อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (25)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (25)

 

พ่อแม่และลูกนก

ตามต้นไม้ที่มีพุ่มใบร่มรื่นมิดชิดพอสมควร จะมีนกมาทำรังอยู่เสมอ ออกไข่ ฟักไข่ จนเกิดลูกนกที่แข็งแรงพอจะพึ่งตัวเองได้ รังนกก็ร้าง

วันหนึ่งฉันเห็นนกบินเข้าๆ ออกๆ จากซอกกิ่งหูกระจง ต้นไม้ที่ใกล้บ้านมากที่สุด ก็เลยคอยจับตาดู นกปรอดหัวสีเขม่าสองตัวสลับกันเข้าออก ที่ซอกกิ่งล่างสุดนั้นมีรังนกที่เกิดลูกเป็นตัวแล้วตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ นกสองตัวที่บินเข้าออกคงจะเป็นพ่อนกแม่นก ฉันเคยคิดว่ามีแต่แม่นกที่คาบเหยื่อมาป้อนลูก แต่ที่เห็นนั้นน่าจะเป็นทั้งพ่อและแม่

การป้อนอาหารลูกนี้เป็นไปอย่างระแวดระวัง ละเอียดลออมากกว่าที่เราคิด พ่อหรือแม่นกจะบินมาเกาะกิ่งไม้ที่อยู่ห่างๆ รังก่อน หันซ้ายหันขวาสังเกตสังกาอย่างรอบคอบ เมื่อรู้ว่าปลอดภัยแล้วจึงบินขยับมาเกาะกิ่งที่อยู่ใกล้เข้ามา เหลือบซ้ายแลขวาอีกก่อนที่จะบินขยับเข้ามาใกล้อีก ทำอย่างนี้อยู่หลายครั้งกว่าจะบินเข้าไปถึงรัง ป้อนเม็ดอะไรสักอย่างที่คาบใส่ปากมาเข้าไปในปากลูกนกที่อ้ากว้างรออยู่ ในรังเล็กๆ นั้นมีลูกนกอยู่สองตัว

ฉันนั่งเพลินดูอยู่บนระเบียงหน้าบ้าน ตั้งกล้องรอไว้ ได้รูปไม่ค่อยชัดคมดีนัก มันเป็นกล้อง cannon เล็กๆ ที่ต้อง zoom เข้ามาพอสมควร บางครั้งพ่อหรือแม่ตัวหนึ่งจะมาก่อน สังเกตสังกาจนแน่ใจในความปลอดภัย แล้วก็ทำสัญญาณให้อีกตัวบินขยับมาพร้อมกับอาหารในปาก ป้อนแล้วก็กลับออกไปหาเหยื่อมาใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย กว่าลูกนกจะโต… เห็นแล้วนึกถึงพวกชอบยิงนก

นี่มันเป็นธรรมชาติแท้ๆ ธรรมชาติแห่งชีวิตกว่าจะเกิด กว่าจะเติบโต กว่าจะดินรนเลี้ยงชีวิตตนเอง สร้างรังใหม่ ออกไข่ ฟักไข่ เลี้ยงลูก วัฏจักรแห่งการดำเนินชีวิตของสรรพสัตว์หมุนเวียนไม่รู้จบ

มีครั้งหนึ่งนานแล้ว ไม่ใช่นกรังนี้ ฉันเคยเห็นแม่นกคาบอาหารมาถึงรังแล้วไม่เห็นลูกสักตัว ไม่รู้หายไปไหน แม่นกก็คายเหยื่อส่งเสียงร้องดังลั่นอยู่ใกล้ๆ นานเกือบชั่วโมงก่อนจะหมดแรงจากไป โดยหารู้ไม่ว่าลูกของเธอเข้าไปอยู่ในท้องของงูตัวเล็กๆ

สร้างบ้านใหม่

เมื่ออยู่มาได้เกือบสองปี มีลูกศิษย์เก่าของอาจินต์บอกว่าจะมาอยู่เป็นเพื่อนช่วยดูแลอาจินต์บ้าง ประกอบกับระยะนั้นและต่อไปก็มีเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งเก่าใหม่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นระยะ ฉันจึงตัดสินใจจะสร้างบ้านรับรองสักหลังหนึ่ง

บ้านไม้หลังแรก สร้างด้วยจินตนาการ จะใช้ไม้อย่างเดียวทุกอย่าง อยู่มาปีกว่าเลยรู้ว่าโง่มาก่อนฉลาดนั้นเป็นอย่างไร เรามาสร้างบ้านในที่อยู่ปลวกแท้ๆ บ้านใหม่นี้เลยสร้างแบบกลับหลังหัน ไม่ใช้อะไรที่เป็นไม้เลยแม้แต่น้อย ใช้ปูนและเหล็กล้วนๆ

