‘วารกรี’ นิกายสำคัญของฮินดู ที่เรายังไม่รู้จัก / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Pandharpur Vitthala /hindupad

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

‘วารกรี’ นิกายสำคัญของฮินดู

ที่เรายังไม่รู้จัก

 

ผมไม่ได้เดินทางไปอินเดียมาสักพักใหญ่ด้วยสถานการณ์โควิด แต่บางครั้งก็นอนฝันอยู่ในบ้านว่า มีเมืองไหนในอินเดียที่อยากไปมากๆ

มีเมืองหนึ่งที่เก็บไว้ในใจมานาน แต่เพราะไม่ใช่สถานท่องเที่ยวที่คนไทยรู้จักเลย จึงหาทางไปได้อย่างลำบาก ทว่า อยากไปใจจะขาด คือ “ปัณฑรปุระ” (Pandarpura) อยู่ทางใต้ของแคว้นมหาราษฎร์ ห่างจากปูเณ่ประมาณสองร้อยกิโลเมตร

อาจกล่าวได้ว่า ที่นี่คือ “หัวใจ” ดวงหนึ่งของแคว้นมหาราษฎร์ เหตุเพราะปัณฑรปุระเป็นที่ตั้งเทวสถานของเทพเจ้า “วิโฑพา” (Vithoba) ออกเสียงว่า วิโทบา หรือ “วิฑฑลา” (Vitthala) ในภาษามาราฐี (ภาษาถิ่นของแคว้นมาราฐาหรือมหาราษฎร์) หรือรู้จักโดยนาม “ปาณฑุรังคะ” ในภาษากรรณาฏ

เทพเจ้าองค์นี้ถือกันว่าเป็นภาคหนึ่งของพระกฤษณะ บ้างก็นับถือว่าเป็นสิริรวมของพระศิวะและพระวิษณุก็มี ทั้งนี้ เชื่อกันโดยทั่วไปว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่มีความพิเศษ ถ้าจะเป็นพระกฤษณะก็เป็นพระกฤษณะที่สำแดงออกมาโดยเฉพาะ เป็นองค์เทวรูปในเทวสถานนั้นเอง

ชาวฮินดูเขาเชื่อว่าเทวรูปบางองค์มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น แต่เป็นการสำแดงของเทพเจ้าด้วยตัวเอง

เทวรูปพระวิโฑพา เป็นรูปพระวิษณุยืนเท้าสะเอว (พระกรซ้ายอาจถือสังข์ แต่ผมมองเห็นจากภาพถ่ายไม่ชัด) ชวนให้นึกถึงเทวรูปพระวิษณุเก่าแก่จากวัดพระเพรง จังหวัดนครศรีธรรมราชในบ้านเรา เหมือนกันเปี๊ยบเลย

ไว้ผมจะเล่าถึงพระวิโฑพายาวๆ ในคราวถัดไป เพราะพระเป็นเจ้าองค์นี้มีอะไรที่น่าสนใจมาก เป็นต้นว่า มีตำนานที่ทรงมา “รับใช้” สาวกในรูปแบบต่างๆ อย่างที่ไม่มีพระเป็นเจ้าองค์อื่นทำ และเป็นแรงบันดาลใจมหาศาลต่อบรรดานักบุญที่สร้างวัฒนธรรมกวีนิพนธ์และดนตรีอย่างมากมายในแคว้นนั้น

 

อันที่จริงพูดมาถึงตรงนี้ ผมรู้สึกเหมือนเพิ่งเข้าใจรากฐานของวัฒนธรรมมาราฐี ผมไปแคว้นนั้นเป็นสิบๆ ครั้ง แต่ทุกครั้งก็ไปโดยมีเป้าหมายบางอย่างชัดเจน เช่น พาศาสนิกไปสักการะพระคเณศ และเช่นเดียวกับคนอื่นๆ พอเป้าหมายชัดเจน เราจึงสอดส่ายมองหาแต่สิ่งที่เกี่ยวกับเป้าหมายของเราเท่านั้น โดยลืมไปว่าเขาก็มีสิ่งสำคัญอื่นๆ ด้วย หรือบางอย่างที่เราไม่ได้มองนั้นกลับเป็นรากของวัฒนธรรมเขาเลยทีเดียว

คนไทยที่ไปเที่ยวอินเดียจำนวนมากจึงไม่ได้เห็นอินเดีย ครูบาอาจารย์บางท่านถึงกับพูดว่า คนไทยไปอินเดียเห็นแต่ขี้ เพราะฟังคำร่ำลือมาแต่เรื่องขี้ พอไปถึงก็มองหาแต่ขี้ จึงไปเที่ยวแบบเสียเปล่า ได้แต่ทำบุญกับมองหาเรื่องขี้มาเล่ากันให้สนุกปากต่อเท่านั้น

