คนไม่เปลี่ยน-เมืองก็ไม่เปลี่ยน/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

คนไม่เปลี่ยน-เมืองก็ไม่เปลี่ยน

 

ไม่เรียกฝีมือแล้วจะให้เรียกว่าอะไร

ในรอบ 1 ปี ตั้งแต่มกราคม 2563-มกราคม 2564 มีคนตายจากโควิด-19 รวม 69 ชีวิต

กระทั่งวันที่ 15 มีนาคม 2564 สถิติผู้ป่วยรายใหม่ก็วันละ 78 คน และตายวันละ 1 คนเท่านั้น

แต่เดือนมีนาคมปีนี้ ทำไมอัตราการตายเฉลี่ย 80-90 คนต่อวัน!

พอย่างเข้าเมษายน ทุบสถิติ ตายเฉียด 100 คนทุกวัน

ยอมรับกันได้ว่าในปีนี้โควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ ติดง่าย กระจายไว ไม่ต้องแปลกใจถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมาก

แต่ที่ขวางโลกคืออัตราการตายของไทยสูงทะลุเพดานเดือด นับตั้งแต่มีนาคม มา ปาเข้าไปกว่า 2,000 คน

ผนงรจตกม – หลักการนี้ใช้ได้ในทุกงาน ทุกสถานที่ ทุกเวลา

ไม่มีความรู้ ไม่มีความคิดสำหรับรับมือวิกฤต รู้จักแต่การออกคำสั่งห้าม กับใช้กำลัง ไม่เคยรับรู้ความผิดพลาดบกพร่องเพื่อพัฒนาปรับปรุง มีแต่การกล่าวโทษและชี้นิ้วไปยังผู้อื่น ป้ายสี บิดเบือน ใส่ร้าย ไม่เว้นแม้แต่การดิสเครดิตคนตาย

นี่คือประเทศไทยซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ

 

กรุงเทพมหานคร เมืองอมรที่มลังเมลืองงดงามดุจดั่งสรวงสวรรค์แห่งนี้มีตั้งแต่ที่สูงเสียดฟ้าไปจนถึงต่ำเตี้ยติดดิน เมืองแห่งการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง อำนาจเศรษฐกิจ วิทยาการ เมืองซึ่งประกอบไปด้วยคนหลากหลายชนิดประเภทและระดับชั้น สูงสุด ต่ำสุด รวยสุด จนสุด รวมกันอยู่ภายใต้ฉากอมรพิมานอวตารสถิต

อย่าให้ใครมาหลอกกันอีกเลย

กรุงเทพฯ ไม่ต้องไปไหนมาไหน กรุงเทพฯ เป็นเมืองตั้งอยู่ที่นี่ อยู่ตรงนี้ เพียงแต่มีปัญหาซับซ้อนมากมายและแก้ไขยาก จำเป็นจะต้องอาศัยทั้งหัวใจและ “มือ” มาพัฒนา ไม่ใช่มือที่กวาดโกย!

แต่ภายหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา การพัฒนาปรับปรุง “เมือง” และ “ชีวิต” ของคนกรุงเทพฯ ชะงักงัน เจตจำนงถูกปิดกั้นความต้องการถูกมองข้าม

ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ย่อมจะไม่ได้ยินเสียง “รักกรุงเทพฯ”

จริงทีเดียวว่า การหยุดอยู่กับที่มีค่าเท่ากับถอยหลัง “เมือง” กับ “คน” กรุงเทพฯ เหมือนถูกแช่แข็ง แต่กระนั้นยังมีสิ่งหนึ่งที่ดำเนินไปอย่างเส้นคงวาเหมือนเดิม นั่นคือ ค่าใช้จ่ายเพื่อให้การดำเนินธุรกิจสะดวกรวดเร็วไม่ถูกขัดจังหวะและเสียโอกาส

กรุงเทพฯ กลายเป็นขุมทรัพย์ให้กับหลายๆ คนซึ่งไม่ต้องมีภาระผูกพันรับผิดชอบ

 

“เมือง” กับ “คน” กรุงเทพฯ สูญเสียโอกาสมานานมากแค่ไหนเห็นทีจะต้องย้อนไปดูกันตั้งแต่เมื่อ 10 สิงหาคม 2518

นั่นกรุงเทพฯ มีโอกาสได้ “เลือกตั้ง” ผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งแรก

