เหรียญพระทศพลญาณ หลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ มงคลรูปเหมือนรุ่นแรก / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญพระทศพลญาณ

หลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ

มงคลรูปเหมือนรุ่นแรก

 

“พระพิบูลธรรมเวที” หรือ “หลวงพ่อเส็ง พุทธสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดปากท่อ ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พระเกจิทรงวิทยาอาคม และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมีหลายรุ่นด้วยกัน ล้วนแต่ได้รับความนิยม

โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2504 ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ มีเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ รุ่นแรก

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “งานฉลองสมณศักดิ์ พระพิบูลธรรมเวที ๕ ธ.ค. ๒๕๐๕”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม อ่านได้ว่า “มะ อะ อุ” บนยันต์สามมีตัวอุณาโลมอยู่หนึ่งตัว

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญที่ได้รับความนิยมเช่นกัน คือ “เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม”

รุ่นนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2493 เมื่อครั้งหลวงพ่อเส็ง เป็นเจ้าอาวาสวัดยางงาม ที่ระลึกผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดยางงาม โดยถอดพิมพ์คล้ายเหรียญของวัดไตรมิตรฯ สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เช่นกัน

เหรียญพระทศพลญาณ หลวงพ่อเส็ง

ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมาแบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระทศพลญาณ พระประธานของวัดไตรมิตร ประทับนั่งบนฐานชุกชีสวยงาม ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระทศพลญาณ”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “วัดยางงาม ปากท่อ”

ปัจจุบันนับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมและหายาก

หลวงพ่อเส็ง พุทธสโร

มีนามเดิม กิมเส็ง แซ่ภู ต่อมาเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็น สมบูรณ์ ห้าวหาญ พื้นเพท่านเป็นคนบ้านโคกพระเจริญ ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2446 ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ บิดา-มารดา ชื่อ นายเจียวและนางภาพ แซ่ภู

พ.ศ.2466 เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดปากท่อ ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2466 มีพระครูอินทเขมาจารย์ (หลวงพ่อห้อง) วัดช่องลม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการนวม (หลวงพ่อนวม) วัดแจ้งเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดแช่ม วัดโคกพระเจริญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

หลังอุปสมบท ช่วงแรกก่อนเข้าพรรษา จำพรรษาอยู่ที่วัดโคกพระเจริญ และครั้นจวนเข้าพรรษา จึงได้ย้ายมาอยู่ที่วัดปากท่อ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

 

สําหรับวัดปากท่อ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2380 ชื่อวัดตั้งตามชื่อของตลาด เพราะตั้งอยู่ใกล้ตลาดปากท่อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2467 เท่าที่ทราบนาม คือ 1.พระอธิการห่วง 2.พระครูสุภัทรญาณวินิฐ (บุญยัง) 3.พระราชธรรมเสนานี (สุข สุภัทโท) พ.ศ.2476-2501 4.พระวิบูลธรรมเวที (หลวงพ่อเส็ง) พ.ศ.2501-2515 และ 5.พระครูอินทโชติวัฒน์ พ.ศ.2515-ปัจจุบัน

หลวงพ่อเส็งเป็นพระที่มีสติปัญญาเป็นอันมาก สอบได้นักธรรมชั้นตรีในสนามหลวง พ.ศ.2467 ซึ่งสอบได้ในพรรษาแรกที่อุปสมบท

เมื่อท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดปากท่อ 1 พรรษา ได้ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ที่วัดเทพธิดาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาโดยลำดับ

พ.ศ.2472 สอบได้นักธรรมชั้นโท มัชฌิมภูมิและเปรียญธรรม 3 ประโยค

พ.ศ.2475 สอบได้นักธรรมชั้นเอกเถรภูมิ

พ.ศ.2476 สอบได้เปรียญ 4 ประโยค

พ.ศ.2480 สอบได้เปรียญ 5 ประโยค

ในปี พ.ศ.2480 วัดปากท่อ โดยพระราชธรรมเสนานี (สุข สุภัทโท) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูธรรมรสรุจี เจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอปากท่อ ได้ก่อตั้งโรงเรียนสอบพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นสำนักเรียน จึงได้อาราธนามาจำพรรษาเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม

 

ระหว่างจำพรรษาและเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดปากท่อนั้น ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางงามได้ว่างลง จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางงาม โดยมีพระม่วง (พระครูสุนทรจริยาวัตร หลวงพ่อม่วง วัดยางงาม) อาสาเป็นพระอนุจร ติดตามไปจำพรรษาด้วย

ต่อมา จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นที่วัดยางงามตามแบบอย่างที่มีอยู่ที่วัดปากท่อ ถ้ารูปใดมีสติปัญญาเปรื่องปราด ก็จะส่งต่อไปศึกษาที่กรุงเทพฯ และท่านยังได้บูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างเพิ่มเติมภายหลังอีกเป็นจำนานมาก

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2484 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบลจอมประทัด)

วันที่ 6 เมษายน 2487 เป็นพระอุปัชฌาย์

ในปีต่อมา วันที่ 17 สิงหาคม 2488 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสงฆ์อำเภอฝ่ายการศึกษา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอปากท่อ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2489

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2491 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูพิบูลสมณวัตร

ครองเจ้าอาวาสวัดยางงาม จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2501 และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากท่อ หลวงพ่อม่วงจึงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดยางงามสืบแทน

ต่อมาวันที่ 5 ธันวาคม 2504 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะที่ พระพิบูลธรรมเวที นับเป็นพระราชาคณะรูปที่ 2 ของ อ.ปากท่อ

ปกครองวัดปากท่อเรื่อยมา จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2514 สิริอายุ 68 ปี 3 เดือน 7 วัน พรรษา 49 •