อนุสรณ์ ติปยานนท์ : My Chefs (1)

 

ผมเพิ่งได้พัสดุชิ้นล่าสุดจากเพื่อน มันเป็นของขวัญวันเกิดที่หนักที่สุดเท่าที่เคยได้มาในชีวิตนี้

เมื่อแกะทุกอย่างที่หุ้มห่อมันออก ผมก็พบกับครกหินทรงสี่เหลี่ยมขนาดย่อมอันหนึ่ง

คราบไคลของมันบ่งบอกว่ามันคงถูกผลิตขึ้นก่อนหน้าวันเดินทางไม่นานนัก

รูปร่างของมันแตกต่างจากครกที่ผมเคยเห็นในครัวของยายมาก

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองใช้งานมันด้วยการตำน้ำพริกกะปิถ้วยแรก มันก็ผ่านการทดสอบ

นี่เป็นวัสดุอีกหนึ่งชิ้นที่ผมจะเก็บมันไว้ในครัวของผม

คำว่าครัวของผมนั้นเป็นเพียงคำแทนสถานที่เล็กๆ แห่งหนึ่งในมุมห้อง ไม่ได้หมายถึงครัวที่เหมาะสมเท่าใดนัก

แต่เมื่อพิจารณาถึงเครื่องครัวและอุปกรณ์ปรุงอาหารจำนวนมาก การเรียกมันว่าครัวก็หาได้เป็นคำกล่าวที่เกินเลยไปนัก

มันมีทุกอย่างที่จำเป็นตั้งแต่มีดหั่นผัก มีดแล่ มีดปอก กระทะ ซอส ที่ขูดเนย มันมีแม้กระทั่งที่ขูดปลาแห้งเพื่อทำน้ำซุปดาชิแบบญี่ปุ่น

ซึ่งแน่นอนว่ามันยังไม่เคยได้ทำหน้าที่นั้นเลย

หลายครั้งที่ผมหมกตัวอยู่ในมุมนั้น

ผมจะคิดว่าผมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่ทุกครั้งเมื่อเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตจะใช้เวลาหยุดยืนหน้าเคาน์เตอร์ขายเนื้อสด หรือปลาสด และคิดว่ามันจะถูกแปลงเป็นสิ่งที่เรียกว่าอาหารได้อย่างไรบ้าง

จุดที่ผมมองเนื้อน่องแล้วคิดว่าเมื่อมันกลายเป็นสตูจะให้ความต่างจากเนื้อย่างอย่างไร

จุดที่คิดถึงเนื้อจากแองกัสแล้วพบว่ามันต่างอย่างมากจากเนื้อวัวที่ฟาร์มแถบโคราช

จุดที่พบว่าปลาแซลมอนจากทะเลเหนือต่างจากปลาแซลมอนในฟาร์มที่ใดสักแห่งในทะเล

จุดที่พบว่าอาหารมีความสำคัญและมีความซับซ้อนกว่าสิ่งที่เราคิดมากมายนัก

ขณะนี้เป็นเดือนกันยายน ขณะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในโลกเมื่อหลายสิบปีก่อน

เหตุการณ์ระทึกขวัญในนิวยอร์กที่เราเรียกขานกันแบบสั้นๆ ว่าเหตุการณ์ 9-11 มีหนังสือเล่มหนึ่งของผมที่เขียนเล่าบางส่วนเสี้ยวแห่งการเกี่ยวข้องของผมต่อเหตุการณ์นั้น

มันเป็นนวนิยายขนาดย่อมที่มีชื่อว่า-ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ

นวนิยายนั้นถูกเขียนขึ้นในปี 2547 สามปีให้หลังจากเหตุการณ์นั้น ในท่ามกลางความเป็นนวนิยายของมันมีหลายสิ่งที่เป็นความจริงอยู่ในนั้น

และสิ่งหนึ่งในนั้นคือชีวิตของผมกับสิ่งที่เรียกว่า-ครัว

ผมเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าครัวนับแต่เด็ก แต่ผมเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตในครัวที่ลอนดอน ในวัยเยาว์ ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวใหญ่ และการเป็นครอบครัวใหญ่นั้นหมายถึงการต้องกินอาหารมื้อค่ำพร้อมหน้ากัน

