‘บุตรชายของนายเอม’ ‘สุรักษ์’ และ ‘ทักษิณ’

คนมองหนัง

หากย้อนไปในทศวรรษ 2530 ชื่อเสียงของ “สุรักษ์ สุขเสวี” หนึ่งในนักแต่งคำร้องผู้โดดเด่นแห่งค่าย (จีเอ็มเอ็ม) แกรมมี่ มักถูกผูกโยงเข้ากับเพลงรักที่มีเนื้อหาอ่อนโยน เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันละเมียดละไม และบรรยากาศเรื่องราวสุดแสนโรแมนติก

“เพลงรักแบบสุรักษ์” จึงไปได้ดีกับทั้งศิลปินชาย ศิลปินกลุ่ม รวมถึงศิลปินหญิงหลายราย

เช่น หัวใจขอมา-นาทีที่ยิ่งใหญ่ (คริสติน่า อากีล่าร์), วิมานดิน (นันทิดา แก้วบัวสาย), หมากเกมนี้ (อินคา), แทนคำนั้น-ฉันเองก็เสียใจ (วสันต์ โชติกุล), นิยามรัก (นูโว), ลาก่อน (อัสนี-วสันต์), เธอผู้ไม่แพ้-คู่แท้ (ธงไชย แมคอินไตย์), ยังยินดี…ครับเพื่อน (ยูเอชที), เก็บมันเอาไว้ (เจตริน วรรธนะสิน), อธิษฐาน (สุนิตา ลีติกุล), ใครสักคน (มาช่า วัฒนาพานิช), ชายคนหนึ่ง (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล), ลมหนาวและดาวเดือน (ปนัดดา เรืองวุฒิ) และ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจ (อีทีซี)

หากพิจารณาในแง่ชีวประวัติของนักเขียนคำร้องคนหนึ่ง ณ ยุคเริ่มต้น/ยุคทอง/ยุครุ่งเรืองของค่ายแกรมมี่ ชายหนุ่มผู้จบการศึกษาจากพณิชยการพระนครอย่างสุรักษ์ ก็เคยมีสถานภาพเป็นบุคลากรรุ่นเยาว์ภายในทีมทำเพลงของ “เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์” อันเต็มไปด้วยมือพระกาฬที่จบการศึกษาจากธรรมศาสตร์-จุฬาฯ หรือไม่ก็ผ่านการเล่นดนตรีอาชีพมาโชกโชน

โดยที่สุรักษ์ชอบเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าเขาเป็นลูกศิษย์ของ “นิติพงษ์ ห่อนาค” นักเขียนคำร้องมือทองในยุคสมัยโน้น

สุรักษ์ สุขเสวี และทักษิณ ชินวัตร

จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจของใครหลายๆ คน ที่จู่ๆ ในเดือนกรกฎาคม 2564 สุรักษ์ก็ออกมาเปิดตัวแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก ท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่เข้มข้น เมื่อเยาวชน “สามนิ้ว-คณะราษฎร 2563” รวมตัวชุมนุมบนท้องถนน แล้วถูกเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้กลับอย่างรุนแรง

คราวนั้น สุรักษ์ได้โพสต์ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ระบอบอำนาจปัจจุบัน ซึ่งมีที่มาจากคณะรัฐประหาร และมีพฤติกรรมที่สมควรถูกตั้งคำถามทางจริยธรรมหลายประการ

สุรักษ์บอกเล่าต่อว่าตนเองเป็น “ควายแดง” มาตั้งแต่ปี 2549 เขาจึงมีคำถามมากมายกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ เช่น ทนายอานนท์, เพนกวิน, รุ้ง ปนัสยา และมายด์ ภัสราวลี อย่างเต็มใจ

เซอร์ไพรส์ทางการเมืองลำดับที่สองจากสุรักษ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 หลังเขาประกาศตัวเป็นผู้แต่งคำร้อง-ทำนองเพลง “เกิดมาเป็นนักสู้” ซิงเกิลใหม่ล่าสุดของ “โทนี่ วู้ดซัม” หรือ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งยังมีโอกาสเดินทางไปดูไบเพื่อควบคุมการบันทึกเสียงร้องของทักษิณด้วยตนเอง ดังที่สุรักษ์บรรยายว่า

