ธงทอง จันทรางศุ | กู มึง ผม กระผม ใต้เท้า

ธงทอง จันทรางศุ

ผมพร้อมรับสารภาพหน้าชื่นตาบานว่า นอกจากภาษาไทยแล้ว สำหรับภาษาต่างประเทศต่างๆ ผมมีความอ่อนด้อยเป็นอันมาก

ภาษาอังกฤษนั้นโดยความจำเป็นในชีวิตที่ต้องใช้ติดต่อธุระปะปังกับผู้คนทั้งหลายและใช้ในการเรียนหนังสือของตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วย ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผมก็อยู่ในเกณฑ์พอสอบผ่านเท่านั้น ไม่หรูหราอะไร

แต่ภาษาอื่นนอกจากสองภาษานี้แล้ว เป็นอันว่าไม่กระดิกหูครับ

เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมเคยไปเลือกเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสอยู่สองภาคการศึกษา สอบตกสิครับ จะไปเหลืออะไรได้ ต้องย้ายไปเรียนแผนกศิลป์คำนวณ จึงจบชั้นมัธยมปลายมาได้อย่างสง่างาม

เมื่อ 30 ปีก่อนเคยไปอยู่ที่ญี่ปุ่นมาหนึ่งปีเต็ม จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่รู้เพราะเพื่อนร่วมงานที่เป็นชาวญี่ปุ่นทุกคนสามารถพูดภาษาไทยได้ ฮา!

ดังนั้น หนึ่งปีเต็มผมจึงได้ภาษาญี่ปุ่นมาไม่เกินห้าคำ ประมาณสวัสดีตอนเช้า สวัสดีตอนเย็น อะไรอย่างนั้น

 

ให้บังเอิญที่สองสามวันที่ผ่านมาได้นั่งสนทนาร่วมวงรับประทานอาหารกับผู้คุ้นเคยสองสามท่าน ไม่รู้ว่าอีท่าไหน อยู่ดีๆ ก็พูดกันถึงเรื่องสรรพนามในภาษาต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสรรพนามบุรุษที่หนึ่งและสรรพนามบุรุษที่สอง เราพบว่าภาษาไทยมีสรรพนามให้เลือกใช้มากมายเหลือเกิน สำหรับใช้ในบริบทต่างกัน กับผู้อยู่ในฐานะต่างๆ ไปจนถึงสถานการณ์ต่างๆ และเรื่องของสรรพนามนี้เองก็มีวิวัฒนาการอยู่เสมอ ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่

ยกตัวอย่างจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ใครๆ ก็จำได้ว่าขึ้นต้นด้วยประโยคเด็ดที่ว่า “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง…”

แน่นอนว่าคำว่า กู ในศิลาจารึกดังกล่าว เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง หมายถึง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้โปรดให้จารึกศิลาจารึกหลักดังกล่าว

แต่จากหลักฐานเพียงนี้ยังไม่พอสรุปได้ 100% ว่าทุกคนในสมัยเจ็ดแปดร้อยปีก่อนใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งกันทั่วไปว่า กู หรือว่าคำนี้จะเป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งสำหรับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าพูดกับคนทั่วไปหรือผู้ที่อยู่ในปกครอง

ผมนึกสงสัยว่าถ้าขุนนางในสมัยนั้นกราบบังคมทูลอะไรก็แล้วแต่กับพ่อขุน ขุนนางผู้นั้นจะใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเรียกตัวเองว่า กู ได้หรือไม่

แค่คิดนี่ก็ตื่นเต้นแล้ว

 

เวลาผ่านไปอีกหลายร้อยปี คำว่า กู ในสมัยที่ผมเป็นเด็ก เรียนชั้นประถมมัธยมหรือแม้มหาวิทยาลัย สำหรับคนรุ่นผมแล้วคำนี้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งของผู้ชายเรียกตัวเอง พูดกันกับเพื่อนสนิท หรือผู้ที่อยู่ในฐานะต่ำกว่าด้อยกว่า

เมื่อพูดถึงสรรพนามบุรุษที่หนึ่งที่เรียกตัวเองว่ากูแล้ว ใจก็ต้องนึกไปถึงสรรพนามบุรุษที่สองที่เรียกผู้ฟัง คู่สนทนาว่า มึง ด้วยเสมอ

