กระแส”คลีนแต่H่วย”แรง!!! จาก”เรือเหี่ยว”ถึง “ไม้ล้างป่าช้า”ยกมือขึ้น ใครรับผิดชอบ!!

“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อดีต ผบ.ทบ. ในบ้าน “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” หนึ่งในขบวน “คสช.” กลายเป็นตำบลกระสุนตก เป้าใหญ่ถูกโจมตีหลายเรื่องในรอบเดือนกันยายนนี้

เริ่มจากอวสาน “เรือเหาะ” หรือ “เรือเหี่ยว” หลัง “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ระบุ ผืนผ้าบอลลูนหมดอายุใช้งานแล้ว เตรียมปลดประจำการ เกรงกำลังพลอันตราย ทดลองนำกล้องตรวจการณ์ไปติดอากาศยานแทน หลังจัดซื้อปี 2552 กว่า 350 ล้านบาท สมัย “บิ๊กป๊อก” เป็น ผบ.ทบ. โดยเข้าประจำการที่ พล.ร.15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แต่ไม่สามารถบินได้สูง 3,000 เมตร ตามสเป๊ก แต่บินจริงได้เพียง 1,000 เมตร และมีรูรั่วต้องทำการปะรูที่มีอยู่หลายจุด

พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า มูลค่าจัดซื้อรวม 350 ล้านบาท แบ่งเป็นราคาตัวกล้อง 250 ล้านบาท 5 ตัว ซึ่งตัวกล้องยังใช้การได้ดี โดยติดไว้กับแท่นเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ส่วนอีก 2 กล้องติดอยู่ที่เรือเหาะซึ่งยังใช้การได้ ขณะที่ตัวเรือเหาะและโรงเก็บ ราคาอยู่ที่ 100 ล้านบาท

“ผมเห็นด้วยหากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบทุจริต จะได้ไม่นำมาวิจารณ์โดยไม่มีข้อมูล แม้การจัดซื้อเรือเหาะจะเกิดขึ้นในสมัยที่ผมเป็น ผบ.ทบ. แต่หากจะตรวจสอบก็ต้องดูว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง ทั้งการรับของ การทำสัญญา รวมถึงผู้ใช้งาน ซึ่งผมพ้นจากตำแหน่งนานแล้ว จึงบอกไม่ได้ว่า หากมีการปรับเปลี่ยนสภาพการใช้งานของเรือเหาะตรวจการณ์ จะทำได้ในรูปแบบใดบ้าง เพราะช่วงการจัดซื้อ ผมไม่ได้เป็นผู้พิจารณาโดยตรง ฉะนั้น จะต้องตรวจหาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จะตรวจสอบเฉพาะเกิดในสมัยผมอย่างเดียวไม่ได้”

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

สมัย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ. ได้ให้บริษัทที่ผลิตทำการเปลี่ยนผ้าใบบอลลูนที่เป็นรูรั่วซึม และจ้างบริษัทเอกชนมาซ่อมบำรุงเพื่อให้บินได้และเติมก๊าซฮีเลียม ปีละ 50 ล้านบาท

epa02065645 Thai soldiers and US technicians set up a surveillance airship at a military barracks in the restive Muslim majority province of Pattani, southern Thailand, 05 March 2010. Thai military purchases the 350-million-baht (10.7 million US dollars or 7.8 million euro) surveillance airship aimed to restore peace in the three troubled Muslim dominated provinces in Thailand’s deep south amid question that could be another waste of state funds. More than 4,000 people have died in government crackdowns, bombings, revenge killings and beheadings since 2004 in three Muslim majority provinces of Narathiwat, Pattani and Yala. EPA/ABDULLAH WANGNI

ต่อมาในปี 2557 เรือเหาะลงจอดฉุกเฉินกลางทุ่งนา ต.ยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี หลังเกิดลมแรงทัศนวิสัยไม่อำนวย แต่ไม่ได้รับความเสียหาย โดยเรือเหาะตลอด 8 ปี บินขึ้นไม่เกิน 20 ครั้ง

