GOLEM 2022 สำรวจผลกระทบจากการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผ่านศิลปะการสร้างมนุษย์จำลอง จากซากสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธุ์ / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

GOLEM 2022

สำรวจผลกระทบจากการดำรงอยู่ของมนุษย์

ผ่านศิลปะการสร้างมนุษย์จำลอง

จากซากสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธุ์

 

ในยุคสมัยปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวจนเราไม่รู้สึกรู้สาอีกต่อไป ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรงอันเกิดจากภาวะโลกร้อน

ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศ อย่างฝุ่น PM 2.5

การปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอาหารและน้ำ

การแพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงต่างๆ

วิกฤตการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาตระหนักและใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนในวงการศิลปะ ที่มักจะหยิบเอาปัญหาสิ่งแวดล้อมมานำเสนอ ตีแผ่ และตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นเตือนผู้คนให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ผ่านงานศิลปะเสมอมา

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster

ในจำนวนนั้นมีศิลปินผู้หนึ่งที่ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและจริงจัง

เขาผู้นั้นมีชื่อว่า เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวไทยผู้หลอมรวมความเป็นศิลปะ วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน

เขาทำงานเกี่ยวกับการค้นคว้าทางชีววิทยาที่สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไม่ได้ส่งผลกระทบกับมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต พืช และสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย ผ่านสื่อหลากหลาย

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster

เรืองศักดิ์เดินทางไปเป็นศิลปินพำนักในหลากหลายประเทศเพื่อสำรวจค้นคว้าเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ และเก็บสะสมสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธุ์มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

เขามีผลงานแสดงทั้งเดี่ยวและกลุ่มในพื้นที่ทางศิลปะหลายแห่งอย่าง Gallery VER, Cartel Artspace, 1Projects, SAC Gallery, BACC กรุงเทพฯ, พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม เชียงใหม่, Verbeke Foudation เบลเยียม, LaSalle College of Art สิงคโปร์, KF gallery เกาหลีใต้ และ Palais de Tokyo ฝรั่งเศส

รวมถึงร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะ Taipei biennial ไต้หวัน และ Bangkok Art Biennale 2018 กรุงเทพฯ

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster

ล่าสุด เรืองศักดิ์มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวสองครั้งในสองพื้นที่ในเวลาไล่เลี่ยกัน สองนิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า GOLEM 2022 : Embodying the monster และ GOLEM 2022 : Uncanny ซึ่งเป็นนิทรรศการต่อเนื่องจาก GOLEM โครงการศิลปะระยะยาวที่เรืองศักดิ์ทำอย่างต่อเนื่องมากว่าทศวรรษ

โดยเรืองศักดิ์หยิบยืมแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าในตำนาน ของสิ่งมีชีวิตจำลองที่สร้างขึ้นจากดินเหนียวในนิทานพื้นบ้านของชาวยิว อย่าง โกเลม (GOLEM) ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุไม่มีชีวิต โดยเสกเป่าให้มีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ด้วยเวทมนตร์หรือถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้คอยปฏิบัติรับใช้ หรือป้องกันภัย ตามแต่วัตถุประสงค์ของผู้สร้าง

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster
ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster

เรืองศักดิ์สำรวจตำนานเกี่ยวกับโกเลมในวัฒนธรรมต่างๆ ในการที่มนุษย์สร้างสิ่งมีชีวิตจำลองคล้ายมนุษย์ด้วยกันเองขึ้นมา

และตีความโกเลมในแบบของเขาขึ้นมาในความหมายแบบร่วมสมัย ด้วยการจำลองรูปร่างของมนุษย์อันสูงใหญ่ ที่รวบรวมเอาจุดเด่นและองค์ประกอบของร่างกายที่เชื่อว่าสมบูรณ์แบบที่สุดของมนุษย์มาสร้างขึ้นใหม่

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster
ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster

โดยใช้วัตถุดิบที่ได้จากการเก็บสะสมซากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์จากทั่วทุกมุมโลก (บางสายพันธุ์พบเห็นได้ยากในธรรมชาติ บ้างก็ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว) นำมาเผาให้กลายเป็นขี้เถ้า

เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการขึ้นรูปผลงานแต่ละชิ้นที่จะประกอบเป็นชิ้นส่วนของอวัยวะในร่างกายมนุษย์จำลองที่ว่านี้ขึ้นมา

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny
ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny

“ผมเริ่มทำโครงการนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ด้วยการเริ่มตามหาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ นำมาเผาเป็นขี้เถ้าเพื่อหล่อขึ้นรูป เปรียบเหมือนการสร้างมนุษย์ดินเหนียว โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตามธรรมชาติอย่างการสืบพันธุ์ แต่เป็นการประกอบขึ้นจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ที่แปรสภาพแล้ว นอกจากนี้ ยังมีงานวาดเส้นเพื่อศึกษาว่าเราจะนำขี้เถ้าเหล่านี้มาขึ้นรูปเป็นอวัยวะส่วนไหนของร่างกายมนุษย์บ้าง (ผลงานเหล่านี้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ GOLEM 2022 : Embodying the monster)”

