คำตอบที่ชัดเจนกว่า/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

คำตอบที่ชัดเจนกว่า

 

ก่อนหน้าที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จะชนะ สังคมไทยยังไม่พูดถึงว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองระดับชาติมากนัก

ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คงไม่ทำให้เกิดความชัดเจนอะไรมากมายจนทำให้เกิดการสรุปว่าจะเกิดผลสะเทือนอย่างไร เพราะเชื่อกันว่าความแตกต่างของคะแนนเสียงคงไม่ทำให้ใครมาจะมาสรุปกันง่ายๆ ว่า ระหว่าง “อำนาจนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” นั้น ประชาชน กทม.เลือกการปกครองแบบไหนอย่างชัดเจน

กระทั่งเป็นชัยชนะแบบถล่มทลาย คะแนน “ชัชชาติ” ทิ้งห่างไม่เป็นฝุ่น แตกต่างกับที่ 2 กว่า 1 ล้านคะแนน

เพราะผู้ชนะอย่างท่วมท้นมีความชัดเจนว่ายืนอยู่ข้างประชาธิปไตย ทำให้สายตาที่มองไปยัง “อำนาจนิยม” เริ่มรับรู้ถึงความเสื่อมถอย

และที่ตามมาคือการเปรียบเทียบ “ผู้ว่าฯ กทม.” กับ “นายกรัฐมนตรี” ในทุกมิติ ซึ่งภาพความแตกต่างที่ชัดเจนทำให้เกิดแรงกดดันสูงยิ่งต่อการเมืองในภาพใหญ่

แม้ผลสำรวจล่าสุด “นิด้าโพล” เรื่อง “ผลกระทบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อการเมืองระดับชาติ” จะออกมาในทางที่ทำให้ “นายกรัฐมนตรี” มีเหตุผลที่จะชี้ให้ประชาชนได้เห็นโดยไม่ต้องกังวล คือ เพราะที่มองว่าสร้างผลกระทบ กับไม่กระทบนั้นมีเปอร์เซ็นต์ไม่ทิ้งห่างกันมากนักคือ

ในคำถาม “คิดว่าชัยชนะของชัชชาติจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเมืองระดับชาติ”

ร้อยละ 38.88 คาดว่าจะส่งผลในทางลบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 32.53 ระบุว่า จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล

ขณะที่ความเห็นปลีกย่อยร้อยละ 15.96 ระบุว่า เป็นแค่การเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งเท่านั้น, ร้อยละ 9.53 ระบุว่า อาจมีการยุบสภาเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้, ร้อยละ 8.40 ระบุว่า จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ในกรุงเทพฯ เท่านั้น, ร้อยละ 6.43 ระบุว่า สังคมไทยจะเผชิญกับความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองมากขึ้น, ร้อยละ 6.35 ระบุว่า สังคมไทยได้ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือการแบ่งฝ่ายทางการเมืองแล้ว, ร้อยละ 4.99 ระบุว่า พรรค/กลุ่มการเมือง ฝ่ายค้านจะเกาะกระแส ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการต่อต้านรัฐบาล, ร้อยละ 3.33 ระบุว่า รัฐบาลจะอยู่ยาวเพื่อหาทางสร้างคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น และร้อยละ 2.12 ระบุว่า บางพรรคอาจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเพื่อเอาตัวรอด

นั่นเป็นความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจของ “นิด้าโพล”

 

ถ้าเชื่อตามข้อมูลนี้ ย่อมมีความเห็นไปในทางที่ว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าประชาชนเชื่อมั่นในประชาธิปไตยมากกว่าอำนาจนิยมแบบทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น เหมือนผลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

หากติดตามกระแสสังคมมาอย่างใกล้ชิดจะพบว่า ในช่วงหาเสียงนั้นผู้สมัครแต่ละคนล้วนเชื่อมั่นว่าตัวเองมีโอกาสชนะทั้งนั้น และถึงแม้จะรู้ว่าจะแพ้ก็ไม่มีความคิดว่าจะแพ้กันมากมายขนาดนั้น เช่นเดียวกับกองเชียร์ หรือกระทั่งประชาชนทั่วไป ไม่มีใครนึกจะชนะกันขาดลอยถึงขนาดนี้

ทว่า กระแสในโลกออกออนไลน์กลับไม่เป็นเช่นนี้ ใครที่ท่องโลกออนไลน์จะสัมผัสได้ชัดเจนถึงกระแส “ประชาธิปไตยฟีเวอร์”

“อำนาจนิยม” คือความน่ารังเกียจในกระแสออนไลน์

ปกติกระแสออนไลน์กับในโลกแห่งความเป็นจริง จะไปคนละเรื่องกัน

แต่คราวนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น กระแสในโลกความเป็นจริงกลับไม่ต่างเลยกับในโลกออนไลน์

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อการเปรียบเทียบระหว่าง “พล.อ.ประยุธ์ จันทร์โอชา” กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มีข้อสรุปที่ชัดเจนทุกมิติในโลกออนไลน์

ผลจากคะแนนของ “ชัชชาติ” ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ย่อมมีเหตุผลที่จะสรุปว่าย่อมสะเทือนต่อการเมืองระดับชาติแน่นอน

หากยังลังเลในข้อสรุปนี้ จับตาดูความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ในทิศทางของอุดมการณ์ที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นว่า ยึดมั่นในระบบการเมืองแบบไหนได้เลย