ถึงเวลาต้อง ‘เลือก’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ถึงเวลาต้อง ‘เลือก’

 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้

การหาเสียงสู่ 50 เมตรสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย อันหมายถึงการเร่งแซงเป็นเรื่องที่ยากแล้ว ใครนำอยู่จะเป็นผู้ชนะ เว้นเสียแต่ว่ามีเงื่อนไขแรงๆ ให้ผู้นำเกิดสะดุด และผู้ตามเกิดแรงสปีดสูง

ประเด็นหนึ่งที่ผู้สมัครใช้มาด้อยค่าคู่แข่ง และเสริมส่งตัวเองที่น่าสนใจเอามาพูดคุยกันคือ การเสนอทางเลือกระหว่าง “การเน้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจบริหาร” กับ “เน้นการประสานเพื่อเกิดความเห็นพร้อมต้องกันของทุกฝ่าย”

ต่างฝ่ายต่างปลุกให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเห็นว่า “มีประสิทธิผล” มากกว่า

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนให้เห็นว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก อีกฝ่ายไม่มีทางทำได้

นั่นเป็นมุมมองที่ใช้ชัยชนะเป็นเป้าหมาย เพราะการบริหารจัดการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ เอาเข้าจริงต้องอาศัยทั้งการรื้อทิ้ง และปรับปรุงโครงสร้างให้เหมาะสม พร้อมๆ ไปกับการหาความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง

หาทางจัดการไม่ให้อะไรเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็น “โครงสร้างอำนาจที่ไม่เอื้ออำนวย” และ “ความขัดแย้งที่เกิดจากขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ”

ยกตัวอย่างง่ายๆ จากผลการศึกษาของ “ทีดีอาร์ไอ” เรื่อง “การประเมินผลงานผู้ว่าฯ กทม. และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่”

ในเรื่อง “การศึกษา” ซึ่งเป็น 1 ใน 9 โจทย์การสำรวจ

ข้อมูลคือ “กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรพร้อมมากที่สุดในประเทศไทย และยังมีโรงเรียนคุณภาพสูงจำนวนมาก แม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรงเรียนในสังกัด กทม.

ในขณะที่มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ขาดโอกาสในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูง

ในปัจจุบัน กทม.มีโรงเรียนในสังกัดถึง 437 แห่ง นักเรียนในสังกัดส่วนใหญ่เรียนอยู่ระดับประถมศึกษา (ป.1-ป.6) มีภูมิหลังมาจากครอบครัวฐานะยากจน ผู้ปกครองไม่มีเวลาช่วยดูแลเรื่องการเรียนมากนัก และมักประสบปัญหาการย้ายหรือออกกลางคัน

ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียน และน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนในโรงเรียนในสังกัด กทม. มีผลการประเมินจากการสอบต่างๆ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ

ในการสอบนานาชาติ PISA ซึ่งจัดสอบระดับมัธยมพบว่า นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศในทุกวิชามาตลอดทุกปีที่มีข้อมูล นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 เป็นต้นมา

และเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะนักเรียนในกรุงเทพฯ ก็พบว่า คะแนนเฉลี่ยของวิชาการอ่านของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนรวมทุกสังกัดในกรุงเทพฯ

ส่วนคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากการสอบ TIMSS ในปี 2015 ของนักเรียนระดับ ม.2 ของโรงเรียนสังกัด กทม. ก็ต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองมาจากโรงเรียน สพฐ. ขยายโอกาส

“ทีดีอาร์ไอ” สรุปว่า “โจทย์สำคัญของ กทม.ในด้านการศึกษาคือ การยกคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนกลุ่มต่างๆ”

 

คําถามก็คือ คำตอบที่จะสร้างประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาได้มากกว่าในเรื่องนี้คือ “การรื้อโครงสร้างอำนาจการบริหาร” หรือแค่ “ประสานทุกฝ่ายให้เกิดความเข้าใจในปัญหาและวิธีการแก้ร่วมกัน”

คำตอบที่ดีที่สุด แน่นอนว่าจะต้องใช้ทั้ง 2 อย่าง มุ่งไปที่การตั้งเป้าหมายและขจัดอุปสรรค

ทว่า ในการจัดการที่จะได้ผลนั้นจะต้องประเมินว่าอะไร “จำเป็น” และอะไร “เร่งด่วน”

มองให้ชัดว่า “โครงสร้าง” กับ “การประสาน” ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นอุปสรรค ซึ่ง “จำเป็น” ต้องจัดการ อย่าง “เร่งด่วน” กว่าคืออะไร

แล้วจะรู้เองว่า “ผู้สมัครที่ควรเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.” คือใคร