ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 เมษายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
โลกทรรศน์
อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
สงครามและการคว่ำบาตรทางวัฒนธรรม
สํานักข่าว CNBC ประมวลออกมาว่า การรุกรานยูเครนทำให้รัสเซียได้รับผลกระทบที่คาดไม่ถึงหลายประการ ได้แก่
1. ทหารรัสเซียเสียชีวิตมาก แม้ทางการรัสเซียไม่อยากเปิดเผยตัวเลขความเสียหายเรื่อง ทหารรัสเซียเสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า นับถึงวันที่ 25 มีนาคม ทหารรัสเซียเสียชีวิต 1,351 คน บาดเจ็บ 3,825 ราย แต่ทางการยูเครนอ้างว่า ทหารรัสเซียถูกสังหารมากกว่า 15,000 นาย
2. ชาวยูเครนเกลียดรัสเซียมาก โดยเฉพาะหลังการโจมตีบ้านเรือนประชาชนและสาธารณูปโภค
3. เศรษฐกิจรัสเซียเสียหาย จากการเปิดเผยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า สงครามจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียถดถอยมากถึง 15% ในปีนี้ และลดลง 3% ในปี 2023
4. ยุโรปไม่ซื้อพลังงานรัสเซีย ทำให้รายได้ของรัสเซียจากการขายน้ำมันและก๊าซหดหายไป
5. การรุกรานครั้งนี้ ทำให้ชาติตะวันตกสามัคคีกันมากขึ้น
นี่เป็นการประมวลคร่าวๆ แล้วเป็นการเน้นที่ประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งน่าสนใจ ผมอยากเสริมอีกเรื่องหนึ่งคือ ภาพลักษณ์ของรัสเซีย คำอธิบายภาพลักษณ์ของรัสเซียนั้นทำได้หลายคำอธิบาย
อาจจะเป็น ภาพจำ จากภาพการทำสงครามและความรุนแรงของการใช้อาวุธที่น่าสะพรึงกลัวก็ได้
แต่ภาพลักษณ์อีกภาพหนึ่งคือ ภาพของชาติที่น่าคบค้าสมาคม ภาพชาติที่เป็นมิตรซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งเราดูภาพตรงกันข้าม ได้จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีต่อชาตินั้นๆ
ไม่เพียงแต่ ภาพลักษณ์ ของผู้นำและประเทศที่ก่อสงคราม สงครามยูเครนนั้น รัสเซียถูกคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมอีกด้วย
สงครามและการคว่ำบาตรทางวัฒนธรรม
น่าสนใจนะครับ แม้การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมจะซ้อนทับอยู่แยกไม่ออกจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
แต่การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรม น่าจะกระทบการเทือนลึกซึ้ง โดยอาจไปถึงความรู้สึกไม่ชอบชาตินั้นๆ เลยก็ได้
ตรงนี้เราควรดูที่ ทุนทางวัฒนธรรม ในสังคมรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามยูเครน
มีการวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมฮอลลีวู้ดต่อรัสเซียคือ รัสเซียบ็อกซ์ออฟฟิศคิดเป็นเพียง 3% จากรายได้ทั่วโลก ซึ่งแม้จะเล็กน้อยมาก ถือว่ารัสเซียไม่ใช่ตลาดใหญ่ เมื่อเทียบกับตลาดจีน แต่ที่ผ่านมารายได้ภาพยนตร์ในรัสเซียทั้งปีอยู่ที่ 445 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้วยผลของสงครามยูเครน วอร์เนอร์ บราเธอร์สตัดสินใจไม่นำภาพยนตร์เรื่อง The Batman (2022) เข้าฉายในรัสเซีย เช่นเดียวกัน บริษัท โซนี่และพาราเมาต์หยุดการทำตลาดเพื่อโปรโมตภาพยนตร์ของตนในรัสเซีย Netflix ก็ประกาศหยุดให้บริการในรัสเซีย
การไม่นำภาพยนตร์ของค่ายหนังใหญ่ต่างๆ ออกฉายในรัสเซีย ส่วนหนึ่งเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งกระทบต่อคนรัสเซียที่ต้องการดูภาพยนตร์ แต่ก็เกี่ยวพันกับ ภาพลักษณ์ ของรัสเซีย ในแง่รัสเซียถูกตัดขาดจากวัฒนธรรมตะวันตกไปด้วย
วัฒนธรรมตะวันตกตัดสินใจไม่คบค้าชาติที่ทำสงครามและใช้อาวุธกระทำต่อประชาชนประมาณนี้
รัสเซีย กีฬาและวัฒนธรรม
“…การขับรัสเซียออกจากโลกกีฬาและศิลปะ จากการทำสงครามยูเครน คุกคาม ภาพลักษณ์ของปูติน ซึ่งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่สามารถทำได้…”
ด้วยคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมีนโยบายว่า กีฬาใดๆ ก็ตาม หากจะจัดการแข่งขันต้องไม่เชิญหรือไม่อนุญาตให้มีนักกีฬาจากรัสเซียและเบรารุส ตลอดจนเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของตนเข้าในการแข่งขัน
ตรงนี้เป็นการชี้ไปที่การประณาม พฤติกรรม ของชาติที่ก่อสงคราม
จะเห็นได้ว่า เบรารุส ก็ถูกคว่ำบาตรทางกีฬาด้วยเพราะเป็นชาติที่สนับสนุนการทำสงคราม เป็นการประณาม พฤติกรรม ซึ่งการกีฬากระทำได้รุนแรงไม่แพ้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
