ทำไมต้อง จิตว่าง ทำไม จึงมิใช่ “มหากุศล” เส้นทาง สัมมาทิฏฐิ

มีความสงสัยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานแล้วว่า การหยิบยกคำว่า “จิตว่าง” ของท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นเรื่องในทาง “มหายาน”

มิได้เป็นเรื่องในทาง “หินยาน” หรือ “เถรวาท”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เรื่องของสุญญตาเป็นหลักธรรมอย่างที่อาจสรุปได้ว่าเป็น “พุทธศาสนา” โดยตรง

มิจำเป็นต้องแยกเป็น “มหายาน” มิจำเป็นต้องแยกเป็น “หินยาน”

หากมิได้ดำรงอยู่อย่างเป็นพุทธศาสนาโดยตรงจะมีคำว่า สุญญตวิโมกข์ อยู่อีกหรือ ดังมีคำอธิบายว่า วิโมกข์นั้นแปลว่าพ้น หมายความว่าพ้นจากกิเลส ได้แก่ พระอรหัต

ชนิดที่ได้ชื่อว่า สุญญตาวิโมกข์นั้นเพราะหาราคะ โทสะ โมหะเป็นนิมิต คือเครื่องหมายมิได้

จึงเท่ากับ “ว่าง”

คําถามของ “ตาแก่” ที่ว่า “ทำไมท่านจึงไม่ใช้คำอื่นที่ไม่ใช่คำว่า “จิตว่าง” อาจปรากฏขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2504

แต่ก็ต้องยอมรับว่า “เหมาะ” แม้กระทั่งในเดือนมิถุนายน 2559

“เพราะคนพวกนี้หลับมานานด้วยอำนาจยาเสพติดมากเกินไป ถึงกับต้องปลุกกันด้วยการปลุกชนิดที่เป็นการถลกหนังหัว อย่างน้อยสักเท่าฝ่ามือจึงจะตื่นได้”

เป็นคำตอบอันมาจาก “หลวงตา”

“เหตุนี้แหละจึงได้ใช้คำว่า ความว่าง หรือ จิตว่าง ซึ่งพวกที่มากไปด้วยสักกายทิฏฐิเขากลัวกันยิ่งกว่าสิ่งใด แม้ท้าวมหาพรหมก็ยังกลัวคำคำนี้มากกว่าคำพูดคำไหนหมดในโลกนี้”

เป็นการสำทับตามมาจาก “หลวงตา”

พร้อมกับย้ำอย่างหนักแน่น “และอีกทางหนึ่งนั้น เรื่องสุญญตาอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือพระไตรปิฎกนั้นได้นอนเป็นหมันอยู่นานนักแล้วในหมู่คนที่หันไปมัวเมาในการเสพติดมหากุศลในประเทศไทย อันเป็นประเทศที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นเอกในทางพระพุทธศาสนา

“ถ้าไม่รู้เรื่องนี้กันเสียเลยสักวันหนึ่งในเร็วๆ นี้จะพิสูจน์ความไม่มีอะไรที่เป็นพุทธศาสนาเลยในตัวออกมาให้โลกเห็น ดังนั้น จึงชวนให้หยิบเอาเรื่องความว่างขึ้นมาศึกษากันไว้บ้างจะไม่ต้องเดินตามก้นพวกอื่นที่เขาไปกันไกลในเรื่องสุญญตาในวันข้างหน้า”

ตาแก่ถามต่อว่า “เรื่องความว่างนี้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็มีอยู่เหมือนกัน มิใช่หรือ”

คำตอบจาก “หลวงตา” คือ

ถูกแล้ว นั่นคือพวกที่ถือว่า อะไร อะไร ไม่มีเลย นอกจากความต้องการของเขาเท่านั้น ตายแล้วก็เลิกกัน

ส่วนเรื่องความว่างในพุทธศาสนานั้นถือว่า อะไร อะไร ก็มีบุญ บาป สุข ทุกข์ ชั่วดี ฯลฯ มีอยู่ทั้งนั้น

แต่เราอย่ามีจิตไปยึดมั่นต่อสิ่งเหล่านั้นเข้าก็แล้วกัน

เมื่อจิตว่างจากความยึดมั่นแล้วก็มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันแท้จริงอยู่ในความยึดมั่นนั่นเอง

นอกไปจากนั้นมักเป็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชั้นที่เปลือกนอก ต้องพยายามเข้าให้ถึงของจริงชั้นใน ด้วยการทำจิตให้ว่างจากอุปาทานในการที่จะไปเกาะเกี่ยวสิ่งทั้งปวงไว้โดยความเป็นตัวกูหรือของกู

ต้องไม่ยึดถือมหากุศลว่าเป็นของกูจึงจะเป็นจิตว่าง

ถ้าจะมีหรือปฏิบัติในมหากุศลก็เพียงเพื่อเอามาใส่ฝ่ามือดูให้รู้ว่าเป็นของที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อสอนความไม่ยึดมั่นถือมั่นให้แก่เรา

เรามีทรัพย์สมบัติเพียงเพื่อเป็นอุปกรณ์แก่ชีวิต และมีชีวิตอยู่ก็เพื่อศึกษาเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือเรื่อง “ความว่าง” นั่นเอง

ความว่างที่เป็นสัมมาทิฏฐินั้นก็เพื่อสละตัวตนออกไป ไม่เอาอะไรมายึดไว้เป็นอุปาทาน

ส่วนความว่างที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นอุบายหลอกลวงตัวเองหรือผู้อื่นเพื่อจะเอาอะไรเป็นของตัว โดยไม่ให้ผู้อื่นคัดค้าน

หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตัว ด้วยอุบายตลบตะแลงของทิฏฐินั่นเอง

จากนี้จึงเห็นได้ว่าภายในคำสนทนาระหว่าง “ตาแก่” กับ “หลวงตา” นั้นมีคู่คำเปรียบเทียบให้เห็นอย่างเด่นชัด

1 คือ ระหว่าง “จิตว่าง” กับ “มหากุศล”

1 คือ ระหว่าง “สัมมาทิฏฐิ” กับ “มิจฉาทิฏฐิ”

แน่นอน จิตว่าง ย่อมดำรงอยู่อย่างเป็นเอกภาพกับ สัมมาทิฏฐิ ขณะที่ มหากุศล ย่อมดำรงอยู่คู่เรียงเคียงไปกับมิจฉาทิฏฐิ

และในที่สุดเป้าหมายย่อมอยู่ที่ “จิตว่าง”

และในที่สุด เป้าหมายหรือเส้นทางที่จะดำเนินไปก็คือ การดำเนินไปให้บรรลุถึงจุดแห่ง “ความว่าง”

อันเท่ากับเป็นการยึดกุม “จิตว่าง” มิใช่ “มหากุศล”

อันเท่ากับเป็นการเดินไปบนเส้นทางแห่ง “สัมมาทิฏฐิ” มิใช่การเดินไปบนเส้นทางแห่ง” มิจฉาทิฏฐิ”

วิเวกา นาคร