การศึกษา/จับตา “มรภ.บุรีรัมย์” แก้เกม หลังศาลสั่งเพิกถอนตั้งอธิการฯ

การศึกษา

จับตา “มรภ.บุรีรัมย์” แก้เกม หลังศาลสั่งเพิกถอนตั้งอธิการฯ

สร้างความหวั่นไหวให้กับวงการมหาวิทยาลัยพอสมควรเมื่อศาลปกครองนครราชสีมามีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) บุรีรัมย์ ที่แต่งตั้ง นางมาลิณี จุโฑปะมา อดีตอธิการบดี เป็นอธิการบดีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ตามที่ นายปัญญา เจริญพจน์ ผู้สมัครอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ฟ้องร้อง

คำพิพากษามีขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ทั้งที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดีคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้ สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ

ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำวินิจฉัยโดยพิจารณาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2560 แล้วเห็นว่าคำสั่ง คสช. ระบุเพียงแต่งตั้งคนนอกเป็นอธิการบดีได้ แต่ไม่ได้ระบุเรื่องอายุไว้ ดังนั้น เรื่องอายุจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คือคนที่อายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการได้ ศาลจึงมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่ให้แต่งตั้งนางมาลิณี เป็นอธิการบดี

ก่อนที่ศาลปกครองนครราชสีมาจะมีคำวินิจฉัย ได้เทียบเคียงกับคดีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ซึ่งครั้งนั้นศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนมติสภา ที่ให้แต่งตั้งผู้เกษียณอายุราชการ นั่งรักษาการอธิการบดี และศาลปกครองสูงสุดก็มีมติยืนตามศาลปกครองนครราชสีมา เพราะรักษาการอธิการบดีและอธิการบดีกำหนดคุณสมบัติเหมือนกัน

ทั้งนี้ นายสุชาติ เมืองแก้ว นายกสภา มรภ.บุรีรัมย์ ให้สัมภาษณ์ว่าน้อมรับคำสั่งศาล และจะอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เพราะ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ไม่ได้กำหนดอายุของอธิการบดี และจะให้นางมาลิณี รักษาการอธิการบดีไปก่อน แม้จะมีอายุเกิน 60 ปี ก็สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 สภา มรภ.บุรีรัมย์ ได้มีมติตั้งนางมาลิณี นั่งรักษาการอธิการบดีแล้ว ซึ่งบางฝ่ายมองว่าเป็นการท้าทายอำนาจของศาลหรือไม่ ในเมื่อตำแหน่งอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี กฎหมายกำหนดคุณสมบัติไม่ต่างกัน

ขณะที่ นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มองว่าคำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันเฉพาะตัวบุคคล ไม่กระทบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ส่วนที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2560 ไม่ระบุอายุผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งบริหารไว้ เรื่องของอายุจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ทราบว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ฟ้องศาลปกครองในประเด็นเดียวกับ มรภ.บุรีรัมย์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยดังกล่าวคงต้องชะลอทุกอย่างไว้ก่อน เพื่อรอศาลปกครองสูงสุดว่าจะตัดสินอย่างไร

แต่หากศาลพิจารณาเรื่องนี้ช้า ก็อาจทำให้มหาวิทยาลัยเสียหายและไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากจะไม่มีอธิการบดีตัวจริง ซึ่งในทางปฏิบัติ ถึงแม้จะมีรักษาการอธิการบดี แต่จะไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องของนโยบาย

ด้าน นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษาประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ระบุว่า ทราบจากนายปัญญาว่า มรภ.บุรีรัมย์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแล้ว

ขณะที่นายปัญญาเองก็ยืนยันว่าจะยื่นขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นในวันที่ 1 ตุลาคมแน่นอน

ซึ่งตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการกำหนดคดี หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น พ.ศ.2560 กำหนดให้ยื่นขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 60 วันหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน หรือสามารถยื่นขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2560

นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า ส่วนที่สภา มรภ.บุรีรัมย์ มีมติแต่งตั้งนางมาลิณี เป็นรักษาการอธิการบดีนั้น มองว่าไม่เหมาะสมและเป็นการท้าทายกฎหมาย สภา มรภ.บุรีรัมย์ควรรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อนว่าจะให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นตามที่นายปัญญาจะยื่นหรือไม่

หรือหากอยากเร่งแต่งตั้ง ก็ควรแต่งตั้งจากผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

อีกทั้งคำสั่ง คสช. ที่ 37/2560 ที่ให้แต่งตั้งคนนอกเป็นอธิการบดีนั้น ไม่ได้คุ้มครองไปถึงตำแหน่งรักษาการอธิการบดีด้วย

ฉะนั้น ตำแหน่งรักษาการอธิการบดียังต้องเป็นไปตามกฎหมาย 2 ฉบับ

ยิ่งกว่านั้นศาลปกครองก็เคยวินิจฉัยกรณี มทร.อีสาน และ มทร.ศรีวิชัยแล้วว่าการแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี จากผู้เกษียณ ขัดกฎหมาย

เป้าหมายของรัฐบาลที่ออกคำสั่ง คสช. ก็เพื่อเปิดทางให้ตั้งคนนอกนั่งอธิการบดีได้ คือไม่ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก็สามารถนั่งเก้าอี้อธิการบดีได้

แต่ด้วยความเร่งรีบทำให้คำสั่งไม่รัดกุม เกิดช่องโหว่จนนำมาสู่การพิพากษาของศาลให้เพิกถอนมติแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณของ มรภ.บุรีรัมย์

อย่างไรก็ตาม สภาก็อาจตลบหลังโดยอ้างคำสั่ง คสช. ที่ 37/2560 ในข้อ 3 ที่ระบุว่า “มิให้นําบทบัญญัติที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการรักษาราชการแทนผู้ดํารงตําแหน่งอธิการบดีที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษามาใช้บังคับกับการรักษาราชการแทนในระหว่างการดําเนินการสรรหาหรือดําเนินการเพื่อแต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าว” หรืออีกนัยหนึ่งตั้งผู้เกษียณนั่งรักษาการอธิการบดีได้เกิน 180 วัน

ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังถูกฟ้องร้องในประเด็นแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณ ไม่ว่าจะเป็น มรภ.เทพสตรี มรภ.ธนบุรี มทร.สุวรรณภูมิ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.มหาสารคาม และ มรภ.ร้อยเอ็ด

และหากทุกสภาแก้เกมแบบนั้นหมด ก็น่าสงสัยว่าคำพิพากษาของศาลจะยังศักดิ์สิทธิ์หรือไม่??