‘รองรอย-ผช.โจ๊ก’ โชว์ฝีมือ มะกันพอใจปราบ ‘ค้ามนุษย์’ ลุ้นทิปรีพอร์ตไทยอัพ ‘เทียร์ 2’/บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

‘รองรอย-ผช.โจ๊ก’ โชว์ฝีมือ

มะกันพอใจปราบ ‘ค้ามนุษย์’

ลุ้นทิปรีพอร์ตไทยอัพ ‘เทียร์ 2’

 

ตุ๊มๆ ต้อมๆ ปลายมิถุนายนนี้ สหรัฐอเมริกาประเมินรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย หรือทิปรีพอร์ต แล้ว

ตอนนี้สถานะไทยถูกลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ มาอยู่อันดับ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) เป็นเวลา 2 ปีติดกันแล้ว

หากไม่ได้รับการแก้ไข จะถูกปรับระดับเป็นเทียร์ 3 (Tier 3) โดยอัตโนมัติ ยิ่งซ้ำเติมประเทศให้อยู่ในสถานะยากลำบากขึ้นไปอีก จากภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง อาหารขาดแคลน จากสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน, โควิด-19 และฝีดาษลิง ที่โลกเผชิญอยู่

จับตาไปที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวเรือใหญ่ขับเคลื่อน “วาระแห่งชาติ” เรื่องนี้ค่อนข้างพึงพอใจหลังรับทราบการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน

จากกรณีคณะผู้แทนไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และองค์กรภาคประชาสังคม เดินทางไปที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าหารือการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์กลางพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยในส่วน ตร.นำทีมโดย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตานีละบุตร ผบช.รร.นรต. และ พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1

ทันที “ผู้ช่วยโจ๊ก” กลับมาถึงไทย ได้แถลงให้ทราบว่า การเดินทางไปชี้แจงรัฐบาลสหรัฐครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากสหรัฐกำลังประเมิน “ทิปรีพอร์ต” อยู่

ปรากฏว่า ทางการสหรัฐมีความพอใจอย่างยิ่งในการปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ถือเป็นผลงานอย่างก้าวกระโดด สถิติที่สูงขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 5 เท่าตัว มีผลการยึดทรัพย์จำนวนที่สูง

และมีจำนวนคดีที่สั่งไม่ฟ้องลดลงอย่างน่าพอใจ เป็นผลมาจากการประสานงานให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมกับพนักงานสอบสวน ในการตรวจสำนวนคดีก่อนส่งฟ้อง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน ทำให้สหรัฐมีความพึงพอใจในด้านการปราบปรามและการดำเนินคดีผู้กระทำผิดค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ สหรัฐได้ให้ความสนใจและซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการในการดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเสนอแนวทางการประสานงานช่วยเหลือคนไทยจากกัมพูชา

“การช่วยเหลือเหยื่อ หรือผู้เสียหายโดนหลอกลวงไปค้ามนุษย์ที่กัมพูชา มีหมายจับขบวนการทั้งสิ้นกว่า 100 หมายจับ ตำรวจจะช่วยเหลือให้กลับบ้าน แต่ทั้งเหยื่อและไม่ใช่เหยื่อค้ามนุษย์จะถูกดำเนินคดีหมดทุกราย กรณี 1.ออกนอกประเทศผิด พ.ร.บ.ตม. 2.ออกไปทำงานต่างแดนโดยไม่แจ้งกระทรวงแรงงานทราบ ผิด พ.ร.บ.แรงงาน เฉลี่ยคนไทย 1 คนถูกปรับ 2 หมื่นบาท ส่วนคนที่เป็นเหยื่อจะเข้าคัดแยกร่วมกับทีมสหวิชาชีพ แล้วไล่ดำเนินคดีย้อนหลัง ตอนนี้ยังเหลือผู้ต้องหาคนไทยที่ยังตามจับกุมตัวไม่ได้ เพราะอยู่ในกัมพูชา 31 ราย ซึ่งผมจะไปกัมพูชาอีกครั้งเพื่อเอาหมายจับประสานกับรัฐบาลกัมพูชา เอาตัวกลับมาลงโทษในประเทศไทย”

