ทราย เจริญปุระ : วิธีเดินทางของ “ฉัน”

"วิธีเดินทางกับแซลมอน" (Come viaggiare con un salmone) เขียนโดย Umberto Eco แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี, กรกฎาคม 2560

-ฉันไม่ชอบขับรถ-

อาการนี้เป็นมานานแล้วก่อนจะประสบเหตุรถชน และหลังจากนั้นก็หนักขึ้นไปอีก ฉันพยายามจะใช้เวลาอยู่บนท้องถนนให้น้อยที่สุด สำรวจเส้นทาง ตรวจสอบเวลา ฉันยินดีจะตื่นเช้าขึ้นหรือกลับให้ดึก เพื่อหลีกเลี่ยงการติดหนับอยู่บนถนน ตามองได้แค่ไฟท้ายแดงจัดของรถคันหน้า หรือมีไฟขาวจ้าของรถคันหลังส่องกะโหลกเหมือนจะจับฉันสแกนสมอง

-หาคนขับรถสิ-

ไม่ได้จริงๆ ฉันเคยมีคนขับรถแล้ว กลายเป็นว่าฉันทั้งเกรงใจและอึดอัดกว่าเดิม แทนที่จะสบายขึ้นกลับเป็นไม่สบาย แถมเสียเงินจ้างเขาไปอีก

-นั่งแท็กซี่สิ-

อา…นี่ล่ะ สิ่งที่ฉันจะเล่าในวันนี้

ฉันเป็นคนไม่มีดวงเรื่องแท็กซี่ ไอ้เรื่องเรียกแล้วไม่ค่อยจะยอมไปนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเรียกได้แล้วตกลงไป ก็มักจะก่อความอึดอัดอึกอักใจอีกอย่างหนึ่ง

ทำไมฉันจะไม่รู้ว่าการแช่อยู่ในรถในการจราจรระดับวิกฤตของกรุงเทพฯ ทั้งวันนั้นชวนให้เป็นเรื่องกลั้นใจตายขนาดไหน ฉันแค่ขับบางช่วงบางเวลายังหลีกหนีเสียแทบเป็นแทบตาย แต่กับคนที่ต้องขับเพื่อทำมาหากินนั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้

-แล้วปัญหาคืออะไร-

ไม่น่าเชื่อเลยว่าปัญหาของฉันในการใช้บริการแท็กซี่ในประเทศไทย จะไพล่ไปพ้องกับปัญหาของนักปรัชญา นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งเมืองโบโลญญา ที่ชื่อ อุมแบร์โต เอโค ได้

“คนขับแท็กซี่ชาวอิตาเลียนแบ่งออกได้สามประเภท ประเภทที่แสดงความคิดเห็นตลอดเส้นทาง ประเภทหน้าตึงไม่พูดจาและแสดงอาการเกลียดมนุษย์ผ่านการขับรถ และประเภทที่แก้ปัญหาความตึงเครียดของตนด้วยการเล่าเรื่องอย่างเดียวเลย เล่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับผู้โดยสารแต่ละคน เป็นเสี้ยวชีวิตจริงที่ไม่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบใดๆ และหากไปเล่าที่ร้านเหล้าก็จะทำให้เจ้าของร้านจำต้องเชิญคนเล่าออกจากร้าน โดยบอกว่าถึงเวลานอนแล้ว แต่คนขับแท็กซี่เห็นว่าเรื่องที่ตนเล่านั้นแปลกและน่าพิศวง และพวกคุณก็ควรแสดงความเห็นออกไปเรื่อยๆ ว่า “อื้อฮือ คนอะไร นี่มันอะไรกัน มันเกิดขึ้นกับคุณจริงๆ หรือครับ/ค่ะ” การมีส่วนร่วมนี้ไม่ได้ช่วยให้คนขับแท็กซี่หายจากอาการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเล่าของตน แต่จะทำให้พวกคุณรู้สึกเป็นคนดีขึ้น”*

จริงนะ ฉันก็พยายามเออๆ คะๆ ไป แต่ดูเหมือนแท็กซี่จะมีเรื่องเล่ามากมายไม่รู้จบ และประมาณ 80% ที่ฉันโดนคือเล่าเรื่องลึกลับใต้สะดือ จำพวกความเก่งกาจหรือสมรรถภาพทางเพศ การผจญภัยในการจะ “ได้” ลูกค้าที่โดยสารแท็กซี่อย่างโลดโผน จนฉันนึกว่านั่งอ่านนิยายที่ลงในหนังสือบันเทิงสมัยก่อนอยู่

ประเภทที่ตอนนี้เหล่าผู้รักในความเท่าเทียมกันทางเพศหรือเฟมินิสต์ไม่อยากจะเอามาเช็ดเท้าเสียด้วยซ้ำ นัยว่าแปดเปื้อนและโบราณล้านปีเต็มที

 

แน่นอนว่าฉันไม่เคยและไม่มีทางจะได้นั่งแท็กซี่ทุกคันในประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ฉันได้เจอจะเป็นตัววัดความรู้สึกหรือทัศนคติที่มีต่อการใช้/ให้บริการแต่ละครั้ง

หลายคนอาจจะเถียงว่าแท็กซี่ก็คน ย่อมมีความหลากหลาย ซึ่งฉันไม่เห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องยกขึ้นมาอ้าง เพราะทั้งคนขับและผู้โดยสารต่างก็เป็นคนกันทั้งคู่ จะมีตัวกลางที่ดูเดือดร้อนในที่สุดระหว่างสมการคนต่อคนนี้ก็คือรถ ซึ่งไร้ชีวิตจิตใจและไม่มีปากเสียง