ครั้งสุดท้ายคือกลางปี 2557 ก่อนจะจอดอยู่ในโรงมา 3 ปีเต็ม จนมาปลดประจำการ

ทั้งนี้ “เสธ.ต๊อด” พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ได้ชี้แจงกรณี ทบ. จะจำหน่ายและหยุดใช้งานเรือเหาะ ว่า องค์ประกอบหลักของระบบโครงการนี้มีอยู่ 2 รายการ ใช้วงเงินรวม 340 ล้านบาท โดยย้ำว่าส่วนที่ปลดประจำการมีเพียง “ตัวเรือเหาะ” คิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ หรือ 66.8 ล้านบาท จากเงิน 340 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือ 81 เปอร์เซ็นต์ยังใช้การได้อยู่

รายการแรก คือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ 209 ล้านบาท

มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วนคือ ส่วนแรก ตัวเรือเหาะ ใช้วงเงินจัดหา 66.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมูลค่า 19 เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่สองคือ ระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 2 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ 87 ล้านบาท

ส่วนที่สามคือ ระบบสถานีรับสัญญาณ แบบสถานีประจำที่ และสถานีเคลื่อนที่ด้วยรถหุ้มเกราะ 40 ล้านบาท

ส่วนที่สี่คือ โรงเก็บเรือเหาะและอุปกรณ์บริภัณฑ์ภาคพื้น 9 ล้านบาท

รายการที่สองคือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยอากาศยาน (ฮ.) 131 ล้านบาท มีระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 3 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ 3 ชุด เพื่อใช้ติดตั้งกับอากาศยานที่มีอยู่แล้วในอัตราปกติของ ทบ.

พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมาภาพรวมของระบบมีเพียงตัวเรือเหาะที่มีปัญหาขลุกขลักบ้างในระยะแรกๆ รวมถึงเคยมีการชำรุดหนักเนื่องจากการลงจอดฉุกเฉินรุนแรงด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อช่วงปลายปี 2554 แต่ ทบ. ได้ดำเนินการจนกระทั่งเรือเหาะสามารถกลับใช้งานได้

 

แต่ “ตัวเรือเหาะ” มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แตกต่างจากเครื่องบิน (ยูเอวี) เพราะมีความเงียบ ลอยตัวได้นาน แต่วัสดุทำตัวเรือเหาะมีลักษณะเป็นผ้าใบ จึงมีข้อจำกัดในอายุการใช้งาน เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งในอนาคตกรณีมีการหยุดงดใช้เรือเหาะในภารกิจของระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายแล้ว ตัวระบบหลักที่เหลือมีสัดส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ โดยอาจนำไปใช้ในระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายโดยทางอากาศยานเป็นหลัก

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป จะมีแผนการจัดซื้อถึง 3 ลำ เพื่อให้ครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้นำร่องมาใช้ก่อน 1 ลำ ประจำที่ จ.ปัตตานี และได้ยุติไป หลังลำแรกพบปัญหาจำนวนมาก

ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำการตรวจสอบการจัดซื้อเรือเหาะ โดยการพิจารณาเอกสารหลักฐานการใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และตรวจสอบถึงการใช้งานว่ามากน้อยเพียงใด โดยจะใช้เวลาตรวจสอบภายใน 30 วัน

“ยืนยันไม่มีความกังวลใดๆ ในการตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะได้ติดตามและรวบรวมข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลของ สตง. โดยตลอด เพราะเป็นประเด็นที่สังคมอยากรู้คำตอบ สตง. จะนำข้อมูลที่มีอยู่มาประเมินร่วมกับพยานหลักฐานที่ส่งมา ซึ่งไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน” นายพิศิษฐ์กล่าว

ผลตรวจของ “สตง.” จึงเป็นจุด “ชี้เป็นชี้ตาย” ของ “เรือเหาะ” และ “ขบวนผู้เกี่ยวข้อง” ว่าจะมี “ชะตากรรม” อย่างไรต่อไป?

