จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (20)

แว่วข่าวเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” หนาหูขึ้นมาอีกแล้วช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งอันที่จริงมันควรจะเป็นเวลานับถอยหลังไปสู่การ “เลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน (ตามสัญญา) มากกว่า

คิดถึงอาจารย์คึกฤทธิ์ขึ้นมาจับจิตจับใจ

เพราะว่าท่านสร้างแบบอย่างเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไว้ไม่น้อย

เมื่อบ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญ และท่านต้องการเล่นการเมือง ท่านก็ลาออกจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อตั้งพรรคการเมือง (กิจสังคม) ขึ้นเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง

พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขการเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีของตนเองเหมือนกับหลายครั้งๆ ต่อมาว่า จะเข้าเป็น “นายกรัฐมนตรี” ในระบอบประชาธิปไตยโดยผ่านการ “เลือกตั้ง” เท่านั้น

 

ในสมัยรัฐบาลซึ่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เสียชีวิต) เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2522 รัฐบาลประสบกับปัญหามากมายสารพัดอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และถูกกดดันจากหลายฝ่ายทั้งการเมือง กองทัพ

ท่านเคยพยายามหาทางออกไปในทางเดียวกับกลุ่มนายทหาร ที่เสนอให้จัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” และจะเชิญอาจารย์คึกฤทธิ์ให้เป็นประธานสภา หรือรองนายกรัฐมนตรี

เมื่อผู้สื่อข่าวถามเรื่องนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบว่า “คนอย่างผมไม่เป็นที่สองรองใคร”?

แทนที่จะหาทางปรับปรุงคณะรัฐมนตรี กลับหันไปหาแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ว่า

“ต้องตกลงกันก่อนว่าจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องมีนโยบายด้วย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเอาคนมาล้อมวงกันแล้วเรียกรัฐบาลแห่งชาติ”

 

ท่านพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองอาวุโสที่รักประชาธิปไตยมากมายคนหนึ่ง ท่านยังเป็นห่วงประเทศชาติบ้านเมือง ต้องการเห็นความ “ปรองดอง” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็ออกอาการสิ้นหวังพอสมควร

ท่านพูดถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ว่า “มีข้อเสียตรงที่หงุดหงิดเกินไป พูดจากระโชกโฮกฮาก หากเปรียบเทียบกับ พลเอกเปรม (ติณสูลานนท์ ท่านประธานองคมนตรี) ที่เป็นทหาร ไม่ได้เป็นผู้แทนฯ แต่นิ่มนวล ก็ทำให้ประชาชนรักได้ อยากให้ลดโทนลงบ้าง เพราะถ้าหัวหน้ารัฐบาลโผงผางตอบโต้ไปหมด การปรองดองทำยากเหลือเกิน ผมไม่ได้ไปสอนท่าน”

ขณะเดียวกัน การหายตัวไปของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้การปรอดดองห่างไกลออกไป

ท่านพิชัยต้องการเห็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งออกมาสวยงามโดยพรรคการเมืองใหญ่ อย่างเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

ฟังดูก็ไม่มีทางเป็นไปได้ รวมทั้งการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่พอมีข่าวนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต่างก็ออกมาค้านกันแบบชนิดประสานเสียง

นายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มี “อำนาจพิเศษ” มากมายก็ไม่ให้ความสนใจ

 

ทุกวันนี้พรรคการเมือง นักการเมืองตกอยู่ในสภาพเป็นผู้ร้ายของสังคมในสายตาของทหาร

ซึ่งจะว่าไปรัฐบาลทหารก็มีส่วนเป็นอย่างมากในการผลักดัน ชี้นำสร้างเหตุการณ์ต่างๆ กระหน่ำซ้ำเติม จนทำให้ภาพของนักการเมืองโดยรวมกลายเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ

ยิ่งมีการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นยิ่งไปกันใหญ่ ทั้งๆ อันที่จริงกับประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ไม่ว่าจะกลุ่มไหน สีอะไร ข้าราชการทหาร ตำรวจก็ล้วนแล้วแต่สามารถจะทุจริตด้วยกันทั้งนั้นเมื่อมีช่องทางและโอกาส

ปัญหานี้ถูกแก้ไขด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร เอากำลังเข้ายึดอำนาจของประชาชน และบอกว่าจะขจัดปัดเป่าคนไม่ดีให้หมดไปจากแผ่นดิน แต่กลับไม่เคยเห็นจะสำเร็จสักครั้ง หมุนเวียนไปตามกาลเวลานานนับนานรุ่นต่อรุ่น ประวัติศาสตร์ได้รับการบันทึกไว้ประหนึ่งว่า “สมบัติผลัดกันชม” หรือบางทีเรียกกันว่า “เหลือบฝูงใหม่”

ระบอบประชาธิปไตย ควรจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไข ให้ประชาชนตรวจสอบตัวแทนประชาชนกันเอง ปกครองกันเอง ค่อยๆ ให้มันเป็น เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามเวลา ซึ่งอันที่จริงแล้วในทุกวันนี้การตรวจสอบ การรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินก็ดูจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขอเพียงแต่ว่ากติกามันควรจะดำเนินไปด้วยความเป็น “ธรรม” และ “เสมอภาค”