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์แจกแจง

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ชี้ให้เห็นสถิติที่สูงขึ้นว่า ผลการจับกุมคดีค้ามนุษย์เปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2563 มีการจับกุม 133 คดี ปี 2564 จำนวน 188 คดี และปี 2565 จับกุมแล้ว 103 คดี

นั่นคือ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เข้ามานั่งผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) และตนเป็นรอง ผอ. เป็นระยะเวลา 8 เดือน (ตุลาคม 2564-พฤษภาคม 2565) มีการจับกุมคดีค้ามนุษย์ถึง 193 คดี

ส่วนคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชน ปี 2563 จับกุมจำนวน 83 คดี ปี 2564 จับกุม 79 คดี และปี 2565 จับกุม 173 คดี ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายในกัมพูชา 857 ราย ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ทั้งสิ้น 20 คดี ออกหมายจับผู้ต้องหา 82 หมายจับ ผู้ต้องหา 66 คน จับกุมแล้ว 27 คน อยู่ระหว่างจับกุม 39 คน

และมีจำนวนคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ปี 2563-2564 จำนวน 17 คดี ขณะที่ปีนี้ยังไม่มี

 

รอง ผอ.ศพดส.ตร. บอกว่า มาตรการสำคัญการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ไม่ใช่ปราบปรามอย่างเดียว แต่ “การยึดทรัพย์” และดำเนินการทางภาษี ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์หมดเรี่ยวหมดแรงไม่มีกำลังกลับค้ามนุษย์ใหม่

ปี 2560-2654 มีการยึดทรัพย์ดังนี้ ปี 2560 จับ 21 คดี ยึดทรัพย์ 33.8 ล้านบาท, ปี 2561 จับ 15 คดี ยึดทรัพย์ 477 ล้านบาท, ปี 2562 จับ 15 คดี ยึดทรัพย์ 8.5 ล้านบาท, ปี 2563 จับ 20 คดี ยึดทรัพย์ 51.2 ล้านบาท และปี 2564 จับ 12 คดี ยึดทรัพย์ 4.9 ล้านบาท

“ขณะปี 2565 ที่ผมกับรองรอยมารับผิดชอบ จับกุม 12 คดี มีวงเงินหมุนเวียน 1,630 ล้าน โดยเป็นทรัพย์สิน บ้าน รถยนต์ 142 ล้าน ใช้เวลาแค่ 5 เดือน” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ย้ำ และบอกอีกว่า คณะผู้แทนไทยยังเสนอให้มีการพิจารณาสถานการณ์ปัญหาค้ามนุษย์ในอนาคต เป็นการแก้ไขในระดับภูมิภาค เพราะไทยอยู่ในฐานะประเทศทางผ่าน ที่ผู้กระทำผิดมักจะใช้ในการลักลอบขนเหยื่อค้ามนุษย์ไปสู่ประเทศที่สาม มิใช่ประเทศต้นทางหรือปลายทาง

ขณะที่ทางการสหรัฐให้ข้อแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้การแก้ปัญหาของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้เพิ่มเติมการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ทั้งระบบ และจริงจัง

“สิ่งที่อเมริกาอยากเห็นจากไทย คือการป้องกันและการทำร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานในการป้องกัน การคัดแยกเหยื่อ เมื่อมีการจับกุมแล้ว พม.ต้องเร่งรัดจ่ายเงินเยียวยา ค่าสินไหมให้เร็ว เอาเด็กสู่อ้อมอกพ่อแม่ โดยคำนึงถึงเด็กเป็นศูนย์กลาง และเยียวยาบาดแผลจิตใจเด็ก ส่วนกระทรวงแรงงานต้องเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน บังคับตรวจโรงงาน และนายหน้า รวมทั้งการปราบปรามทุจริตเจ้าหน้าที่ภาครัฐ” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าว

เท่ากับว่าตอนนี้ “ไทย” ทำเต็มที่แล้ว แต่ผลออกมาเป็นอย่างไรอยู่ที่ดุลพินิจทางการสหรัฐ