ศึกสายเลือด ในการเมือง กทม. ชี้ทิศทางการเมืองไทย-หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ศึกสายเลือด

ในการเมือง กทม.

ชี้ทิศทางการเมืองไทย

ศึกการเมือง กทม .หลังการรับสมัคร พบว่าพรรคที่ส่งสมัครครบทั้ง 50 เขตคือ เพื่อไทย, ก้าวไกล, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ และไทยสร้างไทย

กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ส่ง 38 คน พรรคกล้าส่ง 14 คน มี ส.ก.อิสระสมัคร 36 คน

ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.รวมทั้งสิ้น 31 คน แต่จากผลสำรวจพบว่า ผู้สมัครอิสระ 2 ราย คือ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และผู้ว่าฯ อัศวินเป็นตัวเต็ง และผู้สมัครจากพรรค คือก้าวไกลและ ปชป.มีโอกาสทั้ง 4 คน

สำหรับพรรคใหม่มองจากจุดนี้จึงพบว่า พรรคกล้าไม่กล้าจริง แต่ไทยสร้างไทยกล้าเสี่ยงหวังจะให้เกิด

 

ศึกสายเลือดฝ่ายค้าน

เปิดหน้าหักกันครบ 50 เขต

หลังการรับสมัครก็พอมองเห็นทิศทางการเมืองใหญ่ระดับประเทศว่าเป็นอย่างไร

พรรคใหญ่ในฝ่ายประชาธิปไตยคือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะเป็นคู่แข่งขันกันเองในเกือบทุกเขต

แต่ตัวตัดคะแนนคือพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเป็นพรรคใหม่ที่พอมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ แต่จะได้แค่ไหนต้องดูผลการเลือกตั้ง กทม.ก่อน คนที่เข้าไปร่วมพรรคนี้ก็มีแรงดึงดูดใจที่ว่ายังไงก็น่าจะได้ร่วมรัฐบาลไม่ว่าแกนนำจะมาจากพรรคใดจัดตั้งรัฐบาล และไทยสร้างไทยจะกลายเป็นตัวตัดคะแนนเพื่อไทยในหลายเขต

แต่ถ้ากระแสเพื่อไทยแรงมากที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นไทยสร้างไทยนี่แหละ เพราะถึงเวลานี้พรรคก้าวไกลก็มีขาประจำของตัวเองแล้ว แต่ไทยสร้างไทยส่วนใหญ่มาจากเพื่อไทย เมื่อเพิ่งมาเปิดใหม่ ก็ต้องดึงทั้ง ส.ส.และหัวคะแนนจากที่ต่างๆ มาช่วยสร้างพรรค แต่ไม่ใช่ว่าจะหาง่ายๆ เพราะพรรคที่กำลังมีปัญหาและ ส.ส.แตกออกไปส่วนใหญ่ไหลไปเข้าพรรคที่มีพลังดูดอย่างภูมิใจไทย

ดังนั้น ที่ใกล้ตัวที่สุดคือคนในพรรคเพื่อไทย

แต่ขณะนี้กระแสเพื่อไทยกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ คนไหลออกจึงมีน้อย เพื่อไทยต้องไม่พอใจที่คนถูกดูดออกไปแน่นอน

ดังนั้น การปะทะหนักจะเกิดขึ้นในยุทธภูมิ กทม.นี่แหละ

ไทยสร้างไทยจะหาเสบียงกรังมาจากนายทุนกลุ่มไหนก็ต้องเตรียมให้ดี ตำแหน่งผู้ว่าฯ คงยากแล้ว เข้าใจว่าหาคนไม่ได้ จึงออกตัวช้า

ที่ได้ประโยชน์คือใช้เป็นหัวของผู้สมัคร ส.ก. ศึกนี้หนักแน่เพราะยังมีคนของพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และของผู้ว่าฯ อัศวินชิงคะแนนอยู่

คะแนนของชัชชาติที่ว่านำตามโพลต่างๆ ถึงเวลาของจริง จะได้รับผลกระทบจากก้าวไกลเพราะมีฐานคะแนนที่แน่นอนอยู่แล้ว ในการเลือก ส.ส. 2562 และเป็นแชมป์ กทม. แถมโดนตัดคะแนนจากไทยสร้างไทยอีก

ต้องปลุกเสียงอิสระออกมาเลือกให้มากพอ จึงจะชนะตามโพลได้

 

ศึกสายเลือดฝ่ายรัฐบาล

ซ่อนเร้น เจ็บลึก เปิดศึกไม่เปิดปาก

พรรคพลังประชารัฐแกนนำฝ่ายรัฐบาลได้ ส.ส. 12 คนในเขต กทม.