คำว่ากูมึงนี้แปลกนะครับ ถ้าใช้ให้ถูกที่แล้วก็เป็นถ้อยคำปกติ ไม่หยาบคายอะไร เช่น พูดกันในหมู่เพื่อนฝูงที่สนิทสนมหรือเที่ยวเตร่เฮฮาด้วยกันเสมอ

แต่ถ้าไปพูดกับเพื่อนที่ไม่สนิทขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะฟังดูแปร่งหูเมื่อนั้น

นั่นทำให้เราเข้าใจได้ว่า สรรพนามกูมึงนี้จะดีจะร้ายอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับบริบทอีกหลายอย่าง จึงจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นการใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องหรือไม่

ถามว่าคำว่ากูนี้ผู้หญิงใช้ได้หรือไม่ แต่ดั้งเดิมมาก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่บ้าง แต่ดูเหมือนจะมีข้อกำหนดของสังคมว่าคำว่ากูนี้ ในสถานการณ์ปกติประจำวัน ผู้หญิงที่เป็นผู้ได้รับการศึกษามาพอสมควรหรืออยู่ในแวดวงสมาคมที่รับการอบรมที่ดีมาจากครอบครัวจะไม่ใช้คำดังกล่าว

เพื่อนผู้หญิงรุ่นเดียวกันกับผมที่คบค้ากันมาตั้งแต่เป็นเด็กจนถึงปัจจุบันนี้ ต่อให้สนิทสนมกันปานใด ก็ไม่เคยเห็นมีใครใช้สรรพนามกูมึงกันเลย

พอมาถึงทุกวันนี้ ขณะที่บริบทการใช้กูมึงสำหรับผู้ชายก็ยังเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือบริบทการใช้คำเดียวกันสำหรับผู้หญิง นักเรียนชั้นมัธยมหรือนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้ที่อยู่ในวัยจบการศึกษามาแล้ว ผมสังเกตเห็นว่าเขาใช้คำว่ากูมึงกันเป็นปกติ เหมือนกับฝรั่งพูด I หรือ You กันเลยทีเดียว

ตรงกันข้าม ถ้าเป็นเพื่อนนักเรียนผู้หญิงที่สนิทกันแล้วไม่พูดสรรพนามอย่างนี้ ดูจะเป็นเรื่องแปลกแยก ดัดจริต หรือล้าสมัยตกยุคไปเลยทีเดียว

วิวัฒนาการของการใช้สรรพนามกูมึงยังมีอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการเขียนเป็นตัวอักษร ผมพบว่าเวลาเขียนเป็นตัวหนังสือไม่ว่าจะเป็นการเขียนเพื่อปรากฏต่อสาธารณะหรือแม้ในหมู่เพื่อนฝูงด้วยกันเอง เช่น เขียนบน Facebook หรือใน LINE กลุ่ม เรื่อยไปจนถึงทวิตเตอร์ มีการทำให้ “ความแรง” ของสองคำนี้ทุเลาเบาลง โดยเติม ร เรือ เข้าไปกลางคำ กลายเป็นสะกดว่า กรู และ มรึง

แต่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านก็มีความเข้าใจกันในหัวใจว่า ให้อ่านโดยไม่ต้องออกเสียง ร เรือ

คำว่า กรู-มรึง นี้ ไม่มีข้อจำกัดว่าผู้ใช้จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ใครๆ ก็ใช้ได้ ผมเองก็กำลังชั่งใจอยู่เหมือนกันครับว่าจะใช้ดีบ้างไหม ฮา!

