ต่างประเทศ : วิกฤตเกาหลีเหนือ กับทิศทางตัวละครหลักในเวทีโลก

เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งพร้อมกับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งใหม่ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

แรงสั่นสะเทือนในระดับเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ เป็นผลจากการทดสอบที่รัฐบาลเกาหลีเหนือระบุว่าเป็นความสำเร็จในการจุดระเบิด “เทอร์โมนิวเคลียร์” ได้เป็นครั้งแรกแล้ว หลังจากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือพยายามอย่างยิ่งที่จะส่งสัญญาณเปิดตัวอาวุธชนิดใหม่ดังกล่าว

ความสำเร็จของการทดสอบ “ระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์” หรือ “เอช-บอมบ์” ซึ่งมีความรุนแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐเคยทิ้งใส่ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 1,000 เท่า

ส่งผลให้นักวิเคราะห์ต่างมองไปถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด นั่นก็คือ เกาหลีเหนือกลายเป็นภัยคุกคามนิวเคลียร์ที่เป็นไปได้แล้วในเวลานี้

“นิกกี เฮลีย์” เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า การกระทำของ “คิม จอง อึน” ผู้นำเกาหลีเหนือ คือการอ้อนวอนให้เกิดสงคราม

รัฐบาล “สหรัฐอเมริกา” ส่งสัญญาณมาโดยตลอด ผ่านทูตประจำยูเอ็นของสหรัฐอย่างเฮลีย์ รวมถึง เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ และ เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ยืนยันท่าทีในการกดดันอย่างสูงสุดให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจา

 

ทว่า ท่าทีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์กลับแตกแถวออกไปด้วยการโจมตีท่าทีของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่พยายามหาหนทางสันติวิธีในการหาข้อตกลงกับเกาหลีหนือ พร้อมทั้งขู่ที่จะยุติการทำการค้ากับประเทศใดก็ตามที่ให้การสนับสนุนเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีอันคลุมเครือของสหรัฐนั้นดูเหมือนจะปกคลุมข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐนั้นมีทางเลือกไม่มากเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ

เพราะเมื่อใดก็ตามที่สหรัฐโจมตีเกาหลีเหนือด้วยกำลัง เมื่อนั้นจะมีชาวเกาหลีใต้เสียชีวิตนับร้อยนับพันคนภายในไม่กี่ชั่วโมง

ดังนั้น สหรัฐจึงมีเพียงหนทางเดียว นั่นก็คือ การขยายการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือให้มากยิ่งขึ้นผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นการ “ห้ามการส่งออกน้ำมันไปยังเกาหลีเหนือ” รวมถึงการ “ปิดกั้นการส่งแรงงานราคาถูกชาวเกาหลีเหนือ” ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและรัสเซีย

ด้าน “จีนและรัสเซีย” ยังไม่แน่ชัดว่าจะเห็นไปในทางเดียวกันกับสหรัฐในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือหรือไม่

ทว่า ทั้งสองชาติเห็นตรงกันว่าจำเป็นที่จะต้องมีการหารือด้วยการเจรจาที่ไม่ใช่เพียงแค่การคว่ำบาตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

สำหรับจีนนั้น ดูเหมือนจะเจอกับความกดดันรอบด้านเมื่อ “สี จิ้น ผิง” ประธานาธิบดีจีนมีกำหนดเข้าประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งยังถูกกดดันให้ดำเนินมาตรการเพิ่มขึ้นด้วยการจัดลดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ

ทว่า จีนเองก็ยังคงยืนกรานว่าการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือมากเกินไปจะเป็นการยั่วยุให้ คิม จอง อึน มีพฤติกรรมที่ไม่สามารถคาดเดาได้มากยิ่งขึ้น

ในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่มีประเทศใดที่จะต้องเตรียมรับมือไปมากกว่า “เกาหลีใต้และญี่ปุ่น” โดยเฉพาะเมื่อเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์หลายต่อหลายครั้ง สร้างความเคลือบแคลงให้กับสองชาติเพิ่มขึ้นว่า สหรัฐอเมริกาพันธมิตรสำคัญจะสามารถช่วยคุ้มครองจากภัยคุกคามครั้งนี้ได้หรือไม่

หลังการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งล่าสุด เกาหลีใต้ ชาติที่มีความเสี่ยงสูงสุด เตรียมซ้อมรับมือด้วยกระสุนจริงกรณีที่ขีปนาวุธถูกยิงมาจากเกาหลีเหนือในเดือนนี้ ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ถึงกับยกข้อเสนออันยังคงเป็นที่โต้แย้งถึงความเป็นไปได้ในการนำอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐมาติดตั้งในประเทศ

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกาหลีเหนือพบด้วยว่า แม้ทรัมป์มีความน่าเชื่อถือในบรรดาประชาชนชาวโสมขาวในระดับต่ำ

ทว่าประชาชนยังคงเห็นว่าสหรัฐอเมริกายังคงเป็นพันธมิตรที่จำเป็นอยู่

 

สําหรับ “เกาหลีเหนือ” แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างวิเคราะห์ทุกย่างก้าวเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และไปไกลเกินกว่าการหาทางหยุดยั้งการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ขณะที่เกาหลีเหนือเองก็ยังคงมอง “อาวุธนิวเคลียร์” ว่าเป็นสิ่งเดียวที่จะสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีโลกได้

ในกรณีที่เกาหลีเหนือลงมือโจมตีก่อน หลังจากขู่ที่จะยิงขีปนาวุธไปยังเกาะกวม ดินแดนในปกครองของสหรัฐ และยิงขีปนาวุธข้ามน่านฟ้าญี่ปุ่นมาแล้ว

สหรัฐเองก็มีมาตรการป้องกันเอาไว้แล้วด้วยระบบต่อต้านขีปนาวุธ “ทาด” ที่สามารถยิงทำลายขีปนาวุธระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล รวมไปถึงระบบต่อต้านขีปนาวุธ “เอจิส” ระบบต่อต้านขีปนาวุธที่ติดตั้งบนเรือสามารถยิงทำลายขีปนาวุธได้พร้อมๆ กันถึง 100 ลูก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แม้ว่าจะทำลายขีปนาวุธได้ แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่เมื่อหัวรบนิวเคลียร์ที่แม้จะไม่ถูกจุดระเบิด แต่ก็จะยังคงปล่อยกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อยู่ดี

นับจากนี้คงต้องจับตาความร่วมมือของประชาคมโลกว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเอาไว้ไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ได้หรือไม่