ได้ผู้รับเหมาพื้นบ้าน ทำงานต่อเนื่องรักษาเวลาอย่างดี ทำโครงสร้างได้แข็งแรงปลอดภัยดี แต่มีปัญหาเรื่องรายละเอียดที่เป็นงานฝีมือบ้าง เช่น เรื่องฝ้า เครื่องมือไม่ดี ยิงตะปูไม่เรียบ และระบบน้ำไม่แม่นยำ จักรเป็นคนดูแลและสั่งของ คอยปรึกษาและแก้ไขส่วนเสียกับหัวหน้าช่าง ก็พอแก้ไขได้ไม่เต็มร้อย เพราะจักรก็เปิดเทอมปีแรกแล้ว ไม่มีเวลาคุมงานมากนัก

บ้านใหม่นี้เป็นกลุ่มบ้านเล็กๆ ที่ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสามหลังคา

หลังแรกเป็นบ้านหลัก สร้างบนที่ดินที่ปรับไว้ระดับสูงสุดชนภูเขา ระดับสามต่ำกว่า ห้องเดียวพร้อมห้องน้ำในตัว อยู่ระดับสอง ระดับสามต่ำกว่าระดับสองเล็กน้อย เป็นศาลาโปร่งไม่มีฝาผนัง หลังคาหญ้า

ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานมากสุด ใครมาก็ตรงมานั่งที่นี่เลย เหมือนดังที่สุทัศน์เคยแนะนำว่า ระเบียงสำคัญนะพี่ จะใช้มากกว่าบ้านอีก แต่ที่นี่ไม่ใช่ระเบียง เป็นศาลาทั้งหลัง ก็ได้ประโยชน์ดี ทั้งระเบียงรอบบ้านหลักและศาลา

บ้านหลังหลักสีเหลือง ฉันก็เอาป้ายชื่อโรงสีเก่าแก่ของพ่อขึ้นติดเหนือประตูบ้าน เลยเรียกบ้านหลังนี้ว่าบ้านโรงสี

ป้ายนี้เป็นป้ายเก่าแก่ของโรงสีหลังแรกของพ่อ พี่สาวทำต่อจากพ่อจนเลิกทำ ขายโรงสีแล้วเข้ามาอยู่กับพวกน้องๆ ที่กรุงเทพฯ แกก็ถอดป้ายติดมาด้วย หมดพี่คนนี้ป้ายนี้ก็ตกมาอยู่กับฉัน ไม่มีวิธีที่จะเก็บรักษาป้ายให้ดูดียิ่งกว่าเอาขึ้นมาติดเสียเลยจริงๆ บ้านนี้ก็เลยถูกเรียกว่าบ้านโรงสีตลอดมา

ส่วนบ้านหลังเล็ก 1 ห้องนอนสีเทา มีหลังคาด้านหลังยื่นเกยมาด้านหน้าหน่อย มองไกลๆ จากบ้านไม้แล้วอาจินต์ก็เรียกหลังนี้ว่า ศาลเจ้า ก็เรียกกันเป็นบ้านศาลเจ้า หรือบางคนเรียกศาลเจ้าเฉยๆ เพื่อนคนหนึ่งได้ยินพูดกันว่าศาลเจ้าๆ ก็เที่ยวเดินมองหาว่าศาลเจ้าอะไร อยู่ตรงไหนจะเอาอะไรไปเซ่นไหว้เสียหน่อย

ส่วนสุดท้ายที่เป็นหลังคาหญ้าที่เป็นศาลารับแขกก็เป็นศาลารับแขกตลอดมา ราว 7 ปีหลังคาหญ้าก็เสื่อมทรุด ต้นปี 2564 ต้องเปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง ประหลาดใจมาก หลังคาหญ้ารวมแล้วแพงกว่าหลังคากระเบื้องเสียอีก

ทำทางไฟ

เนื่องจากพื้นที่แถวนี้จะมีไฟป่ามาเยือนทุกปี ชาวบ้านจึงร่วมมือกันทำแนวกันไฟไว้เพื่อว่าเมื่อไฟมาก็จะได้หยุดอยู่ตามแนวที่ทำไว้ ไม่รุกเข้ามาใกล้บ้าน แต่ระยะหลัง เมื่อคนเข้ามาอยู่มากขึ้น ความร่วมมือก็น้อยลง คนที่เข้ามาอยู่ระยะหลังก็มักไม่ใช่ชาวบ้าน มีทั้งทหาร แพทย์ และอื่นๆ ส่วนมากก็ต่างคนต่างทำ เรียกกันว่าทำทางไฟ

ทางไฟหรือที่จริงคือทางกันไฟของบ้านเราก็อยู่หลังบ้านเลยขึ้นไปช่วงกลางความสูงของภูเขา เราก็พยายามนัดให้ทำไล่เลี่ยกันหรือพร้อมๆ กันกับที่ดินสองสามแปลงที่อยู่ติดกันทั้งซ้ายขวา

เริ่มจากการตัดตอไม้ซึ่งส่วนมากเป็นตอกระถิน แล้วก็จุดไฟเผา ซึ่งส่วนมากก็เป็นหญ้า ควบคุมไฟให้ไหม้ไปตามแนวที่ต้องการ เสร็จแล้วก็จะเป็นแนวโล่งกว้างพอที่ไฟจะไม่ข้ามมาจากบนเขาเลยทางไฟเข้ามาได้