แม่ครัวประจำครอบครัวของเราตอนนั้นคือย่าและคุณอาผู้หญิงของผม

อาหารมื้อค่ำของเรามีอย่างน้อยสี่ถึงห้าชนิด

หนึ่งแกงสำหรับคนชอบกินเผ็ด

หนึ่งแกงจืดหรือต้มจืดสำหรับปู่ที่ทานเผ็ดไม่ได้

ผัดผักหรือปลาทอดหรืออาหารชนิดปลาสำหรับย่าที่ทานในสิ่งที่ไม่ลำบากกระเพาะอาหารนัก

หนึ่งไขเจียวหรืออาหารที่ทานง่ายอย่างยำกุ้งแห้งหรือยำไข่เค็มสำหรับผมและน้องสาว

และหนึ่งน้ำพริกสำหรับอาและคนอื่นที่เชื่อว่ามันควรมีในทุกมื้ออาหารเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับการกิน

การเตรียมอาหารจำนวนมากเหล่านั้นในแต่ละวันจึงเป็นภาระงานหนักโดยเฉพาะในยุคสมัยที่ก๊าซหุงต้มยังไม่แพร่หลาย

ในวันหยุดโรงเรียน เช่น วันเสาร์ อาทิตย์ หรือช่วงปิดภาคฤดูร้อน ผมจึงถูกผลักเข้าครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เวลาของการเริ่มต้นปรุงอาหารค่ำนั้นเริ่มที่บ่ายสามโมงตรง เตาถ่านของเราจะถูกติดขึ้นโดยผมที่มีหน้าที่ต้องจุดถ่านด้วยขี้ไต้ซึ่งเป็นยางเหนียว (และผมยังจำกลิ่นของมันได้จนถึงทุกวันนี้)

หลังจากนั้นจะใช้เศษฟืนซึ่งเราผ่าไว้ล่วงหน้าและใส่มันไว้ในกระสอบ หลังจากฟืนติดไฟแล้ว เราจะเริ่มใส่ถ่านที่ย่าจะสั่งซื้อคนขายถ่านเจ้าประจำที่ขับรถสามล้อมาขายเราทุกต้นเดือน

ย่าซื้อถ่านทีละสองหลัวซึ่งเป็นปริมาณไม่น้อยเลย

ถ่านบางหลัวก็ให้ความสะดวกแก่เราเพราะมีขนาดกำลังเหมาะสำหรับการหุงหาอาหาร

แต่ถ่านบางหลัวมาในลักษณะท่อนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นหน้าที่เด็กผู้ชายแบบผมอีกเช่นกันที่ต้องใช้พร้าขนาดเหมาะมือสับมันให้เป็นท่อนพอเหมาะ อันเป็นงานที่กว่าจะเสร็จสิ้น มือของผมก็กลายเป็นสีดำไม่ต่างจากถ่านในหลัว

ถ่านที่ได้นี้จะใส่ลงไปในเตาแล้วพัดด้วยพัดที่ทำจากไม้ไผ่สาน เราจะต้องพัดจนกว่าถ่านจะติดไฟซึ่งหมายถึงการเริ่มปะทุของมัน

เมื่อสะเก็ดไฟแรกดีดตัวออกจากเตา หน้าที่ของเรากับเตาถ่านนั้นก็เสร็จสิ้นลง

ผมจะต้องล้างมือและไปทำหน้าที่ใหม่คือการซาวข้าว

ข้าวที่ครอบครัวของเราใช้กินในตอนนั้นเป็นข้าวเสาไห้ อันเป็นข้าวที่ย่าบอกว่ากินดีกว่าข้าวที่เริ่มนิยมกินกันคือข้าวหอมมะลิ

เหตุผลหนึ่งนั้นคือย่าบอกว่าข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่ไม่ซับน้ำแกง ราดน้ำแกงลงไป น้ำแกงก็ซึมผ่านไม่ได้รสชาติ

แต่สำหรับเด็กอย่างผมข้าวที่ซับน้ำแกงนั้นเป็นข้าวที่แฉะเกินไป ดังนั้น การหุงข้าวจึงต้องคอยดงข้าวให้ข้าวออกแข็งสักเล็กน้อย

การดงข้าวต้องพึ่งไม้ขัดหม้อคือการใช้ไม้นั้นเสียบผ่านหูหม้อข้าวและฝาข้าวและหมุนหม้อข้าวไปเรื่อยๆ หลังจากข้าวสุกแล้วเพื่อให้น้ำระเหยหายจากข้าวอย่างช้าๆ อันเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อหน่ายอีกกิจกรรมหนึ่งสำหรับเด็ก แต่นั่นไม่น่าเบื่อเท่าการซาวข้าว

การซาวข้าวนั้นจำเป็นต้องมีเพราะครอบครัวเราซื้อข้าวแบบเป็นกระสอบ

บางครั้งคนขายได้ข้าวมาเก็บไว้นานก็มีทั้งมอดและฝุ่น

การซาวข้าวคือการขจัดฝุ่นผงและแมลงที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้น