อีกคำหนึ่งที่น่าคิดและพบเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือคำว่า “ผม” ที่ผมเพิ่งเขียนเดี๋ยวนี้สดๆ ร้อนๆ

สรรพนามบุรุษที่หนึ่งที่ใกล้เคียงกันกับคำว่า ผม อีกคำหนึ่งคือคำว่า กระผม ซึ่งพจนานุกรมอธิบายว่าเป็นคำใช้พูดแทนตัวของเพศชาย พูดกับผู้ใหญ่และเป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง

ในขณะที่คำว่าผมนั้น พจนานุกรมอธิบายว่ามีสองความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือขนที่ขึ้นอยู่บนศีรษะ ส่วนความหมายที่สอง อธิบายว่าเป็นคำใช้พูดแทนตัวผู้พูด เพศชาย ใช้พูดโดยสุภาพเป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง

เห็นไหมครับว่า แม้สุ้มเสียงถ้อยคำจะใกล้เคียงกันมาก แต่การใช้ผม กับกระผม ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่ ถึงแม้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเหมือนกัน แต่ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องตามฐานะของผู้ฟัง ถ้าผู้ฟังเป็นคนทั่วไป ผู้พูดต้องการกล่าวโดยสุภาพไม่เฉพาะเจาะจง ผู้พูดย่อมเรียกตัวเองว่าผม แต่ถ้าผู้ฟังกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ผู้พูดต้องเปลี่ยนสรรพนามเป็นกระผมขึ้นมาเสียแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อย่างน้อยในภาษาไทยของเรา สรรพนามบุรุษที่หนึ่งต้องผันหรือเปลี่ยนตามบริบทของผู้ฟังคือคู่สนทนาอยู่เสมอ

 

หลักของการใช้สรรพนามหลายคำ คือการพูดแทนตัวเองด้วยการกล่าวถึงอวัยวะส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายผู้พูด ซึ่งเป็นผู้ด้อยอาวุโสหรืออ่อนฐานะกว่า เมื่อพูดกับผู้ใหญ่จะใช้สรรพนามแทนผู้อยู่ในฐานะสูงกว่าเหนือกว่านั้น โดยเลือกใช้คำซึ่งหมายถึงอวัยวะส่วนล่างสุดของท่าน คือ เท้า นั่นเอง

เช่น ถ้าผมเกิดไปพบเจ้าคุณปัจนึกพินาศในเรื่องพลนิกรกิมหงวนขึ้นมา ผมย่อมใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง เรียกตัวเองว่า กระผม (ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า ผม ที่ขึ้นอยู่บนศีรษะของผมนั่นเอง) ขณะเดียวกันกับที่ผมจะเรียกท่านเจ้าคุณด้วยสรรพนามบุรุษที่สองว่า ใต้เท้า

ถ้าเข้าใจหลักคิดเรื่องนี้แล้ว คำว่า กระหม่อม เกล้ากระหม่อม ฝ่าบาท ฝ่าพระบาท และอีกหลายหลายคำที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่ ก็มีที่มาไม่แตกต่างกัน

ในยุคสมัยหนึ่งก่อนผมเกิด ว่ากันโดยเฉพาะเจาะจงคือยุคประมาณสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านผู้นำในเวลานั้นคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านประกาศเป็นรัฐนิยมให้ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งและบุรุษที่สองเสียใหม่ กำหนดให้เหลือเพียงแค่คำว่า ฉัน คำหนึ่ง และ ท่าน อีกคำหนึ่ง

ปรากฏผลว่าขู่ก็แล้ว ชักชวนก็แล้ว จับก็แล้ว พอหมดยุคสมัยของท่านผู้นำ คนไทยก็กลับมาใช้สรรพนามที่หลากหลายเหมือนเดิม

ทำให้พอได้ความเข้าใจว่า การเลือกสรรพนามทั้งหลายนั้นอยู่ที่ใจของคนพูด เราจะไปบังคับใครให้พูดหรือห้ามไม่ให้ใครพูดอะไรนั้นไม่ใช่ของง่ายเลย

สังคมแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดความเหมาะสมของสรรพนามให้เลือกใช้

ความหยาบคายหรือความสุภาพก็เป็นของไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พรมแดนที่แบ่งว่าสรรพนามใดเป็นของชาย สรรพนามใดเป็นของหญิงก็ไม่ชัดเจนขึ้นมาเสียอย่างนั้น ถ้าทำใจเห็นความไม่เที่ยงอย่างนี้แล้ว

กระผมสบายใจ ใต้เท้าก็สบายใจนะขอรับ

นึกเสียว่าเป็นวิวัฒนาการของภาษาที่น่าสนใจก็แล้วกัน