เล่าเรื่องเฉ่งเบ๋ง (เช็งเม้ง) และความเปลี่ยนแปลง | ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

เล่าเรื่องเฉ่งเบ๋ง (เช็งเม้ง)

และความเปลี่ยนแปลง

 

ช่วงนี้เป็นเทศกาลเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ซึ่งในภาษาจีนกลางเรียกชิงหมิง เรารู้จักกันในสำเนียงแต้จิ๋วว่า เช็งเม้ง แต่ผมจะขอเรียกด้วยภาษาฮกเกี้ยนตามเผ่าพันธุ์ของตัวว่า “เฉ่งเบ๋ง” ด้วยความคุ้นเคยแล้วกันนะครับ

นี่เป็นหนึ่งในเทศกาลจีนที่เรารู้จักกันมากที่สุด ทุกๆ ปีในช่วงเวลานี้ เส้นทางไปยังจังหวัดชลบุรีจะคราคร่ำไปด้วยรถรา เพราะเป็นทำเลทองของการตั้งสุสาน เนื่องจากไม่ไกลกรุงเทพฯ และมีชัยภูมิที่เหมาะสม หลังภูเขา-หน้าทะเล

ทว่าสองปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนไปเซ่นไหว้บรรพชนกันน้อยลงมากๆ ด้วยปัจจัยความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ปีนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่กระเตี้องขึ้น จนมีข่าวว่าธุรกิจเช่าเต็นท์สำหรับกันร้อนแก่ผู้ไปไหว้สุสานมียอดลดลงจนน่าใจหาย

มาวันนี้เลยอยากจะเล่าทั้งเรื่องที่พอรู้เกี่ยวกับประเพณีเฉ่งเบ๋ง และเรื่องประหลาดๆ เกี่ยวกับธรรมเนียมของที่บ้าน ซึ่งต้องขออภัยท่านผู้อ่านเพราะออกจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อยากให้ท่านคิดว่ามีอะไรสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นของว่างบำรุงสมองครับ

 

ในเมืองจีนมีธรรมเนียมทำศพโดยการฝังมาเนิ่นนาน คนจีนมีความเชื่อเรื่องพลังชีวิตที่เรียกว่า “ชี่” ซึ่งก็เหมือนกับ “ขวัญ” ของเรา เมื่อคนเกิดมาพลังชีวิตก็จะถูกใช้ไปเรื่อยๆ จนลดลงและหมดไป เมื่อนั้นเราก็ตาย แต่ตายแล้วก็ต้องฝังไว้เพื่อให้ดวงจิตได้พักและรับเอาพลังธรรมชาติของฟ้าดินกลับมาเพื่อจะหมุนเวียนก่อกำเนิดใหม่

จุดที่ฝังศพจึงเป็นจุดพลังงานที่สำคัญ คนจีนจึงเชื่อว่าหากได้ฝังศพในตำแหน่งที่เหมาะสม มีชัยภูมิที่ดี พลังของธรรมชาติที่ส่งมายังพื้นที่จะแผ่ไปถึงลูกหลานได้ เช่น ทำให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรือง แต่ในทางตรงข้าม หากได้ภูมิประเทศที่ไม่ดีก็อาจส่งผลร้ายได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้วิชาโหราศาสตร์จีนที่เน้นพลังธรรมชาติโดยเฉพาะที่เรียกว่า “ฮวงจุ้ย” (หรือเฟิงสุ่ยในภาษาจีนกลางอันแปลว่า ลม-น้ำ) จึงถูกเน้นเป็นพิเศษในการตั้งสุสาน

ถึงขนาดคำเดียวกันนี้ถูกใช้เรียกสุสานว่า “ฮวงซุ้ย” ตามสำเนียงจีนถิ่นใต้ (ฮกเกี้ยน-แต้จิ๋ว) ในเมืองไทยไปเลย

 

ที่จริงสุสานนั้นเรียกว่า “บ่อง” ในภาษาจีนฮกเกี้ยน (หรือ “หม่อ” ในสำเนียงแต้จิ๋ว) จีนแต่ละพวกต่างก็มีเอกลักษณ์ในการทำบ่องที่แตกต่างกันออกไปหลายอย่าง

มีผู้รู้ท่านกล่าวว่า สมัยโบราณ ชาวจีนยังเชื่อว่าดวงจิตผู้ตายจะเดินทางโดย “ธารน้ำสีเหลือง” ใต้ดินไปสู่อีกภพภูมิหนึ่ง จึงต้องทำที่บรรจุศพเป็นรูปเรือ ใส่ข้าวของลงไปให้ผู้ตายใช้ ผมคิดว่าโลงหัวหมูหรือโลงจำปาก็น่าจะสะท้อนเจ้าเรือซึ่งขุดจากไม้ที่ว่านี้ แล้วยังน่าสนใจอีกว่า ตำนานนี้ช่างเหมือนกับตำนานการเดินทางของผู้ตายอีกหลายๆ ที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะอินเดียหรือกรีก-โรมัน

ทั้งนี้ เมื่อจีนรับพุทธศาสนาจากอินเดียแล้ว ก็ได้รับเอาการทำศพด้วยการเผาไปใช้เช่นกัน ในเมืองจีนจึงมีทั้งการเผาและฝัง ไม่ได้มีแต่การฝังอย่างที่หลายคนเข้าใจ ทว่า เมื่อถึงสมัยหมิง การฝังศพก็กลับเป็นที่นิยมอีกครั้ง จนรัฐต้องทำที่ฝังศพสาธารณะสำหรับคนยากไร้ไว้ให้

ส่วนรัฐจีนสมัยใหม่เขาไม่ให้ฝังแล้วครับ เพราะรัฐต้องการพื้นที่มาใช้ จึงให้เผาศพอย่างเดียว บางท่านที่ยังมีญาติอยู่เมืองจีนเล่าว่า ไม่ใช่แต่คนตายในสมัยนี้ที่ต้องเผา แม้คนตายเก่าๆ ที่ฝังไปนานแล้ว เขาก็จะให้ขุดขึ้นมาเผาหากรัฐต้องการพื้นที่ตรงนั้น

ถ้าญาติไม่มาจัดการ รัฐก็จะมาจัดการเอง

 

ส่วนในเมืองไทย ชาวจีนรุ่นเก่าๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดอย่างบรรพบุรุษของผม ก็พอจะไปจับจองหาสถานที่ตั้งสุสานกันเองไว้ตามป่าตามเขา เหมือนอย่างในสมัยโบราณ แต่ต่อมามีคนจีนอพยพมาเยอะขึ้นจึงมีสมาคมหรือมูลนิธิจัดการที่ตั้งสุสานแบบรวมไว้ให้ ซึ่งสะดวกกว่ามาก

ที่น่าสนใจคือจังหวัดเล็กๆ อย่างระนอง กลับมีสุสานจีนที่น่าจะใหญ่และชัยภูมิดีที่สุดในประเทศไทย คือสุสานของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองและต้นตระกูล ณ ระนอง ซึ่งมีสถาปัตยกรรมและเครื่องประกอบสุสานแบบเดียวกับ “จ๋งต๊ก” หรือตำแหน่งเจ้าเมืองในจีน เข้าใจว่าจะเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น ภูเขาระฆังทองซึ่งมีสุสานของ “ท่านเจ้าคุณเฒ่า” หรือท่านคอซู้เจียงนั้น ยังเป็นที่ตั้งของสุสานคนในตระกูล ณ ระนองทั้งหมดอีกด้วย

ส่วนครอบครัวผม ท่านทวด (อาจ้อ) บุ่นอ้วน ได้ไปเลือกชัยภูมิสุสานของท่านเอง บนภูเขาหลังวัดวารีบรรพตในปัจจุบัน เพราะท่านมีความรู้ด้านนี้ เสียดายที่ท่านเสียชีวิตไปโดยไม่มีใครในตระกูลสืบทอดวิชาความรู้พวกนี้ไว้เลย

ผู้ใหญ่มักเล่ากันว่า ท่านทวดของผมเตรียมโลงหัวหมูและเสื้อผ้าที่จะใส่เมื่อเสียชีวิตไว้ล่วงหน้า แขวนเก็บไว้ในบ้าน ส่วนป้ายหินของสุสานก็เขียนอย่างธรรมเนียมเก่าและท่านเป็นผู้เขียนข้อความสำหรับป้ายของตัวเองไว้เองด้วย

ต่อแต่นั้นมา เมื่อคนในตระกูลของเราเสียชีวิต แม้ไม่ได้ฝังอย่างจีนแล้ว ก็มักทำที่บรรจุกระดูกไว้ในบริเวณเดียวกันกับทวด

จึงถือเป็นสุสานของตระกูลไปโดยปริยาย

 

ส่วนธรรมเนียมการไหว้เฉ่งเบ๋งนั้น มีผู้ใหญ่หลายท่านบอกว่า อันที่จริงก็ยังคงต้องไหว้บรรพชนที่บ้านด้วยข้าวปลาอาหารเช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆ เพียงแต่การไปสุสานนั้นเน้นการไปทำความสะอาด ไปพูนดิน ปรับสถานที่ ตัดถางวัชพืช เขียนสีป้ายใหม่ ไปทำให้สถานที่ “เฉ่ง” หรือ “เช้ง” คือสะอาดสดใสนั่นเอง แล้วก็เซ่นไหว้เล็กๆ น้อยๆ พอเป็นพิธี

ฉะนั้น ผู้ที่เซ่นไหว้เฉ่งเบ๋งที่บ้านหลายคนมักกังวลว่า ตนทำผิดธรรมเนียมอะไรหรือไม่ ที่จริงการไหว้ที่บ้านเป็นธรรมเนียมปกติอยู่แล้ว แต่ภายหลังเน้นการไปไหว้กันมากๆ ที่สุสาน ธรรมเนียมไหว้ที่บ้านหลายบ้านจึงหายไป