“ผมมีโอกาสได้เดินทางไปดูท่านทักษิณร้องเพลงนี้ด้วยตัวเองที่ดูไบ อยากจะบอกว่าทุกถ้อยคำในเพลงนี้ ตั้งแต่ประโยคแรกจนถึงประโยคสุดท้ายของเพลง ผมกลั่นกรอง (Refined) ออกมาจากชีวิตทางการเมืองของท่านทุกหยาดหยด

“ท่านทักษิณอาจไม่ได้ร้องเพลงเก่งแบบนักร้องอาชีพ แต่เพลงนี้ถือว่าเป็นเพลง Function เพื่อการใช้งาน เพราะท่านอยากจะสื่อสารเรื่องราวในใจของท่านผ่านบทเพลง เพื่อเข้าถึงจิตใจคนที่นิยมชมชอบท่าน

“การได้สัมผัสตัวตนและตัวจริงของท่านในการร่วมทำงานเพลงนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผมครั้งหนึ่งในชีวิต และผมภูมิใจ ผมบอกท่านเองว่าผมจะไม่ปิดบังว่าเป็นคนแต่งเพลงนี้ให้ท่าน เพราะผมชื่นชมท่าน”

ไม่ผิดนัก ถ้าจะนิยามว่า “เกิดมาเป็นนักสู้” คือ “เพลงโปรทักษิณ” โดยอดีตนักแต่งเพลงดังยุค 90 แห่งค่ายแกรมมี่

อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “นักแต่งเพลงยุค 90” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับมีความเป็นมาที่ยาวนานสลับซับซ้อนกว่านั้น

เพราะอย่างน้อยที่สุด ในกระแส “ม็อบเสื้อเหลือง-กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” พุ่งขึ้นสูง ณ ปลายทศวรรษ 2540 สังคมไทยก็เคยได้ทำความรู้จักกับเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ซึ่งถือเป็น “เพลงแอนตี้ทักษิณ” หรือ “ด้านกลับ” ของเพลง “เกิดมาเป็นนักสู้”

ก่อนหน้านี้ ผมเคยอ้างลอยๆ ว่า “อัญชะลี ไพรีรัก” (หรือ “อัญชลี ไพรีรักษ์”) ได้เขียนเล่าเอาไว้ในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถึงเรื่องราวความเป็นมาของบุคคลปริศนาผู้แต่งเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม”

ต้องขอสารภาพว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมมักอ้างถึงงานเขียนชิ้นนั้นจากความทรงจำล้วนๆ กระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อน จึงลองสืบหาบทความดังกล่าวอย่างจริงจัง

จนได้เจอบทความชื่อ “บุตรชายของนายเอม” โดยอัญชลี ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันที่ 15 เมษายน 2549

“บุตรชายของนายเอม” โดยอัญชลี ไพรีรักษ์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันที่ 15 เมษายน 2549

ในงานเขียนของอัญชลี เธอเรียกขานผู้เขียนคำร้อง-แต่งทำนอง-ขับร้องเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ว่า “บุตรชายของนายเอม” พร้อมทั้งระบุว่าเขา “เป็นนักแต่ง (เพลง) ฝีมือพระกาฬ จนได้ชื่อว่าเป็นมือปั้นคือปั้นดินให้เป็นดาว ปั้นลูกชาวบ้านให้เป็นซูเปอร์สตาร์ ประดับประดาทั่วทั้งวงการ”

บทความชิ้นเดียวกันบรรยายต่อว่าผู้มั่งมีจากครอบครัวศักดินาอย่าง “บุตรชายของนายเอม” นั้นเป็นเพื่อนร่วมสถาบันอัสสัมชัญกับ “สนธิ ลิ้มทองกุล”

ทั้งยังเคยเรียนหนังสือที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นไล่เลี่ยกับ “เต๋อ เรวัต” ทว่า ตัดสินใจลาออกก่อนจบการศึกษา หลังเขาเอ่ยถามอาจารย์ว่า “เราเรียนเศรษฐศาสตร์ไปเพื่ออะไร?” ก่อนจะได้รับคำตอบว่า “วิชาเศรษฐศาสตร์จะสอนให้เรารู้ และแสวงหามูลค่าแห่งเงินตรา จนเราสามารถค้นพบมันเจอได้ ทุกครั้งที่ล้วงมือลงในสองกระเป๋ากางเกง”