พระวิโฑพาที่กล่าวมานี้ ก่อให้เกิดนิกายอันหนึ่งขึ้นมาโดยเฉพาะ คือนิกาย “วารกรี” (Varkari sampradaya) นิกายนี้มีผู้นับถือเป็นจำนวนมากในแคว้นมหาราษฎร์และกรรณาฏกะ ถือเป็นไวษณวะพวกหนึ่ง เหตุเพราะนับถือพระวิโฑพาซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระกฤษณะ

และถือเป็นสาย “ภักติ” คือนิกายที่เน้นเรื่องความภักดีต่อพระเจ้า

 

วารกรี มาจากคำว่า “วารี” ซึ่งในภาษามาราฐีหมายถึง การเดินทางแสวงบุญ ผมคิดว่ามีความหมายเดียวกับคำว่า “ตีรถะ” ที่แปลว่าบุณยสถานหรือท่าน้ำ บวกกับคำว่า “กรี” ที่แปลว่าผู้กระทำ วารกรี จึงหมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติการเดินทางแสวงบุญด้วยเท้า

การทำ “วารี” หรือการแสวงบุญถือเป็นหลักปฏิบัติสำคัญของนิกายนี้ ชาววารกรีจะถือปฏิบัติวารีปีละหนึ่งครั้ง โดยเดินทางแสวงบุญจากเมืองอาลันฑี บ้านเกิดของนักบุญผู้ก่อตั้งนิกายวารกรีองค์แรกคือนักบุญชญาเนศวร จนถึงเทวสถานของพระวิโฑพาในเมืองปัณฑรปุระ หรือเดินทางจากเมืองเทหุ บ้านเกิดของนักบุญตุการาม ซึ่งเป็นนักบุญในนิกายนี้อีกท่าน ไปยังปัณฑรปุระเช่นกัน ไม่ว่าจากเมืองไหนก็รวมระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร

ทั้งนี้ เป็นการเดินทางด้วยเท้า จึงใช้เวลานานนับเดือน ในขบวนมีการแห่ “ปาทุกา” หรือรองเท้าไม้ของนักบุญทั้งสองท่านไปยังปัณฑรปุระด้วย โดยเริ่มเดินทางในวันเอกาทศีหรือสิบเอ็ดค่ำในเดือนอาษาฒะ (บาลีเรียกอาสาฬหะ) ตกราวกรกฎาคมถึงสิงหาคม

การเดินทางดังกล่าวมีผู้ร่วมทางหลายแสนคน ทุกคนจะช่วยเหลือกัน โดยมีคติว่าจะต้องไม่มีใครสักคนที่หิวโหย อาหารจะถูกแบ่งปันจนทั่ว ตลอดทางผู้คนจะร้องรำทำเพลง เต้นรำ กอดกัน ตะโกนสรรเสริญ “ชัย ชัย ราม กฤษณะ หริ!” หรือ “มาอุลี” (Mauli) คำนี้แปลว่า “แม่ผู้ห่วงใย” ในภาษามาราฐี ซึ่งชาววารกรีใช้เรียกพระวิโฑพา ทั้งๆ ที่ท่านเป็นเทวบุรุษ แต่วารกรีรู้สึกว่าวิโฑพาคือแม่ผู้ห่วงใยต่อสาวกทุกคน และชาววารกรียังใช้เรียกวารกรีด้วยกันหรือเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จักด้วย

ผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้าร่วมแสวงบุญ ไม่มีผู้นำทางศาสนา ไม่เน้นการประกอบพิธีกรรม ใครจะแสดงออกซึ่งความรักต่อพระเจ้าและต่อกันเองอย่างไรก็ได้ ไม่มีการถือชนชั้นวรรณะและข้อปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างเพศ

 

สังคมชายเป็นใหญ่อย่างอินเดีย ผู้หญิงมักถูกจำกัดพื้นที่ในการแสดงตัวตน แต่ในนิกายวารกรี ผู้หญิงสามารถแสดงออกในพื้นที่สาธารณะได้เท่าผู้ชาย การปฏิบัติวารีจึงมีผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วม และเธอเหล่านั้นสามารถร้องเพลงหรือเต้นรำในที่สาธารณะได้อย่างเต็มที่ ผิดกับค่านิยมทั่วๆ ไป

ปัจจุบัน เทวสถานของพระวิโฑพามีผู้หญิงเป็นปูชารีหรือผู้ปรนนิบัติพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกับพราหมณ์ผู้ชาย โดยเฉพาะในวิหารของพระแม่รุกขมิณี ชายาของพระวิโฑพา

