ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 15-21 กันยายน 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

ปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 แม้ถูกมองว่า “เสียของ”

แต่การเสียของดังกล่าว นำมาสู่การสรุปบทเรียนของคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

จนกลายเป็นความยืดเยื้อของการรัฐประหารอย่างไม่เคยมีมาก่อน

มีความพยายามที่จะวางความต่อเนื่อง วางยุทธศาสตร์ ภายใต้ธง “ปฏิรูป”

เป็นการ “ปฏิรูป” ภายใต้การครอบงำของทหาร ให้ยาวนานออก 5-20 ปี

ด้วยความหวังว่า การรัฐประหารจะไม่เสียของ

อย่างไรก็ตาม ในการรอ “ซตพ.” ว่า เสียของ-ไม่เสียของ

มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากพิสูจน์

ด้วยเพราะไม่ต้องการปฏิวัติ

ดังจดหมายฉบับนี้

…ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจ

คณะปฏิวัติจะอ้าง รัฐบาลโกงชาติ รัฐบาลไม่เป็นสับปะรด สารพัด

แต่หากมองมุมกลับกัน การปฏิวัติ คือการฉุดกระชากประเทศให้กลับถอยหลังเริ่มต้นใหม่

เหตุนี้ประเทศไทยจึงยักแย่ยักยัน ไม่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วเสียที

ปฏิวัติบ่อยครั้ง ประเทศยิ่งบอบช้ำมากครั้ง

สาเหตุที่กองทัพทำการปฏิวัติสำเร็จได้โดยง่าย เกิดจากการให้อำนาจทางทหารไปอยู่ที่คนคนเดียว

คือผู้บัญชาการทหารบก

เห็นได้ชัดจากการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549

ผบ.ทบ. มีอำนาจยิ่งใหญ่เหลือเกิน

มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้ยิ่งกว่านายกรัฐมนตรี

สามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ

แม้กระทั่งฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

เป็นการขัดหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย

เพราะรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ แต่ฉีกทิ้งไม่ได้

กรณีอย่างนี้ หากจะมีการปรับปรุงแก้ไข ก็ไม่เห็นจะยากอะไร

จึงอยากบอกรัฐบาลที่บริหารประเทศ ต้องใจกล้า

ด้วยการ “ปฏิรูปกองทัพ” เสียใหม่

ยกเลิกตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก เรือ อากาศ ให้หมด แล้วใช้แบบที่อารยประเทศเขาใช้กัน

ตั้งใหม่ให้เป็นคณะเสนาธิการทหาร โดยเอาตัวผู้บัญชาการเหล่าทัพและรอง รวมทัพละ 2 นาย สามเหล่าทัพเป็น 6 นาย เข้าเป็นคณะเสนาธิการทหาร

มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสั่งการได้ทั้งสามเหล่าทัพ

คำสั่งต้องออกมาในรูปคำสั่งของคณะเสนาธิการทหาร

ตั้ง พล.อ. ที่อาวุโสสูงสุด เป็นประธานคณะเสนาธิการทหาร

ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เอาไปผูกไว้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใครเป็นนายกฯ ก็จะได้เป็น ผบ.ทหารสูงสุดไปโดยอัตโนมัติ

อำนาจทั้งปวงจะได้อยู่กับคนเป็นนายกฯ ทั้งอำนาจการสั่งเคลื่อนย้ายกำลังทหาร ตั้งแต่ 1 กองพันขึ้นไป ต้องอยู่ในอำนาจนายกฯ

จึงจะทำให้นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย มีอำนาจจริงๆ จังๆ เสียที

จะได้สมกับเป็นผู้รับผิดชอบประเทศไทย

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมักแหยงต่อกองทัพ ไม่กล้าเข้าไปยุ่มย่ามในกองทัพ

จึงทำให้ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก กลายเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ที่ฝ่ายการเมืองไม่กล้าตอแยด้วย

ฉะนั้น การเปลี่ยนส่วนหัวของกองทัพ น่าจะเกิดผลดีต่อกองทัพและฝ่ายการเมือง

ฝ่ายกองทัพจะได้เลิกแย่งกันเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก

เพราะการตั้งเป็นคณะเสนาธิการทหาร ทำให้ขุนศึกผู้อาวุโส ได้ยิ่งใหญ่เท่ากัน มีโอกาสแสดงความสามารถได้เท่ากัน

ทั้งไม่ต้องทะเลาะแย่งชิงตำแหน่งกัน

เช่นนี้แล้ว ขุนศึกคนไหนจะกล้าปฏิวัติ

ฝ่ายการเมืองจะได้เลิกผวากลัวทหารยึดอำนาจ

แต่ปัญหายิ่งใหญ่เหลือเกิน

คือ ใครผู้ใดจะกล้าหาญชาญชัยหยิบเอาเรื่องแบบนี้ขึ้นมาจัดการ ด้วยการมองกราดไปในแผ่นดินนี้ ก็เห็นมีแต่ผู้หวงอำนาจของตนจะหลุดลอย

ฝ่ายการเมืองก็ดูจะทำตัวเป็นสนต้องลม ไม่กล้าหือกับกองทัพ

ถึงวันนี้ เห็นมีก็แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ที่จะสวมบทอัศวินม้าขาว ปรับส่วนหัวของกองทัพเสียใหม่

ตั้งเป็นคณะเสนาธิการทหารขึ้นมา การปฏิวัติยึดอำนาจจะได้สูญพันธุ์ไปเสียที

โรมรัน กุลละวณิชย์

การมาจบลงที่ ใครจะทำ หรือใครจะปฏิรูปกองทัพ นี่แหละ

ที่เป็น “ประเด็น”

ประเด็นอันเจ็บปวดว่า จดหมายของ “โรมรัน กุลละวณิชย์” จะถูกทำให้ “เสียของ” หรือไม่

คำตอบอยู่ในสายลม?