ดังนั้น ในทางกลับกัน คนขับแท็กซี่ก็จะได้เจอผู้โดยสารประหลาดๆ น่าจะบ่อยพอกัน หรืออาจจะบ่อยกว่าฉัน, ผู้ซึ่งพยายามใช้บริการแท็กซี่ให้น้อยครั้งที่สุด

แต่ฉันก็อยากรู้ว่าจะมีสักกี่ครั้งในชีวิต ที่คุณจะอยากเล่าเรื่องการผจญภัยทางเพศของคุณให้คนแปลกหน้าฟังขณะอยู่ในรถ แดดข้างนอกแผดเปรี้ยง และข้างในรถรวยรินแอร์รีเฟรชเชอร์กลิ่นมะนาวผสมใบเตยแห้งๆ ที่หลังรถ

ฉันเคยกระทั่งยอมไม่เป็นคนดีอย่างที่อุมแบร์โตแนะไว้ แต่บอกไปห้วนๆ ทื่อๆ เลยว่าขอนั่งเงียบๆ ได้ไหมคะ? เขาก็เงียบลงนะ แต่ตามมาด้วยอาการขับกระแทกกระทั้นปนคำด่าลอยๆ ไม่เจาะจง ที่ฉันไม่รู้ว่าส่งตรงมาถึงฉันหรือรถคันอื่นๆ บนท้องถนนกันแน่

 

“ชั่วขณะที่เราก้าวขึ้นแท็กซี่จะเกิดปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์กับคนขับ คนขับแท็กซี่เป็นมนุษย์ที่ขับรถฝ่าการจราจรในเมือง และมีปัญหากับมนุษย์ขับรถคนอื่นๆ ทั้งวัน กิจกรรมนี้ถ้าไม่ทำให้หัวใจวายก็เป็นบ้า ผลลัพธ์ก็คือ คนขับแท็กซี่จะขี้หงุดหงิด และเกลียดสิ่งมีชีวิตรูปร่างเป็นมนุษย์”*

ฉันเคยร่วมเดินทางกับอุมแบร์โตครั้งหนึ่ง ในเที่ยวบิน 6 ชั่วโมงไปโตเกียว จริงๆ ก็ไม่ได้นั่งเคียงข้างเขาตรงๆ หรอก แต่หนีบเอาสมัญญาแห่งดอกกุหลาบที่เขาเขียนไว้ไปอ่านระหว่างทาง

อุมแบร์โตเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดี อ่านสนุก ถ้าเป็นคนก็ต้องถือว่ามีประเด็นความสนใจในการพูดคุยร่วมกัน ยิ่งมาอ่าน “วิธีเดินทางกับแซลมอน” เล่มนี้ที่แสนจะปากจัดอย่างวายร้าย ฉันก็ชอบเขามากขึ้นไปอีก

แต่เราคงร่วมเดินทางกันได้เฉพาะบนเครื่องบินเท่านั้น ฉันยังไม่สามารถนั่งอ่านหนังสือในรถได้ แน่นอนว่าไม่ได้ถ้าฉันขับรถเอง และยิ่งไม่ได้ถ้านั่งอ่านในแท็กซี่ เพราะจะทำให้ฉันเออๆ คะๆ อย่างที่เขาแนะได้ไม่เต็มที่ แล้วฉันก็จะรู้สึกไม่สบายใจ

 

ทุกวันนี้ฉันพยายามดูแลรักษารถส่วนตัวของฉันอย่างดี มันอาจจะไม่ใช่รถหรูราคาหลายล้าน หรือแต่งเพียบชวนให้เหลียวมองเมื่ออยู่บนท้องถนน และแน่นอนฉันรู้ดี, ว่าการเลือกใช้รถส่วนตัวเสมอ เป็นการไม่โก กรีน ไม่รักษ์โลก เป็นหนึ่งในผู้สร้างความสาหัสแก่การจราจร

ฉันรู้สิ ทำไมจะไม่รู้

แต่ถ้าชั่งน้ำหนักแล้วกับการต้องมายืนลุ้นว่ารถคันนี้จะรับเราไหม จะพาอ้อมวกวนไปอีกเส้นทางหรือเปล่า ถ้าเรียกไปออกกองถ่ายตอนตี 4 ฉันจะโดนพาไปฆ่าหมกป่ามั้ย หรือถ้าอยากกลับบ้านตอนห้าทุ่มที่โลเกชั่นลับแลจะได้แท็กซี่ตอนกี่โมง

หรือต่อให้ใช้บริการแอพพ์ทั้งหลายก็ไม่ได้รับประกันการต้องมานั่งฟังเรื่องเล่าสุดโลดโผนของคนขับที่ยิ่งฟังก็ยิ่งอึดอัด อยากโดดหนีลงจากรถ ฉันขอยืดอกบอกอย่างไม่อายตรงนี้เลยว่า

ใช่, ฉันชอบใช้รถส่วนตัว

มากด้วย

ขอโทษจากใจถึงคนให้บริการรถสาธารณะทุกท่านจริงๆ ค่ะ

“ไม่ว่าที่ไหน มีวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลอย่างไม่พลาดแน่นอนในการจะรู้ว่าใครเป็นคนขับแท็กซี่ กล่าวคือ คนขับแท็กซี่คือคนที่ไม่เคยมีเงินทอนเลย”*

——————————————————————————————–
*ข้อความจากในหนังสือ