ชาววารกรีมีข้อปฏิบัติทางศีลธรรมที่เคร่งครัด เช่น เป็นมังสวิรัติ ไม่เสพสุรายาเมา ควบคุมความประพฤติทางเพศ ว่ากันว่าอาจเป็นการรวมเอาศีลธรรมของพุทธศาสนาและไชนะเข้ามารวมไว้ด้วย ที่สำคัญ ชาววารกรีจะต้องไม่ถือชนชั้นวรรณะโดยเด็ดขาดแม้อาจถูกระบุวรรณะตามที่สังคมกำหนดมาแต่โบราณและต้องปฏิบัติต่อสตรีอย่างเท่าเทียมบุรุษเพศ

วารกรีไม่มีนักบวช เน้นชีวิตแบบฆราวาส มีครอบครัวและเป็นพลเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมเช่นเดียวกับผู้คนทั่วไป ไม่สอนให้ละทิ้งสังคมแต่เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะตามสมควร วารกรีหลายคนเป็นนักเคลื่อนไหวและปฏิรูปทางสังคมด้วย

มีคำสอนว่า ทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าพระวิโฑพา จะเป็นพราหมณ์สูงศักดิ์หรือคนบาปต่ำช้าแค่ไหนก็ตาม นักบุญตุการามถึงกับตีความนามแห่งพระวิโฑพาว่า “ผู้ยอมรับคนผู้ละทิ้งความฉลาด” (วิฑฑะ โง่เขลา, ละ ยอมรับ)

ข้อปฏิบัติสำคัญของวารกรีมีเพียงการสวดพระนามพระเป็นเจ้าด้วยความรักภักดี (นามสังกีรตนัม) เช่น “ชัย ชัย ราม กฤษณะ หริ” หรือ “วิฑฑลา วิฑฑลา” ขับร้องเพลงสรรเสริญที่เรียกว่า “อภังคะ” ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์ของเหล่านักบุญ ไม่ปฏิบัติพิธีกรรมซับซ้อนของพราหมณ์ เช่น การบูชายัญหรือพิธีอื่นๆ แต่บูชาเองอย่างเรียบง่าย ทอดทัศนาพระเป็นเจ้าด้วยความรัก

 

ปัณฑรปุระเป็นศูนย์กลางแห่งเหล่านักบุญในแคว้นมหาราษฎร์อย่างแท้จริง นักบุญหรือคุรุของชาววารกรีมาจากหลากหลายพื้นภูมิ ชญาเนศวรและเอกนาถเป็นพราหมณ์ ตุการามเป็นพ่อค้า (แพศย์) นามเทพเป็นศูทร และยังมีนักบุญสตรีอีกหลายท่าน เช่น ชนาพาอี มุกตาพาอี ฯลฯ

นักบุญเหล่านี้ ต่างคนก็มีปมปัญหาชีวิตแตกต่างกัน แต่มีแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับความทุกข์และความรัก ไม่ว่าความรักในเพื่อนมนุษย์ สรรพชีพหรือพระเจ้า

เรื่องราวของและกวีนิพนธ์ของนักบุญเหล่านี้ยังคงถูกเล่าขาน โดยเฉพาะกับชาวบ้านผู้ไม่รู้หนังสือและกลายเป็นแรงดลใจของผู้คนอีกนับล้านๆ ในอินเดีย

 

เนื่องจากวารกรีไม่ได้เน้นมิติของความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ ไม่ได้มีผู้นำทางศาสนา แต่เป็น “ขบวนการ” ของชาวบ้าน และมีความเกี่ยวข้องกับเทพที่เราไม่ค่อยรู้จัก วารกรีจึงเป็นนิกายที่คนไทยไม่เคยได้ยินชื่อเลย แม้ว่าในอินเดียจะมีผู้นับถือวารกรีนับล้านคนก็ตาม

ที่สำคัญ ผมพูดถึงวารกรีเพราะอยากแสดงให้เห็นว่า ศาสนาฮินดูไม่ได้มีแค่แง่มุมของความศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เราคุ้นเคย มีความแตกต่างหลากหลาย ศาสนาฮินดูในอินเดียผ่านร้อนผ่านหนาวมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีดีมีไม่ดี มีแง่มุมของความรัก มีแง่มุมของอารมณ์ความรู้สึก

เผอิญชนชั้นนำไทยหยิบเอาแค่เพียงบางแง่มุมของฮินดูมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการปกครอง แถมในสมัยใหม่ก็ยังตอกย้ำด้วยระบบการศึกษาและสื่อด้วยข้อมูลชุดเดิมๆ อันเจือด้วยอคติหลายประการของเราเอง

เราจึงพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้ เข้าใจ และวิจารณ์เขาบนฐานของอคติที่น้อยเท่าที่จะเป็นได้

เราจึงพลาดโอกาสที่จะเลือกของดี จินตนาการใหม่ๆ หรือตัวอย่างจากเขา

เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเราเอง •