ราคาแห่งจริยธรรม

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 เรื่องของมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (มาตรา 219) ดูจะมีแต่ความตื่นเต้นกระตือรือร้นเฉพาะในกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น เพราะมีเงื่อนไขกำหนดว่า จะต้องดำเนินการจัดทำมาตรฐานดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี หากทำไม่เสร็จ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านั้นพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 276)

เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2561 และยังมีผลให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามเงื่อนไขที่ระบุในมาตรา 219 วรรคสอง ฝ่ายการเมืองดูจะยังไม่กระตือรือร้นใดๆ ด้วยเหตุที่ดูเหมือนยังเป็นเรื่องไกลตัวและไม่เชื่อมั่นว่ากระบวนการดำเนินการเอาผิดทางจริยธรรมที่เขียนไว้ยืดยาวและสลับซับซ้อนจะสามารถดำเนินการกับฝ่ายการเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม

ต่อเมื่อศาลฎีกา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2565 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของตลอดไป มีผลให้ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่

จากจุดนั้น ทุกคนในประเทศจึงหันมาสนใจว่า คำว่า “จริยธรรม” นั้นมีความหมายและมีส่วนชี้เป็นชี้ตายให้กับชีวิตของนักการเมือง

 

มาตรฐานจริยธรรม
กับประมวลจริยธรรม

มาตรฐาน (Ethical Standards) เป็นกรอบใหญ่ที่ให้ทุกองค์กรต้องยึดถือปฏิบัติให้เป็นแบบแนวเดียวกัน แต่ในแต่ละองค์กรจะต้องไปออกเป็นประมวลจริยธรรม (Code of Ethics) ของตนที่อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เพราะในแต่ละกลุ่มแต่ละประเภทนั้นอาจมีความแตกต่างกันในลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ จึงจำเป็นต้องมีประมวลจริยธรรมที่เป็นของตนเอง แต่ไม่สามารถออกประมวลจริยธรรมที่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมได้

พูดง่ายๆ คือ จะออกประมวลเพิ่มได้ แต่มาตัดส่วนที่เป็นเนื้อหาของมาตรฐานไม่ได้

ในส่วนที่เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระฯ ประกอบด้วยมาตรฐาน 3 กลุ่มเรื่อง คือ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก และจริยธรรมทั่วไป ในแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดของพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยการผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติในส่วนมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์นั้นถือเป็นความผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง ส่วนสองกลุ่มเรื่องหลังนั้น หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะถือว่าร้ายแรงหรือไม่ ให้ดูพฤติกรรม เจตนา และระดับความรุนแรงเสียหายที่เกิดขึ้น

ในด้านวุฒิสภา ได้มีการออกข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2563 โดยสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการออกข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2563 โดยข้อบังคับทั้งสองฉบับให้มีคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา และคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นทางจริยธรรมของสมาชิกที่ถูกร้องเรียน

ในฝ่ายการเมืองเอง เพิ่งคลอดประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2564 โดยระบุว่าให้ใช้กับข้าราชการเมืองรวมถึงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น ประมวลดังกล่าว จึงรวมเหมาตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการ ผู้ช่วยเลขารัฐมนตรี โฆษก รองโฆษก ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรวมทั้งตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย

กระบวนการออกประมวลจริยธรรมที่ตามมา แม้จะดูเนิบนาบ ล่าช้า กินเวลาหลายปีนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้ แต่ก็ถือว่าได้มีกระบวนการดำเนินการที่ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงรับรู้และต้องยึดถือปฏิบัติตาม

 

มาตรฐานทางจริยธรรมในพรรคการเมือง

ข้อกำหนดทางจริยธรรมของบุคลากรในพรรคการเมือง มิได้ถูกกฎหมายบังคับให้มีชัดเจน เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. และข้าราชการการเมืองต่างๆ ดังที่นำเสนอข้างต้น แต่มีระบุไว้ในมาตรา 15(11) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ว่า ในข้อบังคับของพรรคการเมืองจะต้องมีการระบุถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกโดยเทียบเคียงได้กับมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ตัวอย่างเช่น ข้อบังคับของพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ.2561 มี หมวด 4 เป็นหมวดมาตรฐานทางจริยธรรมของคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค เช่น ข้อ 26 กล่าวถึง “กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม และวางตัวเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน…และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเสริมสร้างสถาบันครอบครัว”

และข้อ 120-124 ได้มีการกำหนดกระบวนการสอบสวนและการลงโทษสมาชิกที่กระทำผิดข้อบังคับพรรคซึ่งหมายรวมการปฏิบัติตนที่ขัดมาตรฐานทางจริยธรรมด้วย

หรือตัวอย่างของข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2561 มีหมวด 8 เป็นหมวดมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง โดยคัดลอกมาจากมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระฯ มาครบทั้ง 3 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก และจริยธรรมทั่วไป

โดยกำหนดบทลงโทษให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น

 

การดำเนินการด้านจริยธรรม

กระบวนการในการดำเนินการเมื่อมีการกระทำผิดทางจริยธรรม เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการและมีขั้นตอนแตกต่างกัน เช่น ในกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา อาจต้องนำเข้าคณะกรรมการจริยธรรม หรือประชาชนอาจยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามมาตรา 234(1) ของรัฐธรรมนูญได้ และหลังจากการไต่สวน หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยเสียงข้างมากเห็นว่ามีความผิดในเรื่องจริยธรรมร้ายแรงก็ให้ส่งเรื่องยังศาลฎีกาเพื่อให้มีคำพิพากษาตัดสิน

แต่กระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลาเป็นปี หรือหลายปี โดยตัวอย่างในกรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ มีการแจ้งความจากกรมป่าไม้เรื่องการบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ส่งศาลฎีกา โดยศาลรับคำร้องและสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2564 จนเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2565 ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษา ว่ามีความผิดจริง เท่ากับว่า เรื่องราวดังกล่าวใช้เวลาเกือบ 3 ปี กว่าจะเกิดผลในทางปฏิบัติ

เรื่องของจริยธรรมที่แต่แรกเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม ไกลตัว บัดนี้กลับเป็นเรื่องที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเป็นรายแรก และยังมีบุคลากรทางการเมืองอยู่ในลำดับที่อาจถูกดำเนินการต่ออีกไม่น้อย

ราคาของจริยธรรมที่ต้องจ่าย แม้ว่าจะเป็นราคาที่สูงลิ่ว ต้องใช้ระยะเวลายาวนานสำหรับการรอคอย แต่เมื่อนำมาใช้อย่างจริงจัง สังคมการเมืองไทยคงมีการเปลี่ยนแปลงในทางจริยธรรมที่ดีขึ้นแม้จะไม่ทันใจนักก็ตาม