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny

“แต่พอทำไปทำมาผมรู้เลยว่าโครงการนี้คงทำให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าขึ้นรูปอวัยวะแต่ละชิ้นส่วนด้วยมือ เพราะแนวคิดของงานคืออวัยวะแต่ละชิ้นส่วนต้องประกอบเข้าด้วยกันได้เหมือนตัวต่อเลโก้ เพราะฉะนั้น ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นต้องทำออกมาในสัดส่วนที่แม่นยำมากๆ ก็เลยเลือกใช้เทคโนโลยี CNC (Computer Numerical Control : เครื่องแกะสลักอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์) ในการแกะสลักอวัยวะแต่ละชิ้นส่วนขึ้นมาจากขี้เถ้าที่อัดเป็นก้อนขึ้นมาทีละชิ้น (ผลงานเหล่านี้ถูกทำขึ้นในระหว่างช่วงเวลาแสดงนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny)”

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny
ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny

“ด้วยความที่โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว ดังนั้น กว่าจะทำแต่ละชิ้นส่วนและประกอบกันจนเป็นตัวมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายปี เพราะฉะนั้น เมื่อจบนิทรรศการ ชิ้นส่วนเหล่านี้ก็จะประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างคร่าวๆ ของร่างกายมนุษย์ แต่ยังดูเว้าแหว่ง ไม่สมบูรณ์”

“เหตุผลที่ผมใช้ซากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ มาสร้างเป็นมนุษย์ ก็เพราะในความเป็นจริงมนุษย์เราก็อาศัยสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ หล่อเลี้ยงและสร้างตัวเองขึ้นมา ผมต้องการแสดงน้ำหนักของความเป็นมนุษย์ในธรรมชาติ ว่ากว่าที่เราจะวิวัฒนาการ เติบโต ผ่านการหล่อหลอมทางวัฒนธรรม, โครงสร้างความเชื่อ, ภาษา, เทคโนโลยี จนกลายเป็นมนุษย์อย่างที่เห็นในปัจจุบันนั้น เราต้องทำลายอะไรลงไปบ้าง”

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny
ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny

“พอทำโครงการนี้ไปเรื่อยๆ ผมก็เริ่มตระหนักว่าเราทำด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้ เราต้องคุยกับเพื่อนๆ คุยกับคนในหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักชีววิทยา, นักวิทยาศาสตร์, หมอ, นักมานุษยวิทยา ฯลฯ การเลือกซากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์มาทำเป็นอวัยวะต่างๆ ผมอ้างอิงจากตำนาน นิยายปรัมปรา หรือแม้แต่บทความทางวิชาการต่างๆ มากมาย”

“อย่างชิ้นส่วนที่ทำจมูก ผมได้มาจากซากของหนูท่อจากอินเดีย โดยอ้างอิงจากลักษณะของการติดเชื้อกาฬโรคทางจมูก หรือชิ้นส่วนของกระดูกขาหน้าช้าง ผมได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานปรัมปราของอินเดียที่เล่าถึงช้างที่แบกโลกโดยยืนบนหลังเต่าที่นอนทับบนงูเห่า ผมก็เลยเอากระดูกช้างมาทำเป็นกระดูก Atlas”

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny
ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny

“หรือกระดูกสันหลังข้อแรกที่รับน้ำหนักของกะโหลกและสมองมนุษย์, หรือชิ้นส่วนของผิวหนังมนุษย์ ผมได้แรงบันดาลใจจากตัวเฟอร์เร็ตที่คนยุโรปมักใช้ขนทำผ้าพันคอ ก็เลยเอาซากเฟอร์เร็ตมาเผาเป็นขี้เถ้าเพื่อทำชิ้นส่วนของผิวหนังตรงคอ”

“ถึงแม้การทำโครงการนี้ผมจะสนุกกับการทำงานและการค้นหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันผมก็มีความเจ็บปวดกับการตายของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ที่ถึงแม้ผมจะไม่ได้เป็นคนฆ่าพวกมันด้วยตัวเอง แต่ตัวผมเองก็รับบริจาค ซื้อหา หรือสะสมมัน”

“ดังนั้น ผมไม่มีทางหลุดจากเงื่อนไขหรือวงจรของการตายของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้เลย, ไม่ต่างอะไรกับการที่คนเรากินเนื้อสัตว์ต่างๆ มนุษย์เราส่วนใหญ่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของการฆ่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่มากก็น้อย”

“ผมทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความซับซ้อนสุดขั้วมากๆ มนุษย์เป็นผู้สร้าง ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทำลาย เราแย่งชิงทรัพยากรจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่ออยู่รอด, ผมแค่ต้องการแสดงให้เห็นว่าการมีอยู่ของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบถึงอะไรบ้าง”

ภาพจากนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny

นิทรรศการ “GOLEM 2022 : Embodying the monster” จัดแสดงที่ เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม-4 มิถุนายน พ.ศ.2565

นิทรรศการ “GOLEM 2022 : Uncanny” จัดแสดงที่แกลเลอรีเว่อร์ (Gallery VER) ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน-19 มิถุนายน 2565

*หมายเหตุ ในระหว่างช่วงเวลาแสดงนิทรรศการ GOLEM 2022 : Uncanny จะมีการแสดงสดในการนำผลชิ้นส่วนของมนุษย์จำลองแต่ละชิ้นมาประกอบขึ้นเป็นอวัยวะชิ้นใหญ่ โดยนักแสดงสามคนจากต่างสาขาอาชีพ ในวันที่ 27 และ 28 พฤษภาคม 2565 เวลา 14:00-16:00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @galleryver หรือโทรศัพท์ 0-2120-6098

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก SAC Gallery และ Gallery VER •