ไม่มีพื้นที่ให้กับเสรีภาพ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ไม่มีพื้นที่ให้กับเสรีภาพ

 

ก่อนจะเกิด “รัฐประหาร” 22 พฤษภาคม 2557 แกนนำนักปลุกปั่นระดมสมัครพรรคพวกผู้มีรสนิยมเดียวกันก่อการกระด้างกระเดื่อง ก่อเหตุปั่นป่วนจนถึงขั้นปิดล้อมสถานที่ราชการ ปิดบ้านปิดเมือง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ

พฤติการณ์ทั้งหมดนั้นเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่บัญญัติว่า

“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี”

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ มีบันทึกว่า ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงก่อนรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการใช้ ป.อาญา “มาตรา 116” ดำเนินคดีกันแค่ 4 รายเท่านั้น

แต่ในทันทีที่รัฐบาลเก่าถูกโค่นล้มลงด้วยรัฐประหาร “ผู้ชนะ” ซึ่งเรียกตัวเองว่า “คสช.” ก็งัดเอา “กฎหมาย” ออกมาใช้เป็นอาวุธ

1 ในนั้นคือกฎหมายอาญา “มาตรา 116” กลายเป็นอาวุธยอดฮิตใช้พิชิตคนเห็นต่าง กวาดล้างจับกุมพวกต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลภายหลังรัฐประหาร

“มาตรา 116” ครอบคลุมกว้างขวางและคลุมเครือ ง่ายสำหรับใช้แต้มสีใส่ร้ายให้ฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองหรือคนที่เห็นต่าง

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 “มาตรา 116” ถูกนำมาใช้จัดการฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างเมามันกว่า 100 ครั้ง “คนดี” จึงกลายเป็น “ผู้ร้าย” คนที่คิดแตกต่างตกเป็น “ผู้ต้องหา” คนที่มีความคิดก้าวหน้าก็กลายเป็น “ภัยความมั่นคง” ของรัฐ

ไม่เว้นแม้แต่ที่ทำงานการเมืองอย่างเปิดเผย เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ที่ถูกนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพุทธะอิสระ แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีอาญาใน “มาตรา 116”

 

“สุวิทย์ ทองประเสริฐ” หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พระอาจารย์ของพี่น้อง 3 ป. เป็น 1 ในแกนนำ “กปปส.” ที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จนก่อเกิดสถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายเป็นเชื้อไฟให้ “3 ป.” ก่อรัฐประหารสำเร็จ

“สุวิทย์” หรืออดีตพุทธะอิสระต้องมา “สะดุดกรรม” ของตนเองถูกดำเนินคดีฐานเป็นหัวหน้าอั้งยี่ซ่องโจร หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้เป็นอันตรายต่อร่างกายจิตใจ ร่วมกันทำร้ายร่างกายตำรวจบาดเจ็บสาหัส ปลอมพระปรมาภิไธย และใช้พระปรมาภิไธยปลอม ทำให้ต้องถูกจับและติดคุก

การที่ “สุวิทย์” มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างและตรงกันข้ามกับ “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” เป็นเรื่องปกติธรรมดา

แต่การอาศัย “มาตรา 116” สกัดกั้นความคิดความเห็นและการแสดงออกของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งกระทำภายใน “ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” นั้น คนที่เรียนกฎหมายมามีความรู้ทางกฎหมายพึงต้องตระหนักในประเด็น “เสรีภาพ”

ผู้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐควรละอายต่อบาป และผู้มีอำนาจรัฐก็ควรเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง

การใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาค ช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายหนึ่ง กลับคุกคามทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง ก็คือความหมายของคำว่า “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

จาก “ประกายไฟ” ของความไม่เป็นธรรม สามารถขยายวงลุกลามกลายเป็น “ไฟบรรลัยกัลป์”!

คดีที่ “ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์” ถูกนายสุวิทย์หรืออดีตพุทธะอิสระแจ้งความดำเนินคดีใน “มาตรา 116” นั้น ขณะนี้ยังอยู่ใน “ชั้นสอบสวนฟ้องร้อง”

ผู้มีอำนาจและหน้าที่ “ชี้ขาด” ในชั้นนี้ ว่าฟ้องหรือไม่ฟ้องคือ “พนักงานอัยการ”

ตำรวจหมดหน้าที่ (ถ้าอัยการไม่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม)

แต่ตำรวจในวันนี้ก็ไม่เหมือนในวันก่อน

เมื่อ น.ส.พรรณิการ์ 1 ใน 3 ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปทำพาสปอร์ตเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศว่า ทำให้ไม่ได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.บารมี วงษ์อินตา รอง ผกก. (สอบสวน) สน.พญาไท มีหนังสือ “ขอให้เพิกถอนหนังสือเดินทาง” ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช จากเหตุที่ทั้ง 3 คนตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา มาตรา 116

ที่จริงแล้ว กรมการกงสุลจะเพิกถอนหรือยกเลิกหนังสือเดินทางของทั้ง 3 คนไม่ได้

แต่เป็นจังหวะที่หนังสือเดินทางของ “ช่อ” พรรณิการ์ หมดอายุจึงต้องทำใหม่

พอจะทำใหม่ เจ้าหน้าที่ก็ต้องเริ่มต้นขั้นตอนที่เรียกว่า “ตรวจสอบ” ซึ่งมีฝ่ายตรวจสอบประวัติ กรมการกงสุลรับผิดชอบ

ตั้งแต่ 19 เมษายน 2564 หนังสือที่ สน.พญาไท มีไปถึงกรมการกงสุล กลายเป็น “ขยะค้างท่อ”!

เมื่อ “ช่อ” พรรณิการ์ ไปทำพาสปอร์ตใหม่ก็เลยสะดุดตอ

ถ้าจะว่าไปแล้วเรื่องนี้อาจมี “ช่องว่าง” ให้ตำรวจทำได้ แต่ “ไม่มีช่องทาง” ให้เจ้าหน้าที่กงสุลเล่นเล่ห์เพทุบาย เนื่องจากระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ใช่เป็นไปตามอำเภอใจ

การปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทาง ต้องเป็นไปตามระเบียบบัญญัติในหมวด 7 ว่าด้วยการปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทาง และหมวด 8 ว่าด้วยการยกเลิกหนังสือเดินทาง

การปฏิเสธ หรือยับยั้ง หรือยกเลิก หรือปฏิบัตินอกเหนือที่ระเบียบบัญญัติจะเข้าข่าย “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ซึ่ง “คนบงการ” มักรอดปลอดภัย แต่ “ผู้ปฏิบัติงาน” ที่รับคำสั่งตายหมู่

การใช้ข้อกล่าวหาคดีอาญามาตรา 116 เป็น “เหตุ” ขอให้กรมการกงสุลปฏิเสธหรือยกเลิกหนังสือเดินทางของ “ผู้ถูกกล่าวหา” โดยไม่มีคำสั่งศาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ นับเป็นการคุกคามเสรีภาพขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและคนเห็นต่างที่กระด้างกระเดื่องบังอาจวิพากษ์วิจารณ์ทำความเสื่อมนิยมให้กับรัฐ

แต่กลับไม่ห้ามพูดเท็จ พูดใส่ร้ายป่ายสี พูดสร้างความเกลียดชัง ไม่ห้ามปั้นพยานหลักฐานเท็จทำลายฝ่ายตรงกันข้าม!?!!!