุ่นใหม่ เช่น โรสนี นูรฟารีดา อานนท์ นานมาแล้ว มูบารัด สาและ และอติรุจ ดือเระ ซึ่งครั้งนี้ อติรุจส่งผลงาน “โบยบินไปสู่โลกซึ่งความรักสะพรั่งบาน” เข้าร่วมประกวดด้วย และเป็นหนังสือกวีที่ได้รับรางวัลดีเด่น Youngthai Artist Award 2020 หรือรางวัลยุวศิลปินไทย จากมูลนิธิเอสซีจี

“นาฏกรรมจำนรรจ์” ของศิวกานท์ ปทุมสูติ กวีรุ่นใหญ่ผู้มีผลงานน่าศึกษารูปแบบฉันทลักษณ์ ทั้งเก่าใหม่ และที่ประดิษฐ์คิดขึ้นมาใช้ โดยผลงานเล่มนี้มีการออกแบบ ทั้งการเล่าเรื่องปรัชญาชีวิต แต่ละบทร้อยสัมผัสกัน

“ประเทศในเขาวงกตและบริบทอื่นๆ” ของศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากผลงานนวนิยายเรื่อง “เดฟั่น” บทกวีเล่มนี้เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2564 ซึ่งมีความโดดเด่นทางภาษา วรรณศิลป์ และความคิดที่แหลมคม

“มหาสมุทรว่ายผ่านฝูงปลา” ของพจนาถ พจนาพิทักษ์ กวี ศิลปิน ผลงานเล่มนี้เป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ในรอบทศวรรษ นับจากผลงานเล่ม “ดินแดนไม่มหัศจรรย์” (2553)

“ดินแดนบันไดงู” ของวิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีเมืองตรัง ผู้มีฝีไม้ลายมือและลีลาบทกวีเฉพาะตัว เขียนได้ทั้งกลอนฉันทลักษณ์ ไร้ฉันทลักษณ์ แคนโต้ ซึ่งใช้ภาษาน่าขบคิดตีความ เนื้อหามีความซับซ้อนลึกซึ้ง การเล่าเรื่องยังมีกลิ่นอายสัจนิยมมหัศจรรย์ นับเป็นกวีผู้มีผลงานต่อเนื่อง เคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ เช่น “พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล” และ “กุมภาพันธ์ บางทีก็มีฝน”

ส่วนกวีที่ส่งผลงานเข้าประกวดมากที่สุด 4 เล่ม คือ ในเมือง รักเสรี ได้แก่ “#18-48” “ธรรมะกวีเซน” “ร้อยกรองชมสวน” และ “สำนักข่าวร้อยกรอง ประจำปี 2564” โดยผลงานแต่ละเล่มแบ่งออกเป็นแนวความรัก ธรรมะ ชมธรรมชาติ และการเล่าข่าว

รองลงมา 3 เล่ม คือผลงานของรมณา โรชา เช่น “ถักถ้อยธุลีใจ” “ทั้งคืน ฉันนั่งฟังใบไม้สนทนา” และ “ละอองเมฆเหนือขุนเขา”

การประกวดรอบนี้มีผลงานของกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยด้วย เช่น “กางใจ” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล และ “หมื่นลี้เดียวดาย” ของมหา สุรารินทร์ นามปากกาของชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต

นอกจากนี้ ยังมีผลงานของกวีซีไรต์ “บ้านเก่า” (2544) ‘โชคชัย บัณฑิต’ ส่งผลงานรวมเล่ม “ฝูงนกเหนือวิหาร” รวมบทกวีปริ๊นต์ออนดีมานด์ จำนวน 63 ชิ้น เนื้อหาสะท้อนมุมมองของสังคมผ่านโลกออนไลน์และชีวิตจริง ซึ่งเคยได้รับรางวัลดีเด่นประเภทกวีนิพนธ์จากเวทีประกวด สพฐ. ปี 2564

 

ปีนี้มีกวีหญิงส่งผลงานร่วมประกวดหลายเล่ม แบ่งเป็นผลงานประเภทฉันทลักษณ์ เช่น “ดวงตากวี” ของรินศัทธา กาญจนวตี “ดวงตาของมหาสมุทร” ของจามรี ตันไพฑูรย์ดิถี “มิปรารถนาเป็นอื่น” ของกวิสรา ม่วงงาม “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ “แม่น้ำ หญิงสาว ฤดูกาล” ของชนากานต์ เหลียงพานิช “ลูกเคลื่อนโลก” และ “ล้วนคือของขวัญบรรณาการ” ของสิริวตี ผลงานประเภทไร้ฉันทลักษณ์ เช่น “ข้ามคืน” ของแสงเดือน “จุลศักราช” ของรวิวาร “ดอกไม้ สายน้ำ ความรัก” ของแม่น้ำ เรลลี่ “โลกสันนิวาส” ของมุทิตา และ “ฤดูหนาวในบางเช้า” ของซามิยอ เป็นต้น

ส่วนผลงานของกวีรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองคือ “ประเทศไร้ทรงจำ” ของรอนฝัน ตะวันเศร้า

ทั้งนี้ มีผลลงานของภิกษุ เช่น “ณ ฤดูหนาว” ของสาคร ชิตังกรณ์ และภิกษุณี เช่น “เงามายา ย่อมทดสอบความบอบบาง” ของมนพิสุทธิ์ พิทักษ์สันติภาพ ส่งเข้าประกวดด้วย

และอาชีพครู-อาจารย์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากที่สุด ส่วนภูมิภาคที่ส่งผลงานมากสุด ได้แก่ ภาคอีสาน รองลงมาก็ภาคใต้

 

แน่นอนว่าการประกวด ท้ายที่สุดย่อมมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว และผลงานเล่มไหนจะผ่านเข้ารอบบ้าง โปรดติดตามและร่วมลุ้นกันต่อไป

อย่าลืมว่าเวทีซีไรต์วัดกันที่ “ความสร้างสรรค์” ไม่ว่าเรื่องการออกแบบเนื้อหา กลวิธีเล่า คอนเซ็ปต์งานชุด เอกภาพของทั้งเล่ม การเชื่อมร้อย ความเป็นสากล ให้สมกับชื่อรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนนั่นเอง