 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยในบ้านของเราไม่เหมือนประเทศไหนในโลกล้มลุกคลุกคลานตลอดมา ทหาร “ปฏิวัติ” แล้ว “ปฏิวัติ” อีก บางครั้งทำท่ามีโอกาสจะเบ่งบานทั้งนักการเมือง นักประชาธิปไตยทั้งหลายก็หลงใหลหลงระเริงทำอะไรๆ กันจนออกนอกลู่นอกทาง จนทหารมีข้ออ้างยกขบวนกันออกมายึดอำนาจเสียทีหนึ่ง หมุนเวียนกันไปอย่างนี้ ประชาชนก็ต้องมาเริ่มต้นต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิก หรือที่เรียกว่าฉีกทิ้งไปให้กลับมาเริ่มต้นจัดทำกันใหม่

บางครั้งนักการเมือง นักประชาธิปไตยก็เป็นผู้ไปเรียกร้องให้ทหารออกมา “ยึดอำนาจ” เสียเอง นี่แหละประเทศไทย

นักการเมืองรุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ต่อสู้เพื่อให้ประชาชนได้ปกครองตัวเอง บัญญัติศัพท์กันต่างๆ นานาว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ บ้าง ประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง ฯลฯ ซึ่งไม่รู้ว่าชั่วชีวิตจะยังคงหมุนเวียนอยู่ในสภาพนี้ คือ เห็นทหารรุ่นลุง รุ่นพ่อ รุ่นพี่ รุ่นเดียวกันจนกระทั่งถึงรุ่นน้องห่างไกลสุดกู่จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานตบเท้ากันออกมา “ปฏิวัติ”

ยังกับว่าเป็นประเพณีของประเทศนี้

รัฐบาล (ทหาร) ปัจจุบันก็บอกว่าเป็นเพราะนักการเมืองทะเลาะเบาะแว้งถึงขนาดแบ่งฝ่ายยกพวกเข้าเข่นฆ่าประหัตประหารกันเอง จึงมีความจำเป็นต้องออกมา “ยึดอำนาจ” แล้วก็ขอเวลาจัดระเบียบใหม่ วางกฎกติกาใหม่ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจะคืนความสุขให้ประชาชน แต่ดูเหมือนว่าใช้เวลานานมากเกินไปหรือไม่?

กติกาที่จัดทำจัดการกันขึ้นมาใหม่นั้นถามประชาชนบ้างหรือเปล่าว่าเขาต้องการอย่างนั้นละหรือ?

ทำไมไม่เป็นเพียงแค่ผู้ควบคุมประคับประคองปล่อยให้เจ้าของประเทศเขาเลือกคนของเขามาจัดทำกติกาในการปกครองตัวเอง เพราะสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอาจไม่ใช่อย่างที่พวกท่านคิด

ให้เขาทะเลาะเบาะแว้งถกเถียงกัน จัดทำกติกาแก้ปัญหากันเอง กองทัพ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองซึ่งกินภาษีประชาชนทั้งหลายเพียงแค่คอยดูแลไม่ให้เจ้าของประเทศเกิดการเข่นฆ่ากันเองเท่านั้น

ไม่เคยเชื่อเลยว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้บนความไม่เป็นธรรม ผู้ปกครองที่กุมอำนาจอยู่ ผู้รักษากฎกติกาทั้งหลายไม่เป็นกลาง และไม่เคยมีความหวังเลยว่าการคืนอำนาจประชาชนให้เขาเลือกผู้ปกครองของเขาเองจะเกิดขึ้นในเร็ววัน

เหมือนกับไม่เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าผู้บริหารที่มาจากกองทัพจะสามารถลงจากอำนาจได้ด้วยความสง่างาม

อยากให้เหลียวหลังกลับไปพลิกดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรี รัฐบาลทหารที่มาจากการ “ยึดอำนาจ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 มาถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ ฯลฯ ว่า–วันที่ท่าน “ผู้ยิ่งใหญ่” เหล่านี้ลงจากหลังเสือนั้นเป็นอย่างไร?

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพียงท่านเดียว ที่สามารถแลนดิ้งได้อย่างสวยงามด้วยประโยคที่ว่า “ผมพอแล้ว” ระหว่างที่พรรคการเมืองทั้งหลายหลังเสร็จจากการเลือกตั้งแล้วยินยอมพร้อมใจไปขอให้ท่านเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไปอีก

ฉะนั้น “เปรมโมเดล” จึงมีผู้พยายามคิดให้เกิดขึ้นอีกโดยพยายามเปรยๆ เหมือนเป็นการโยนหินถามทางกันขึ้นมาบ้างเหมือนกัน นัยว่าต้องการให้รัฐบาลต่อไปเป็นอย่างรัฐบาลท่าน (อดีต) นายกฯ เปรม แต่กลับลืมกันไปรึเปล่าว่าตัวบุคคล เงื่อนไขต่างๆ ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ถึงวันนี้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้นแล้ว

อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวไว้เมื่อปี พ.ศ.2522 ว่า พร้อมจะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามวิถีทางประชาธิปไตยโดยผ่านการ “เลือกตั้ง” เท่านั้น

ไม่คิดถึงท่าน แล้วจะไปคิดถึงใคร?