ทุกวันนี้การทำความสะอาดสุสานเป็นงานของสมาคมหรือมูลนิธิที่สุสานตั้งอยู่ ลูกหลานจ่ายเงินให้ดำเนินการแล้วเพียงแค่ไปตกแต่งประดับประดาเท่านั้น มีไม่มากที่ยังคงทำความสะอาดสุสานเอง

การไหว้เฉ่งเบ๋งมักไปกันแต่เช้าเพราะอากาศไม่ร้อนมาก ที่จริงช่วงเทศกาลเฉ่งเบ๋งในเมืองจีนนั้นอากาศกำลังสบาย การไปไหว้ที่สุสานจึงเท่ากับครอบครัวได้ออกไปชมธรรมชาติด้วย แต่เมืองไทยต้นเดือนเมษายนนั้นร้อนแสนร้อน รีบไหว้แล้วก็ต้องรีบกลับบ้านกันเพราะทนร้อนไม่ไหว ของไหว้ก็แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละครอบครัว

บ้านของคุณป้าผมซึ่งมาจากครอบครัวพี่ชายคนโตของปู่ ยังคงรักษาธรรมเนียมของเซ่นไหว้แบบเก่าตามฉบับคนฮกเกี้ยน คือท่านจะต้มหมูสามชั้น มีเส้นหมี่เหลืองสดเป็นก้อนและขนมต่างๆ เช่น อั่งกู๊ ข้าวเหนียวแดงกวนกับผลไม้เล็กน้อยเท่านั้นไปไหว้ที่สุสาน และไม่ได้จุดประทัด

ส่วนกระดาษสำหรับเทศกาลนี้มีกระดาษเฉพาะเรียกว่า “บ่องจี๋” เป็นกระดาษสำหรับไหว้และตกแต่งสุสานชนิดต่างๆ

 

ส่วนครอบครัวของปู่ (ก้อง) ผมเองนั้นมีธรรมเนียมพิสดารไม่เหมือนใคร เพราะมักจะไปวันท้ายๆ ของเทศกาลหรือเลยเทศกาลไปนิดหน่อย รอจนพี่น้องคนอื่นมาไหว้กันแล้วค่อยตบท้าย ไม่ได้ไหว้ร่วมกับเขา เพราะคุณทวดท่านมีลูกเจ็ดคน แต่ปู่ของผมท่านยกให้คนอื่นเลี้ยง ปู่คงมีอะไรหลายอย่างในใจ จึงไม่ยอมไปไหว้ร่วมกับพี่น้องตัวเอง

แถมบ้านเรามักไปไหว้กันตอนเย็นๆ เพราะต้องรอให้พวกบรรดาอาๆ ที่ทำงานราชการเลิกงานก่อน ของไหว้ก็เอาอย่างที่ชอบ เพราะถือว่าได้ไปกินข้าวเย็นกันแบบครอบครัวใหญ่ในป่าช้าเลยทีเดียว อยู่กันจนมืดค่ำ ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมอะไรเลยในเรื่องนี้ เมื่อปู่เสียชีวิตลง ครอบครัวเคยประชุมกันครับว่าจะเอาอย่างไร สุดท้ายก็สรุปว่าจะยังคงธรรมเนียมเฉพาะของปู่ไว้ตามเดิม

อ่อ ปู่ผมท่านมีอาชีพขายโลงศพครับ คนที่บ้านเลยไม่ค่อยกลัวผีกัน เว้นแต่ตัวผม

 

พอเรามีสุสานของตระกูลเอง สถานการณ์โควิดจึงไม่ค่อยกระทบ เพราะไม่ได้ไปเจอคนเยอะๆ อย่างสุสานรวม ญาติก็นั่งกินข้าวกันห่างๆ แต่คนที่เขามีบรรพชนอยู่สุสานรวมจึงเลือกวันที่สะดวกมากกว่าวันตรงตามเทศกาล หรือไปช่วงเวลาที่คนน้อยๆ ไม่ก็จ้างให้คนไปทำความสะอาด แล้วไหว้แต่ที่บ้านเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ผมยังได้ยินมาว่า คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มกังวล เพราะการไปไหว้สุสานดูจะเป็นภาระมากกว่าไหว้บรรพชนที่บ้านเสียอีก แถมที่ดินสำหรับการฝังก็มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่หลายท่านจึงตัดสินใจให้ลูกหลานเผาแทนการฝังเพราะกลัวจะเป็นภาระคนรุ่นถัดไป หรือบางบ้านก็ขุดกระดูกขึ้นมาเผาแล้วลอยอังคารกันแล้ว

ในทางตรงกันข้าม ปัจจุบันมีธุรกิจทำสุสานของคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อปรับดวงที่เรียกว่า แซกี เป็นธุรกิจทางความเชื่ออีกอันที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่นิยม แต่ผมยังไม่มีความรู้เรื่องนี้มากนัก

ไว้ค้นคว้าแล้วจะลองมาเล่าสู่กันฟังครับ •