กรองกระแส/การเมือง การทหาร การศึก มิหน่ายเล่ห์เพทุบาย การทหาร การเมือง

กรองกระแส

การเมือง การทหาร

การศึก มิหน่ายเล่ห์เพทุบาย

การทหาร การเมือง

นับแต่เกิด “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นับแต่เกิด “กปปส.” ขึ้นในปี 2549 และในปี 2557 ตามลำดับ สภาพการณ์ทางการเมืองในสังคมประเทศไทยก็ไม่เหมือนเดิม

1 เห็นได้จากความต่อเนื่องคือ “รัฐประหาร”

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีส่วนอย่างสำคัญกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กปปส. มีส่วนอย่างสำคัญกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในบรรยากาศแห่ง “รัฐประหาร”

ขณะเดียวกัน 1 เห็นได้จากพัฒนาการในทางการเมืองที่แม้จะคล้ายกับนำไปสู่ “รูปแบบ” เดิม แต่ก็ไม่เหมือนเดิม

สถานการณ์การชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2552 สถานการณ์การชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ดำเนินไปเหมือนกับ 1 เหมือนการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เหมือนการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

ผลก็คือถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง มีคนบาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมาก แต่ที่สุดก็ไม่เหมือนกับเมื่อเดือนตุลาคม 2516 และไม่เหมือนกับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

สะท้อนว่าการเมืองได้พลิกผัน แปรเปลี่ยนไปสู่อีกมิติที่ทวีความแหลมคมมากขึ้น

 

การเมือง นักการเมือง

การเมือง เหนือการเมือง

หากมองอย่างเปรียบเทียบจากก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

วิธีคิด วิธีการเคลื่อนไหวของ “นักการเมือง” ยังเหมือนเดิม

ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคชาติไทยพัฒนา

ขณะที่วิธีคิด วิธีการเคลื่อนไหวของอีกกลุ่มกลับเพิ่มความสลับซับซ้อน

เห็นได้จากกระบวนการรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มิได้เป็นเรื่องของทหารอย่างโดดๆ ตรงกันข้าม ดำเนินไปในลักษณะของมวลชน

อาศัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาศัย กปปส. เป็นเครื่องมือ

บรรดาขุนทหารซึ่งกุมอำนาจในกองทัพต่างออกมาปฏิเสธว่าจะไม่มีการรัฐประหาร แต่ที่สุดรัฐประหารกลับเป็นทางเลือกเหมือนที่เห็นและเป็นอยู่

เด่นชัดว่า ทหารเคลื่อนไหวในลักษณะ “ลับ ลวง พราง”

เด่นชัดว่า ทหารเริ่มอาศัยกลยุทธ์ทางการทหารมาเอื้ออำนวยให้กับความสำเร็จในทางการเมืองเด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทหารจึงเล่นการเมืองในลักษณะ “เหนือ” การเมือง

 

การเมือง การทหาร

เล่นเล่ห์เพทุบาย

การแสดงออกในลักษณะ “ลับ ลวง พราง” ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

สะท้อนสภาพอัน “เหนือ” กว่าในทาง “ความคิด”

หากมองจากบทสรุปของปราชญ์ทางการทหารระดับซุนวูจะเห็นว่าทหารได้ประสานกลยุทธ์ทางการทหารเข้ากับกลยุทธ์ทางการเมืองได้อย่างเป็นจริง

นั่นก็คือ แปรหลักการ “สงคราม คือ การเล่นเล่ห์เพทุบาย” มาเป็นประโยชน์

สะท้อนให้เห็นว่า ทหารตระหนักในความสัมพันธ์ระหว่าง “การทหาร” กับ “การเมือง” อย่างเป็นจริง มองเห็นความต่อเนื่องและไม่ลังเลที่จะนำเล่ห์เพทุบายอย่างที่สรุปออกมาว่า “ลับ ลวง พราง” ให้เป็นประโยชน์กับปฏิบัติการ

ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

และเมื่อเห็นว่าความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ดำเนินไปอย่าง “เสียของ” ก็ไม่ลังเลที่จะก่อปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2557 และดำเนินการทุกกระบวนท่าเพื่อประกันมิให้ต้อง “เสียของ”

เห็นได้ชัดว่า “ทหาร” ได้ยกระดับทางการเมืองแล้วอย่างก้าวกระโดด แต่บรรดา “นักการเมือง” ยังย่ำซ้ำอยู่กับความจัดเจนเก่าๆ

 

เนื้อแท้การเมือง

เล่นเล่ห์เพทุบาย

ความเป็นจริงจากสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ความเป็นจริงจากสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

น่าจะเป็น “บทเรียน” อย่างสำคัญต่อ “นักการเมือง”

การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อาจเป็นตัวอย่าง 1 ที่ยังดำเนินในแบบธรรมเนียมเก่าทางการเมือง แต่การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลา 3 ปีเศษน่าจะให้คำตอบได้ว่ามีความแตกต่าง

ทุกอย่างล้วนรวมศูนย์ไปยังบทสรุปที่ว่า การศึกษา คือการใช้เล่ห์เพทุบาย ทุกอย่างล้วนรวมศูนย์ไปยังความเป็นจริงที่ว่า การศึก การเมือง เป็นเรื่องเดียวกัน จำเป็นต้องเข้าใจเล่ห์เพทุบาย

หากนักการเมืองยังไม่สามารถสรุปมาเป็นบทเรียนได้ ทุกอย่างก็จะยังเหมือนเดิม