เมื่อหันหลังให้มหาวิทยาลัย “บุตรชายของนายเอม” ก็ออกตระเวนแสดงดนตรีทั่วเมืองไทยและข้ามไปต่างประเทศ ต่อมาเขาร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งบริษัทดนตรีของตนเอง และสร้างผลงานดังๆ มากมาย กระทั่งกลายเป็น “นักแต่งเพลงชื่อก้องฟ้าบันเทิง”

ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2549 อัญชลีเขียนเล่าปิดท้ายบทความว่า “ทุกวันนี้บุรุษลึกลับนามบุตรชายของนายเอม ยังแต่งเพลงโด่งดังออกมามากมาย และยังใช้ชีวิตคนดังในสังคมบันเทิงตามปกติ หาได้มีใครสงสัยในตัวเขาไม่ หลายครั้งที่เขาอมยิ้มเมื่อเจอทั้งคนชมและคนด่าเพลงไอ้หน้าเหลี่ยม

“เป็นความสะใจ เป็นความลับ เป็นปริศนาที่ท้าทายที่สุดในชีวิตเขา และเป็นบทเพลงที่เขายืดอกบอกได้เต็มปากว่า เพราะที่สุดเท่าที่เคยแต่งมา ดีที่สุดเท่าที่เคยทำเพลงมา จะไม่สามารถแต่งเพลงอะไรได้ไพเราะเพราะพริ้ง เท่าเพลงไอ้หน้าเหลี่ยมได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะวันนี้หรือวันไหน”

 

สําหรับคนฟังเพลงไทยยุค 80-90 ที่ได้อ่านเครดิตชื่อนักแต่งเพลง-คนทำดนตรีบนปกเทปต่างๆ อยู่บ่อยๆ การเสาะแสวงหาตัวตนแท้จริงของ “บุตรชายของนายเอม” นั้นถือเป็นปริศนาคลุมเครือ ที่เต็มไปด้วยความกระจ่างแจ้ง

คำตอบต่อคำถามว่า “บุตรชายของนายเอม” ผู้แต่งเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” คือใคร? อาจสามารถค้นหาได้จากหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติทางดนตรีของ “สุรักษ์ สุขเสวี” นั่นเอง

ในบทที่ยาวและดีที่สุดของหนังสือเล่มนั้น สุรักษ์เขียนถึงเพลง “นักเดินทาง” (กัมปะนี) ซึ่งเขาแต่งคำร้องจากทำนองของ “สมชัย ขำเลิศกุล”

และตรงช่วงท้ายของบทดังกล่าว สุรักษ์ก็ได้พรรณนาถึงทีมแต่งเพลงยุคแรกในค่ายแกรมมี่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ “เต๋อ เรวัต” เอาไว้อย่างละเอียดลออ

โดยทีมทำเพลงของเต๋อจะมีลักษณะแบ่งแยก “ทีมแต่งคำร้อง” ออกจาก “ทีมแต่งทำนอง” อันนำไปสู่จารีตการ (แบ่งกัน) ทำงานแบบแกรมมี่ ที่ยั่งยืนยาวนานนับทศวรรษ

จากบันทึกของสุรักษ์ ทีมแต่งคำร้องของเรวัตจะประกอบด้วย นิติพงษ์ ห่อนาค, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, ประชา พงษ์สุพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, สีฟ้า (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์), นวฉัตร (สมควร มีศิลปสุข), วรัชยา พรหมสถิต, วีระเกียรติ รุจิรกุล, จักราวุธ แสวงผล และตัวสุรักษ์เอง

ขณะที่ทีมแต่งทำนองจะประกอบด้วย วิชัย อึ้งอัมพร, ไพฑูรย์ วาทยกร, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, สมชาย กฤษณะเศรณี, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, อนุวัฒน์ (ธนวัฒน์) สืบสุวรรณ, โสฬส ปุณกะบุตร, ชาตรี คงสุวรรณ, อภิไชย เย็นพูนสุข, ชุมพล สุปัญโญ, พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และธนา ลวสุต

(อย่างไรก็ดี สมาชิกทีมแต่งคำร้องเช่นสุรักษ์ได้พิสูจน์ให้เห็นในภายหลังว่าเขามีความสามารถด้านการแต่งทำนองเพลงด้วย เช่นเดียวกันกับสมาชิกทีมแต่งทำนองบางรายที่มีศักยภาพในการเขียนคำร้อง)

ดูเหมือนตัวตนรางๆ ของ “บุตรชายของนายเอม” ได้เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น ท่ามกลางรายนามอันมากมายหลายหลากเหล่านั้น •