ย่าจะเป็นผู้คอยตรวจตราการซาวข้าวที่ว่า ผมจะต้องใส่น้ำลงในหม้อข้าวรอบแล้ว รอบเล่า และล้างข้าวที่ว่านั้นจนน้ำใสเห็นเม็ดข้าว

ในหลายหนผมเชื่อว่าน้ำใสแล้ว แต่ทุกครั้งที่ย่าเทน้ำลงไปแล้วใช้มืออันบอบบางของย่ากวนข้าวไปมา ฝุ่นผงที่หลบซ่อนตนเองก็ดูจะโผล่พ้นมาประจานความเกียจคร้านของผมเสมอ

กิจกรรมที่ต้องนั่งนิ่งๆ และซาวข้าวไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นกิจกรรมที่เหลือทนสำหรับเด็กวัยไม่ถึงสิบขวบ

ยิ่งเสียงจักรยานของเพื่อนมารอรับหน้าบ้าน ความน่าเบื่อนั้นยิ่งมีมากเป็นทวีคูณ

เสียดายว่าในยุคสมัยนั้นกระแสการรักษาโภชนาการทางอาหารให้พอควรด้วยการซาวข้าวพอประมาณยังไม่มาถึง ไม่เช่นนั้นผมคงมีข้ออ้างที่ดีกว่านี้ในการยุติกิจกรรมและออกไปยังสนามเด็กเล่นแทน

หลังหมดภาระเรื่องการซาวข้าว หน้าที่ทั้งหลายจะเป็นของแม่ครัวคือย่ากับอา อาจมีตกหล่นในบางครั้งที่ครอบครัวเราจะมีงานบุญ ซึ่งนั่นหมายถึงผมต้องรับผิดชอบการเด็ดพริกจากก้าน ซอยพริกสำหรับใส่น้ำปลา (ซึ่งยังความเผ็ดร้อนแก่นิ้วมือจนหมดวัน) ปอกหัวหอม ทั้งหอมแดงและหอมใหญ่ เด็ดใบกะเพรา โหระพา มะกรูด ทุบตะไคร้ ปอกข่า หรือกระชาย

งานแบบนี้ทำให้ทุกครั้งที่รู้ว่าจะมีงานบุญที่บ้าน ผมจะพยายามโอ้เอ้อยู่ในโรงเรียนหรือภาวนาให้มันไม่ตรงกับวันหยุดซึ่งน้อยครั้งจะเป็นเช่นนั้น

ย่ากับอาจะเริ่มต้นทำกับข้าวในเวลาราวบ่ายสามโมง เร็วหรือช้ากว่านั้นไม่กี่นาทีและจะขลุกอยู่ในนั้นเป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง

เมื่อมองย้อนกลับไป ผมจะรู้สึกว่าย่ากับอามีความอุตสาหะในการทำครัวอย่างยิ่ง

เวลาสองชั่วโมงต่อวัน ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องสนุกโดยเฉพาะเมื่อมันเป็นการกระทำสิ่งนั้นเพื่อคนอื่น

ย่ากับอาเป็นคนที่กินข้าวหรืออาหารน้อยกว่าคนอื่นๆ ในครอบครัวอย่างเห็นได้ชัด

คำอ้างที่ติดปากคือได้กลิ่นมาทั้งวัน ชิมไป กินไป กินไม่ค่อยลงหรอก อาหารส่วนใหญ่จึงตกเป็นของผม น้อง หรือลูกหลานคนอื่นที่แวะมานอนที่บ้าน

อาหารในวงจะถูกย่าตักแจกคนอื่นๆ เสมอโดยเฉพาะเมื่อมีใครแสดงสีหน้าท่าทางว่าจะกินน้อยกว่าปกติ

ระบบในครัวของย่านั้นน่าสนใจ โดยย่าจะเป็นคนเริ่มต้นการทำอาหารทุกชนิด นับแต่การโขลกเครื่องแกง ขอดเกล็ดปลา ทอดน้ำมันหมูจากหมูสามชั้น (อันเป็นอีกงานที่ปัจจุบันนี้กลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไปเสียแล้ว)

หลังจากนั้น ย่าจะเริ่มต้นตั้งหม้อ ตั้งกระทะ แล้วเริ่มต้นปล่อยให้อาเป็นผู้ลงมือทำ

ช่วงเวลานั้นย่าจะนั่งพักที่เก้าอี้ตัวโปรดในครัว ควักยานัตถ์หมอชิตขวดเล็กเรียวมาสูบครั้งแล้วครั้งเล่าจนแกงเดือดและส่งกลิ่น