เมื่อทีมฟุตบอลระดับสโมสรและระดับชาติรัสเซียถูกห้ามลงแข่งขัน รวมทั้งรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 เป็นการง่ายขึ้นทำให้เรามองเห็นว่า การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่คุกคามอย่างมากในด้านภูมิรัฐศาสตร์1
ในอาณาบริเวณวัฒนธรรมและกีฬาที่ใหญ่ที่สุด สถาบันด้านกีฬาต่างๆ กำลังส่งสัญญาณชัดเจนไปถึงและต่อประธานาธิบดีรัสเซีย ปูติน เป็นสื่อที่ทำลายโดยตรงต่อปูติน ถ้ารัสเซียแสดงการอยู่เหนือกติการะเบียบระหว่างประเทศต่อยูเครน ด้วยการก่อสงครามและทำลายกฎหมายระหว่างประเทศ ปูตินจะถูกทำเหมือนกันจากภายนอกทั่วโลก ในขณะที่ชนิดของการคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมกระทบสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible) ของเศรษฐกิจรัสเซีย แต่การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมกระทบต่อประชาชนรัสเซีย
การเอารัสเซียออกไปจากอาณาบริเวณกีฬาและศิลปะ องค์การนานาชาติด้านกีฬาและศิลปะไม่เพียงแต่ปฏิเสธปูตินผู้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญของการโฆษณาชวนเชื่อ แต่พวกเขากำลังกัดเซาะ ภาพลักษณ์ความเข้มแข็งของปูตินด้วย
มีการเอาชื่อปูตินออกจากตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ ทูตวัฒนธรรมยูโดนานาชาติและประธานกิตติมศักดิ์ยูโดสายดำของเทควันโด นับเป็นการบั่นทอนกระแสนิยมส่วนตนของปูตินลง
ช่างย้อนแย้งเหลือเกิน เหตุผลที่ปูตินให้ความสำคัญต่อกีฬา ก็เพราะว่าจุดแข็งของรัสเซียและสถานะอภิมหาอำนาจ ส่วนหนึ่งนั้นคือ กีฬา นั่นเอง
หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียได้มีการลงทุนทั้งเวลาและเงิน เพื่อให้แน่ใจในโครงการกีฬาในระดับโลก แต่โครงการที่รัฐบาลให้การอุดหนุนกลับมีปัญหา มีผลให้การได้รับเหรียญรางวัลของรัสเซียต้องเสียค่าปรับเหรียญโอลิมปิกกับการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2 ครั้งที่แล้ว
ตอนนี้ปูติน รัสเซียและเบรารุสโอลิมปิกจะได้รับอนุญาตเข้าร่วมพาราลิมปิกฤดูหนาวโดยไม่ได้รับเหรียญรางวัล
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า การสูญเสียโอลิมปิกและ Eurovision หรือแม้แต่ยูโดที่ปูตินรัก กำลังเปลี่ยนการคำนวณทางการเมืองของปูตินเมื่อบุกยูเครน ปูตินก้าวลึกเกินไปในวิกฤตการณ์นี้และมาไม่ชนะที่จะยอมจำนนกับสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนชนะในการกีฬาและศิลปะ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความท้าทายด้านการเงินและการทหาร
แต่ไม่ได้หมายความว่า การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมจะไม่มีผลกระทบอะไรอย่างสมบูรณ์ กีฬาเป็น สาระ ทีเดียวสำหรับรัสเซีย รัสเซียอ่อนไหวอย่างไม่สมเหตุสมผลเมื่อมาถึงเรื่อง การกีฬา เพราะกีฬามันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ คนธรรมดา แคร์และให้ความสำคัญ
ปูตินอาจจะไม่แคร์และเย่อหยิ่งกับสถาบันด้านวัฒนธรรมชั้นสูง เช่น New York Metropolitan Opera และ Cannes Film Festival และละทิ้งงานวัฒนธรรมชั้นสูงเหล่านี้ได้ แต่คนจำนวนมากในวงการชั้นนำทางวัฒนธรรมไม่ชอบปูติน แต่ไม่จริงเลย เมื่อมาถึงกีฬาที่ถูกห้ามลงแข่งขันจากการแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลก2
มีปฏิกิริยารุนแรงทางวัฒนธรรมจากภายในรัสเซีย ด้วยเหตุว่า การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมพิสูจน์ความเกลียดชังของชาติตะวันตกไม่ใช่ต่อปูตินและเหล่าคณาธิปไตย แต่เป็นความเกลียดชังต่อชาวรัสเซียด้วย
ประเทศที่ดื้อด้านการถูกโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรมยาวนานอย่างรัสเซีย สำหรับคนธรรมดารัสเซียแล้ว พวกเขาไม่สนุกต่อไปอีกแล้วกับกิจกรรมกีฬาและดนตรีที่พวกเขารัก รวมทั้งที่พวกเขาดูทีมฟุตบอลเล่นในแมตช์นานาชาติ ดูหนังเรื่องล่าสุด และสนุกกับการแสดงดนตรีสด ความอดทนต่อนโยบายโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรมของรัฐบาลจะลดน้อยลง นักกีฬา ดารา นักดนตรีและบุคคลโดดเด่นต่างๆ พร้อมส่งเสียงต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัฐบาล
“…การขับรัสเซียออกจากโลกกีฬาและศิลปะ จากการทำสงครามยูเครน คุกคาม ภาพลักษณ์ของปูติน ซึ่งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่สามารถทำได้…”
1 Yasmeen Serhar, “Why the cultural Boycott of Russia Matter”, The Atlantic 3 March 2022.
2 Ibid.,