ปม “เรือเหาะ” ยังไม่ทันหายเหม็น กรณี “GT-200” ก็โผล่ขึ้นมาอีก หลังปี 2556 ศาลอังกฤษได้ตัดสิน นายแกรี่ โบลตัน ผู้จัดจำหน่ายเครื่อง “GT-200” ถูกจำคุก 7 ปี ในคดีฉ้อโกง หลังตรวจพิสูจน์พบว่า “GT-200” เป็นเพียงกล่องพร้อมด้ามจับผลิตเองและสายอากาศ แต่ นายแกรี่ โบลตัน อ้างว่าสามารถตรวจจับได้ทั้งกระสุน วัตถุระเบิด ยาเสพติด ยาสูบ งาช้าง เงินสด ร่างกายมนุษย์ โดยสามารถตรวจจับได้ทั้งบนบก ในน้ำ บนอากาศ ใต้น้ำ ใต้ดิน

เครื่อง “GT-200” มีชื่อทางการว่า “เครื่องตรวจจับสสารระยะไกล (remote substance detector)” โดยผู้จัดจำหน่ายระบุถึงกลไกการทำงานว่า จะใช้ไฟฟ้าสถิตบนร่างกายในการตรวจหาสสาร ตามประเภทของ “เซ็นเซอร์การ์ด” ที่ใส่เข้าเครื่อง โดยเสาอากาศจะส่ายไปทางที่มีสสารที่ต้องการค้นหา

หากย้อนไทม์ไลน์ “GT-200” เริ่มวางจำหน่ายปี 2544 โดยบริษัท โกลบอล เทคนิคัล จำกัด (Global Technical Limited) ของอังกฤษ โดยมีนายแกรี่ โบลตัน เป็นเจ้าของ โดยกองทัพอากาศเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่จัดซื้อ “GT-200” เมื่อปี 2548 โดยจัดซื้อเครื่องละ 9.66 แสนบาท

ทั้งนี้ ช่วงปี 2548-2553 หน่วยงานรัฐของไทย 15 หน่วยงาน ได้จัดซื้อ “GT-200” รวม 1,398 เครื่อง กว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาเครื่องละ 4.26 แสนบาท ถึง 1.38 ล้านบาท ในภารกิจตรวจวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ภาคใต้ และการตรวจสอบหาสารยาเสพติดบริเวณพื้นที่ชายแดน

จุดพลิกคือปี 2552 เครื่อง “GT-200” ทำงานผิดพลาด ทำให้เกิดเหตุระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จ.นราธิวาส และตลาดสด จ.ยะลา จนมีการตั้งคำถามถึง “ประสิทธิภาพ” ของ “GT-200” โดยวิธีการทาง “วิทยาศาสตร์”

จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไม้ล้างป่าช้า” หลัง นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า “GT-200” ไม่ต่างจาก “ไม้ล้างป่าช้า” เพราะไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับในการทำงาน

ต่อมาปี 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวว่า ผลการทดสอบ “GT-200” 20 ครั้ง หาวัตถุระเบิดได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง พร้อมเปรยว่าการใช้สุนัขดมกลิ่นได้ผลแม่นยำกว่า

“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ ผบ.ทบ.ขณะนั้น ก็ต้องยอมรับในความไร้ประสิทธิภาพของเครื่อง “GT-200” พร้อมเตือนกำลังพลที่ใช้ “GT-200” ทำให้ต้องปลดประจำการไป แต่ก็ยังมีการใช้อยู่ในพื้นที่อยู่บ้าง เพราะยังไม่มีอุปกรณ์ใดมาทดแทนได้ในเวลานั้น

แต่หน่วยงานที่จัดซื้อมากที่สุดคือกองทัพบก โดยกรมสรรพาวุธทหารบก รวม 12 สัญญา 757 เครื่อง 682 ล้านบาท คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวน “GT-200” ที่มีประจำหน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อทั้งหมด

ช่วง พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. มีการลงนามจัดซื้อกว่า 11 สัญญา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึงกันยายน 2553 โดยการทำสัญญาจัดซื้อฉบับแรก เกิดขึ้นในสมัย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น แต่เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ช่วงตุลาคม 2548 ถึงกันยายน 2550

ล่าสุด อดีตฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “เรือเหาะ-GT 200” ออกมาชี้แจงว่า สื่อไปตั้งธงตัดสินว่า “โกง” แล้ว ก่อนผลการตรวจสอบออกมา แต่ไม่เคยถามถึง “ความคุ้มค่า” ว่าเป็นอย่างไร ทำให้ประชาชนตราหน้าว่า “โกง” ไปแล้ว

นาทีนี้ กระแส “คลีนแต่Hวย” กำลังมาแรงมาก!!