กรุงเทพฯ ได้ “ธรรมนูญ เทียนเงิน” เป็นผู้ว่าฯ คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ทำหน้าที่ได้เพียง 1 ปีกับ 8 เดือน “ผู้ว่าฯ ธรรมนูญ” ก็ถูกนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 สั่งปลดในเดือนเมษายน 2520

จากนั้นเป็นต้นมา กรุงเทพฯ ก็ถูกยึดครองโดยผู้ว่าฯ ที่มาจาก “การแต่งตั้ง” ยาวนานถึง 8 ปี

ไม่มีพิธีแห่นางแมว ไม่มีคน กทม.ประกอบพิธีกรรมอันใดขอให้ได้ผู้ว่าฯ ที่มาจาก “การเลือกตั้ง”!

คน กทม.ช่างสงบเสงี่ยมเจียมตน อดทนรอคอย รอจนกระทั่งผู้มีอำนาจทางการเมืองระดับชาติยอม “คาย” ออกมาให้เอง ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 จึงมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง

ได้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

“เมือง” กรุงเทพฯ และ “คน” กรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งที่ให้ความสนใจกับเมืองและสนใจผู้คนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันนั้น

จากจำลอง ศรีเมือง สู่กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา สู่พิจิตต รัตตกุล สู่สมัคร สุนทรเวช สู่อภิรักษ์ โกษะโยธิน

จนสิ้นที่ “สุขุมพันธุ์”

 

รัฐประหาร 2557 ทำให้กรุงเทพฯ ต้องย้อนยุคกลับไปเหมือนเมื่อปี 2520 อีกครั้ง!!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แล้วแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน

ตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เข้าปีที่ 6 “อัศวิน” ก็ลาออกเพื่อลงสนาม เสนอให้เป็น “ตัวเลือก” พร้อมๆ กับผู้สมัครที่เป็น “ตัวเต็ง” เช่น

เบอร์ 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล

เบอร์ 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์

เบอร์ 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

อำนาจพิเศษที่รวมศูนย์ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุง แต่กลับทำให้เสื่อมทรามลง

หลายปีมานี้คนกรุงเทพฯ มีความอดทนในการ “รอคอย” ด้วยความหวังว่า ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งจะนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ “เมือง” และ “คน กทม.”

มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” กันเป็นจำนวนมาก แต่มี “จำนวนหนึ่ง” ในจำนวนนั้นยังคงเชื่อว่าคน กทม.หัวเก่า เปะปะ หลอกง่าย ฝักใฝ่อำนาจ เอาแต่ใจ และสุดท้ายก็เห็นแก่เงิน ภายใต้โครงครอบของระบอบในปัจจุบันนี้ กรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ “เมือง” ในทางกายภาพ หากแต่เป็น “ฐานที่มั่น” ไม่อาจปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

ก่อนถึงวันหย่อนบัตรเลือกผู้ว่าฯ กทม.จึงอาจจะมีอิทธิฤทธิ์สำแดง

ใช่หรือไม่ว่าสังคมไทยสั่งสอนปลูกฝังให้เชื่อกันจนเชื่องว่าสักวันหนึ่ง “กรรมจะต้องตามทัน” ใครทำสิ่งไม่ดีอะไรเอาไว้ กรรมต้องตามสนอง

ถึงได้แต่นั่งรอ รอสักวันหนึ่ง…สักวันหนึ่ง…

ยังไม่เคยได้เห็น “กรรม” เล่นงานอสูรกายที่ปู้ยี่ปู้ยำกรุงเทพฯ

ตรงกันข้าม “คนที่คุณควรจำหน้าได้” ขี้ฉ้อสอพลอกลับเสวยสุขกันจนล้นคอหอย!

ทำไม “กฎแห่งกรรม” ทำไมจึงเกียจคร้าน ไม่ทำงาน

 

การเลือกตั้งคือการใช้สิทธิทางการเมือง 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน

“22 พฤษภาคม 2565” ครบรอบ 8 ปีของรัฐประยุทธ์รัฐประหาร

22 พฤษภาคม 2565 ถูกกำหนดให้เป็น “วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.”

เป็นวันที่จะเปลี่ยนผู้ว่าฯ “แต่งตั้ง” เป็นผู้ว่าฯ จาก “การเลือกตั้ง” ของคน กทม.

กรุงเทพฯ ต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง”

กรุงเทพฯ เปลี่ยนได้จะต้องอาศัย “มือคน” เปลี่ยน!?!!!