แต่เมื่อแตกกันเละจนไม่สามารถส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ ได้ เพราะรู้ว่าส่งมาก็แพ้ยับ หน้าแตกแน่ แต่ก็จำเป็นต้องส่ง ส.ก. ถ้าไม่ส่งเลยว่าจะกลายเป็นการทิ้ง ส.ส.ถึง 12 เขต และฐานเสียงเดิมเกือบ 800,000 เสียง

แบบนี้ทำให้มีผู้ที่เคยมีบทบาทในการเลือกตั้ง 2562 ทั้งที่อยู่ในพรรคการเมืองอยู่ในกลุ่ม กปปส. คนที่เคยบริหาร กทม.แล้ว ล้วนอยากทดลองลงมาเสี่ยงดู ว่าสมัครผู้ว่าฯ กทม.แล้วผลจะเป็นอย่างไร เพราะอีกฝ่าย ทั้งชัชชาติ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และศิธา ทิวารี มีคะแนนฐานเดิมตัดกันเอง

พลังประชารัฐอยากส่งผู้ว่าฯ อัศวิน แต่ปัญหาความแตกแยกภายในและผู้ว่าฯ อัศวินก็ไม่อยากลงในนามพลังประชารัฐที่มีกระแสตกต่ำ จึงขอลงแบบอิสระ แถมยังมี ส.ก.ของตัวเอง มิฉะนั้นจะมีปัญหายุ่งยากในการจัด ส.ก. ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นสายใครต่อสายใครบ้าง มีความสับสนในอำนาจของกลุ่มต่างๆ ในพลังประชารัฐซึ่งยังแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในเมื่อผู้ว่าฯ อัศวินก็มีศักยภาพที่จะจัดการการเลือกตั้งด้วยกำลังของกลุ่มรักษ์กรุงเทพและมีแรงหนุนจากแกนนำและ ส.ส.บางคนในพลังประชารัฐ แต่ก็มีศึกสายเลือดในที่ว่าการ กทม. ปรากฏชัดเมื่อรองผู้ว่าฯ สกลธี ภัททิยกุล โดดมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.บ้างในนามอิสระ แกนนำ กปปส. 2 คนคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาหนุนรองผู้ว่าฯ สกลธี แต่ถาวร เสนเนียม ออกมาหนุนผู้ว่าฯ อัศวิน

ส.ก.พรรคพลังประชารัฐก็ควรจะต้องหนุนคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ แต่จะหนุนอัศวินก็ไม่ได้ เพราะเขามี ส.ก.ของตัวเองแล้ว 38 คน

ดังนั้น ส.ก.ของพลังประชารัฐส่วนใหญ่ เมื่อคนถามก็ต้องบอกว่า สนับสนุนสกลธี แต่ก็กังวลว่าคะแนนสกลธีจะไปได้แค่ไหน

ตอนนี้ดูผู้ว่าฯ อัศวินจะมั่นใจกว่า เพราะกล้าปฏิเสธเสียงจาก กปปส.

 

พรรคประชาธิปัตย์

อึดอัด เพราะมีกรรมร่วมกัน

ที่พรรคประชาธิปัตย์รู้สึกอึดอัด เพราะปกติการหาเสียงต้องโจมตีผู้บริหารที่ทำงานไม่เป็น แถมยังโกง แต่งานนี้ในระดับรัฐบาลก็ทำไม่ได้เพราะร่วมรัฐบาลอยู่

ในระดับ กทม.ก็ทำไม่ได้ เพราะก่อนผู้ว่าฯ อัศวินมา พรรค ปชป.ดูแล กทม.มาถึง 10 ปี ไม่มีผลงานให้คนประทับใจ ขืนโจมตีก็จะเข้าเนื้อตัวเอง

กรรมร่วมอีกอันคือ กรรมร่วมในอดีตจากการปราบประชาชนที่มาชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 วันที่ 10 เมษายนนี้ครบรอบ 12 ปีพอดี

เฉพาะวันที่ 10 เมษายน 2553 มีการปราบประชาชนที่มาชุมนุมด้วยอาวุธสงครามทั้งปืนกล, Sniper และยานยนต์หุ้มเกราะ ถ้ามองภาพรวมทั้งการเมืองแล้ว ปชป.ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลต้องรับผิดชอบ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดนไปเต็มๆ แต่ถ้าลงลึกถึงการปฏิบัติ กรรมการ ศอฉ.ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ แม้การฟ้องร้องดำเนินคดีของฝ่ายประชาชนจะยังดำเนินการไม่ได้ในช่วงนี้ แต่ในอนาคตข้างหน้ายังไม่แน่

ศอฉ. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น เป็นรองผู้อำนวยการ-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรอง ผบ.ทบ.