ตอนนั้นย่าจะลุกจากเก้าอี้แล้วใช้ทัพพีขนาดใหญ่ตักแกงขึ้นจากหม้อสักเล็กน้อยแล้วลงมือชิม เค็มไป เติมน้ำตาลหน่อยสิ หรือหวานไป เหยาะน้ำปลาหน่อย ปลามันยังคาวอยู่ โยนเกลือลงไปอีกหน่อย

ย่าจะทำหน้าที่ตอนนั้นไม่ต่างจากแม่ครัวใหญ่ซึ่งควบคุมคุณภาพอาหารให้ออกมาเที่ยงตรงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

ภาพของย่าที่เดินไปหยุดอยู่หน้าหม้อแกงหรือกระทะก่อนที่อาหารจะถูกยกไปตั้งสำรับเป็นภาพที่ไม่ต่างจากเชฟอาชีพที่ผมได้พบเห็นในเวลาต่อมา

เวลาในครัวของย่าคือเวลาแห่งความสุข อาหารหลายอย่างที่ย่าทำจะถูกถ่ายทอดให้อาทีละอย่างๆ และเป็นอาหารที่ปัจุบันนี้ก็กลายเป็นอาหารที่หาทานได้ยากเสียแล้ว

อย่างแกงนพเก้าที่ประกอบไปด้วยกุ้งและผักนานาชนิด

หรือแม้แต่หมูตั้งที่ผมชอบกินกับไข่เจียวร้อนๆ อาหารเหล่านี้อามีความสามารถในการทำจนรสชาติแทบไม่ผิดเพี้ยนจากย่า

เว้นแต่อาหารฝรั่งที่อาบอกว่ายุ่งยากเกินไปและไม่ถูกลิ้น ทำไปไม่มีใครกินและทำให้หลายครั้งที่ผมเห็นย่าเข้าครัวคนเดียวในตอนเที่ยงเพื่อทำสตูเนื้อเก็บไว้กินเพียงลำพัง

จากปากคำของย่า อาหารฝรั่งเหล่านั้นย่าทำเป็นในช่วงที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่สวิตเซอร์แลนด์

ผมจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ว่าทำไมย่าจึงตัดสินใจรับหน้าที่นั้นทั้งที่ตอนนั้นย่ามีครอบครัวแล้ว

อาจเป็นปัญหาครอบครัวหรืออาจเป็นเพราะพ่อหรือแม่ของย่าที่ฝากย่าทำงานในฐานะแม่บ้านให้กับผู้จัดการคนหนึ่งของบริษัทดีทแฮลม์ที่ย่าเรียกเขาสั้นๆ ว่านายห้าง

ผมจำได้ว่าย่าเล่าว่านายห้างของย่าอยู่ในสกุลแอดเลอร์ และเมื่อพ้นวาระการรับผิดชอบงานในประเทศไทย นายห้างของย่าขอให้ย่าติดตามไปสวิตเซอร์แลนด์ด้วยเพราะลูกๆ ของเขาขอร้องเช่นนั้น

ย่าเดินทางลงใต้ นั่งเรือเดินสมุทรที่ชื่อปัตตาเวียไปสวิตเซอร์แลนด์และอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปีจนนายห้างเสียชีวิตก่อนจะกลับมาเมืองไทย

ย่ากลับมาในชีวิตกลางคนคืนดีกับปู่และกลับมารับผิดชอบการปรุงอาหารในครอบครัวของเราจนถึงวาระสุดท้าย

ผมค้นพบภาพของย่าในช่วงนั้นแต่ไม่มีภาพของย่าในระหว่างทำครัว เว้นแต่ภาพถ่ายของย่ากับครอบครัวนายห้างที่ย่าถ่ายภาพกับพวกเขาในฐานะคนหนึ่งในครอบครัวเลยทีเดียว

โลกในครัวของย่าเป็นโลกของผู้หญิง

จนอีกหลายปีต่อมาเมื่อผมหันมาใช้ชีวิตในครัวและต้องลงมือทำสตูเนื้อเป็นครั้งแรกตามคำสั่งของเชฟที่ผมพบว่าโลกในครัวของผมเป็นโลกของผู้ชาย

ผมไม่มีเวลาอ้อยอิ่งกับการนั่งเคี่ยวเนื้อรอบแล้วรอบเล่าให้ทุกอย่างเข้ารส นอกจากจะต้องเร่งทำมันให้ทัน

โลกในครัวปัจจุบันดูจะหนักและเข้มข้นกว่าโลกในครัวยุคแรกของย่า

แต่ย่าถือว่าเป็นเชฟคนแรกของผมที่สอนผมให้รู้จักการทำครัว

ผมยังจำวันที่ต้องซาวข้าวใหม่อีกครั้งต่อหน้าย่าได้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปนับสิบปีแล้วก็ตาม