ทำไมแผนรุกรานยูเครนของรัสเซียจึงล้มเหลว? (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ทำไมแผนรุกรานยูเครนของรัสเซียจึงล้มเหลว? (1)

 

สงครามรีโมตคอนโทรล

สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ศกนี้ ไม่สัมฤทธิผลตามเป้าหมายที่จะบุกยึดกรุงเคียฟเมืองหลวงและเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศยูเครนอย่างง่ายดาย

การณ์กลับกลายเป็นว่าชั่วเดือนเดียวรัสเซียต้องสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลไปมากมาย ตัวเลขของทางการรัสเซียเองระบุว่าทหารรัสเซียเสียชีวิต 1,300 คน เทียบกับตัวเลขประเมินของนาโตว่าทหารรัสเซียตายไป 7,000-15,000 คน และของทางการยูเครนที่กว่า 16,000 คน รวมทั้งนายพล 6 คน โดยในนี้ 2 คนเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุด

จะตระหนักว่าการสูญเสียกำลังพลของรัสเซียหนักหนาสาหัสปานไหนก็โดยพิจารณาเปรียบเทียบว่าในช่วงสองทศวรรษที่ทำสงครามรุกรานยึดครองอิรักและอัฟกานิสถานนั้น อเมริกาสูญเสียทหารไปทั้งสิ้นเพียง 7,000 คน (https://www.usnews.com/news/world-report/articles/2022-03-25/russia-releases-its-forces-death-toll-in-ukraine-revealing-staggering-losses)

ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการรัสเซียจึงปรับยุทธวิธีและโยกย้ายกำลังครั้งใหญ่จากเดิมที่มุ่งรุกยูเครนรอบทิศทาง ไปเป็นรวมศูนย์รุกทางภาคตะวันออกที่เขตดอนบาสและภาคใต้แทน (https://www.reuters.com/world/europe/russia-likely-deploys-thousands-soldiers-eastern-ukraine-white-house-says-2022-04-04/)

อีกทั้งประกาศแต่งตั้งพลเอกอเล็กซานเดอ ดวอนิคอฟ (Captain General Aleksandr Dvornikov) อดีตผู้บัญชาการคนแรกของกองกำลังรัสเซียในซีเรียเมื่อปี ค.ศ.2015 ที่ซึ่งเขาประกอบความดีความชอบจนได้รับยกย่องเป็นวีรชนแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ให้มาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังรัสเซียในยูเครนด้วย

แหล่งข่าวตะวันตกบางสำนักเชื่อว่าพลเอกดวอนิคอฟนี่แหละที่เป็นผู้สั่งยิงจรวดถล่มสถานีรถไฟที่เมืองครามาทอร์สก์อันเป็นศูนย์กลางขนส่งและสถานีระหว่างทางบนเส้นทางยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกของยูเครนจนพลเรือนชาวยูเครนที่กำลังอพยพลี้ภัยสงครามเสียชีวิตไปอย่างน้อย 52 คนเมื่อวันที่ 8 เมษายนศกนี้ (https://www.mirror.co.uk/news/world-news/russian-general-behind-monstrous-attack-26672673?msclkid=dabda343b87e11ec9649ca1fee67f322)

สอดรับกับข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่อเมริกันว่าตั้งแต่เริ่มรบจนถึงต้นเดือนเมษายนนี้ ดูเหมือนจะไม่มีผู้บัญชาการสูงสุดภาคสนามของรัสเซียอยู่ในสมรภูมิยูเครนจริงๆ นั่นหมายความว่าสงครามรุกรานของรัสเซียครั้งนี้ด้านหลักแล้วสั่งการรบทางไกลโดยตรงจากรุงมอสโก การอยู่ห่างไกลจากหน้างานสนามรบจริงดังกล่าวอาจช่วยอธิบายความล้มเหลวของสงครามรีโมตคอนโทรลของปูตินครั้งนี้ด้วย

(https://www.bbc.co.uk/sounds/play/w172yfbwlvcsny3)

พลเอกอเล็กซานเดอ ดวอนิคอฟ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังรัสเซียในซีเรีย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัสเซียในสงครามรุกรานยูเครน, BBC Newshour, 9 March 2022