แม้การรัฐประหาร 2557 จะทำให้คดีสังหารประชาชนไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้เต็มที่ แต่คดีแบบนี้วันหนึ่งก็ฟื้นขึ้นมาได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจการเมือง เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งของการรัฐประหารก็คือไม่ต้องการให้คดีแบบนี้ถูกหรือฟื้นขึ้นมา

และไม่ว่าพวกเขาเคยทำอะไรมาด้วยกัน แต่ผลประโยชน์และอำนาจในสิบปีต่อมาเกิดความขัดแย้งกันเองจนได้ นี่จึงเป็นความเจ็บลึก เปิดศึกกันลับๆ ไม่กล้าพูดมาก

การเลือกผู้ว่าฯ และ ส.ก.ครั้งนี้ ปชป.แรงกดดันลดลงเนื่องจากพรรคกล้า ไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ แถมยังส่ง ส.ก.แค่ 14 คน

แต่วิบากกรรมของ ปชป.ยังมีอีก เพราะถ้าคะแนนของ ดร.เอ้ต่ำกว่าคะแนนของผู้ว่าฯ อัศวิน หรือต่ำกว่าคะแนนของคุณสกลธี หมายความว่าคะแนนที่เคยเป็นกองหนุนของประชาธิปัตย์ ได้ยกเลิกการสนับสนุน ปชป.ไปอย่างถาวรแล้ว และจะกระจายตัวออกไปตามพรรคต่างๆ ที่อยู่ในฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยกัน

โอกาสที่จะไม่มี ส.ส.ในกรุงเทพฯ เลยสักคนก็จะเกิดขึ้นอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับหัวหน้าชวน หลีกภัย จะอยู่อย่างไร?

 

สถานการณ์การเมืองใหญ่ยังไม่แน่นอน

เกมไม่ไว้วางใจในสภาจะใช้เมื่อไร?

จริงๆ แล้วสถานการณ์การเมืองวันนี้ไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างชัดแจ้งว่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งเมื่อใด เป็นเพราะความตั้งใจของผู้อยู่ในอำนาจยังต้องการอยู่นานที่สุดจนครบวาระ

แต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะอยู่รอดได้นานเท่าไร จะสามารถรอดไปจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้จริงหรือไม่

ถ้าพวกเขามั่นใจว่าจะได้เป็นรัฐบาลต่อ แน่นอนหลังเลือกตั้ง กทม.เขายุบสภาแน่ แต่สถานการณ์ขณะนี้ชี้ว่าประชาชนไม่พอใจ โอกาสจะได้เป็นรัฐบาลต่อไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้เป็นอยู่แล้วก็ยืดอายุต่อไปเรื่อยๆ ยังทำมาหากินกันได้อีกประมาณ 1 ปี ในสภาพวกเขาก็ใช้อาวุธคือกล้วย นอกสภาถ้ามีคนต่อต้านก็ใช้วิธีจับกุมคุมขัง

จนถึงวันนี้ ประยุทธ์ก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะเสี่ยงให้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายแล้วไปวัดคะแนนเสียงในสภา โดยฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองและ ส.ส.หลายพรรค

การใช้กล้วยเป็นอาวุธ เป็นหนทางที่ไม่ปลอดภัยเพราะกล้วยเป็นของที่ใครก็มีแจก และอาจจะมี ส.ส.บางคนที่แอบรับกล้วยจากหลายทางแต่โหวตไม่ไว้วางใจ พร้อมกับได้รับคำชมว่าเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย ที่สามารถล้มรัฐบาลได้

ในขณะที่พวกที่สนับสนุนรัฐบาลก็จะถูกกล่าวหาว่ายกมือสนับสนุน เพราะได้ประโยชน์ ไม่รู้จักแก้ไขแม้ประเทศชาติมีปัญหา อยู่ไปวันๆ เพราะเห็นแก่กล้วย

สำหรับฝ่ายค้านเองนั้นในสมัยประชุมถ้ามีโอกาสยื่นญัตติไม่ไว้วางใจครั้งเดียว ก็ต้องคิดให้รอบคอบว่าจะยื่นเมื่อไร

เพราะถ้ายื่นในจังหวะที่อีกฝ่ายเสียงแข็ง ก็จะเสียโอกาสนั้นไปเปล่าๆ ได้แต่อภิปรายในสภาแต่ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงใดๆ

น่าจะรอจังหวะให้ดี ช้าไปนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าไม่ใช่มีแค่นายกฯ ตำแหน่งเดียวเหมือนผู้ว่าฯ แต่ยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีให้ชิงอีก 20 ดังนั้น จะไม่มีแค่สองขั้ว แต่จะเป็น 10 พรรค พร้อมตะลุมบอน