การเผาเช่นนี้ก็เสี่ยง ต้องควบคุมไม่ให้ลามไปที่อื่น ถ้าไหม้บ้านคนอื่นก็จะมีความผิดตามกฎหมาย

ส่วนมากเราจะไม่เริ่มเผาเองดุ่ยๆ แบบนี้ แต่มักจะรอให้ไฟมาก่อน ไม่ว่าจะมาจากการจุดไฟเผาผักหวานป่าบนภูเขาเพื่อให้ผักหวานแตกยอดมากๆ ซึ่งพวกเก็บผักหวานป่าบนเขาไปขายมักจะทำดังที่ชาวบ้านแถวนี้บอก หรือปัจจุบัน คนที่เข้ามาอยู่ใหม่ๆ บางบ้านก็ชอบจุดไฟเผาหญ้ารอบบ้านตัวเอง จุดแล้วก็ทิ้งไป ปล่อยให้ไฟลุกลามไปบ้านคนอื่น บ้านเราพบมาแล้วทุกรูปแบบ

เมื่อมีไฟมา เรามีแนวกันไฟแล้วก็เพียงแต่คอยระวัง มีน้ำไว้ฉีดไม่ให้เข้ามาเลยแนวที่ทำไว้

แต่ถ้ายังไม่ได้ทำแนว เราก็มักฉวยโอกาสที่ไฟมานี้ทำแนวเสียเลย โดยการจุดไฟขึ้นรับไฟที่เข้ามาเพื่อไม่ให้มันเข้ามา จุดไล่ไปทางอื่นให้เป็นแนวตามที่เราต้องการ

แรกมา ฉันไม่เคยเข้าใจวิธีคิดแบบนี้เลย ฟังเขาอธิบายหลายหนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ หลายปีเข้าก็เข้าใจไปเอง คือจุดไฟไล่ไฟ ฟังดูก็ยังแปลกๆ แต่มันก็เป็นเช่นนั้น ถ้าจะทำแนวเป็นทางยาวตลอดพื้นที่ตอนบนก็ต้องใช้คนหลายคน

นายจักรเตรียมน้ำไว้ให้ดี คือสูบน้ำจากบ่อบาดาลใส่แท็งก์ไว้ให้มาก ก๊อก สายยางต้องพร้อม ถ้าคิดว่าจะแรงเกินกำลังก็เรียกหาบริการรถน้ำของ อบต.ได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อดับไฟตรงๆ หรอก แต่เมื่อไฟมาก็ฉีดเลี้ยงริมทางกันไว้ไม่ให้ไฟเข้ามาใกล้เรา แล้วก็มีเพื่อนๆ มาช่วยคุมกันคนละจุด แต่ละคนจุดไฟเป็นจุดๆ ต่อเนื่องกันตลอดแนว ไฟที่จะเข้ามาก็จะถูกไล่ออกไปเรื่อยๆ บางทีมาจากทางใต้ก็ไล่ไปจนสุดแนวเลยบ้านเราไปทางเหนือ ส่วนมากที่ไฟไหม้ก็เป็นหญ้าแห้ง ใบไม้ร่วงบนเขา คอยดูไฟ จุดไฟดับไฟกันจนมอดแล้วค่อยหยุดพัก บางปีก็หลายชั่วโมงเหมือนกัน เมื่อส่วนที่จะไหม้ได้ถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว ฤดูนั้นก็รอดไปได้อีกหนึ่งปี

อาจินต์มีความรับรู้เกี่ยวกับไฟที่แปลกมาก คราวแรก ใครๆ ก็กลัว ไฟลุกจากทิศหนึ่ง อ้อมหลังบ้านไปตรงข้าม ควันขโมง อาจินต์ไม่ยอมลุก จะพาขึ้นรถลงไปพักรอที่บ้านข้างล่างก็ไม่ไป นอนเฉย

สามปีต่อมา ใกล้ค่ำ มองลงไปจากระเบียงหน้าบ้านเห็นไฟกำลังลุกอยู่ไกลออกไปเกือบกิโลกลับตื่นเต้น ร้องบอกว่าไฟไหม้ๆ หนีเร็ว ถามว่าไฟไหม้ตรงไหน…โน่น ชี้ไปที่ไหม้ไกลลิบ

ไฟไหม้ที่นี่มีหลายแบบ บางทีมองไกลๆ เปลวไฟเป็นเส้นตรงสูงเสมอกัน กว้างมากบ้างน้อยบ้าง แบบนี้เป็นไฟเผาไร่อ้อย เกิดขึ้นเสมอในฤดูที่เขาจะเก็บเกี่ยวคือตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล เขาจะเผาใบมันจนไหม้หมดจึงจะใช้รถตัดลำอ้อยเข้าไป ตัดเป็นแปลงๆ

มีอะไรให้เราเรียนรู้และทำความเข้าใจอยู่เสมอ