แผนนั่งเทียนคิดคนเดียว

นิคลาส มาซูร์ นักวิจัยอาวุโสสังกัดศูนย์ศึกษาความมั่นคงแห่งมหาวิทยาลัย ETH Z?rich สวิตเซอร์แลนด์ ผู้ค้นคว้าศึกษาด้านนโยบายกลาโหมและยุทธศาสตร์การทหารชี้ว่าแผนรุกรานยูเครนนี้ประธานาธิบดีปูตินน่าจะคิดคนเดียวเป็นหลัก เพราะดูเหมือนตัวเขาโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกที และข้อมูลที่ถูกกลั่นกรองกว่าจะผ่านเข้ามาถึงเขาก็คงไม่สอดคล้องต้องตรงกับความเป็นจริงนัก (ดู Niklas Masuhr and Benno Zogg, “The War in Ukraine : First Lessons”, CSS Analyses in Security Policy No. 301, April 2022, https://css.ethz.ch/en/center/CSS-news/2022/04/the-war-in-ukraine-first-lessons.html)

ทั้งนี้เพราะตัวปูตินเองมองและตีความโลกผ่านกรอบโลกทัศน์ประวัติศาสตร์ชาตินิยมลัทธิแก้ของรัสเซีย ความโน้มเอียงทางการเมืองดังกล่าวจึงไปบดบังบิดเบือนสายตาปูตินให้ขุ่นมัวจนเห็นยูเครนเป็นแค่รัฐเทียม (artificial state)

รัฐชาติยูเครนที่เพิ่งประดิษฐ์สร้างอย่างกลวงเปล่าเช่นนี้จึงไม่น่าคณนามือกองทัพรัสเซียและโค่นลงได้ในไม่กี่วัน แผนการรุกรานของปูตินจึงมุ่งยึดกรุงเคียฟเมืองหลวงแบบรบเร็วชนะเร็วเพื่อเปลี่ยนระบอบ (regime change) แล้วตั้งรัฐบาลที่ขึ้นต่อรัสเซียมาครองอำนาจแทนอย่างม้วนเดียวจบสะดวกดาย

ด้วยเหตุนี้ ปูตินจึงเรียกมันในคำปราศรัยประกาศรบทางทีวีเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ศกนี้ ว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ไม่ใช่สงคราม (https://www.rbc.ru/politics/24/02/2022/6216f1dc9a79474b7aa1d455) โดยแบ่งแผนปฏิบัติการทางทหารออกเป็นซีกส่วนต่างๆ แยกจากกันและปิดลับสุดยอด มีคนวงในที่รู้แผนการทั้งหมดอย่างละเอียดไม่กี่คน และไม่นำเสนอแผนผ่านการอภิปรายปรึกษาหารือถกเถียงกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง มิเว้นแม้แต่บางส่วนของกองทัพ

ผลก็คือทหารรัสเซียที่เข้าร่วมปฏิบัติการรุกรานครั้งนี้ไม่รู้สภาพจริง ไม่ชัดเจนว่าเป้าหมายเฉพาะหน้าของมันคืออะไร บ้างเข้าใจว่าเป็นแค่การซ้อมรบธรรมดา บ้างเชื่อว่าแค่เดินทัพเข้าไปปลดรัฐบาลฟาสซิสต์ของประธานาธิบดีเซเลนสกีออกจากตำแหน่งท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องต้อนรับของชาวยูเครน

ประธานาธิบดีปูตินนั่งประชุมห่างๆ กับฝ่ายนำกองทัพรัสเซีย

แต่กลับกลายเป็นว่าเจอการต่อต้านอย่างหนักจากพลเรือนชาวยูเครนทั้งด้วยคำประณามด่าทอ การชุมนุมประท้วง ระเบิดเพลิง ปืนล่าสัตว์และแม้แต่วางยาพิษ ทำให้เสียขวัญกำลังใจอย่างหนัก

ในการประเมินของนิคลาส มาซูร์ ปูตินยังวางแผนรุกรานยูเครนด้านการทหารผิดพลาดฉกรรจ์อย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน กล่าวคือ :

– ใช้กองทัพอาวุธผสมที่ 41 (41st Combined Arms Army) ของรัสเซียเป็นกำลังหลักบุกสู่กรุงเคียฟ จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาอยู่ตรงกองทัพดังกล่าวไม่ใช่กองกำลังดีที่สุดของกองทัพรัสเซีย ไม่ได้ประกอบไปด้วยทหารอาชีพผ่านศึกคุณภาพสูง หากส่วนใหญ่เป็นทหารเกณฑ์ที่ไม่มีประสบการณ์การรบและขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์นำสมัย มันสะท้อนว่าปูตินดูเบาสมรรถภาพการสู้รบต่อต้านของยูเครนเกินไป จนเลือกใช้แค่กองกำลังชั้นรองก็คิดว่าพอแล้ว

การไม่มีนายทหารผ่านศึกชั้นประทวนที่เจนสนามรบคอยรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเบื้องบนไปปฏิบัติอย่างช่ำชอง ทำให้บ่อยครั้งทหารเกณฑ์แนวหน้าทำไม่เป็น นายทหารชั้นนายพันนายพลจึงต้องออกหน้าไปจัดการเอง จนเสี่ยงตกเป็นเป้าพลแม่นปืนของยูเครน ดังปรากฏว่าในการรบชั่วสัปดาห์แรก กองทัพที่ 41 ของรัสเซียต้องสูญเสียนายทหารชั้นนำไปถึง 2 นาย ได้แก่ พลตรีอังเดร ซูโคเวตสกี รองหัวหน้าเสนาธิการ และพลตรีวิตาลี เจอราซิมอฟ หัวหน้าเสนาธิการและรอง ผบ.คนที่หนึ่ง (https://en.wikipedia.org/wiki/41st_Combined_Arms_Army)

– ความที่ปูตินวางแผนการรบแบบหมกมุ่นยึดกรุงเคียฟเกินไป ทำให้พลาดโอกาสที่จะทำลายสนามบินและเครื่องบินรบของฝ่ายยูเครนให้ราบคาบ เพื่อสามารถคุมน่านฟ้าอย่างสิ้นเชิง จึงเปิดโอกาสให้ยูเครนยังมีกำลังทางอากาศเข้าต่อสู้ตอบโต้ได้แม้จะด้อยกว่าทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ แต่อาศัยที่เตรียมพร้อมซ้อมรบมานาน ยุทธวิธีดีและกล้าเสี่ยง (https://edition.cnn.com/2022/03/23/europe/ukraine-pilot-battle-skies-cmd-intl/index.html)

อ้างจาก เดวิด บราวน์, “รัสเซีย ยูเครน : สำรวจแนวรบใหม่ในภูมิภาคดอนบาส รัสเซียจะใช้กลยุทธ์ใดบุกโจมตีรอบสอง”, บีบีซี นิวส์, 11 เมษายน 2565

– การขาดการติดต่อสื่อสารและประสานงานที่ดีระหว่างกองกำลังทางอากาศกับกองกำลังภาคพื้นดินของรัสเซีย ทำให้ประสิทธิภาพการรบขาดด้อยลงไป

ผลลัพธ์ที่ประจักษ์แก่ตาโลกก็คือขบวนแถวรถถังเอย รถบรรทุกเอย อาวุธกระสุนเอย และทหารรัสเซียหลายพันนายติดแหง็กยาวเหยียดถึง 40 ไมล์อยู่บนถนนมุ่งไปยึดกรุงเคียฟท่ามกลางอากาศหนาวจัดติดลบ พาหนะบางคันก็เสียหรือเชื้อเพลิงหมด หรือติดหล่มโคลนไปต่อไม่ได้

ทหารรัสเซียพากันทิ้งรถเดินหลงทางอดหิวต้องเที่ยวปล้นร้านค้าหรือขอทานชาวยูเครนมายาไส้ นับเป็นสัญญาณฟ้องความผิดพลาดทั้งทางเทคนิคและปฏิบัติการว่ากองทัพรัสเซียเละเทะไม่เป็นโล้เป็นพายขนาดไหน

นิคลาส มาซูร์ ฟันธงว่านี่เป็นแผนการรบที่ทั้งไร้เดียงสาและชะล่าใจโดยแท้!

(ต่อสัปดาห์หน้า)