การต่อสู้ของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ Judy / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

การต่อสู้ของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ Judy

 

เมื่อฉบับที่แล้ว ผมได้เขียนถึงการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 ไป ซึ่งกลายเป็นออสการ์ที่มีประเด็นดราม่าตามมาไม่น้อย

ลีลาการตบหัวของวิลล์ สมิธ ที่กระทำต่อคริส ร็อก นำพามาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งแวดวงสื่อในต่างประเทศ และในสื่อของบ้านเราเองในหลากหลายแง่มุม ทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย บางความเห็นก็ใช้หลักจิตวิทยามาวิเคราะห์ บางคนก็ใช้แนวสังคมวิทยามาวิจารณ์ และหลายความเห็นคือ “เอามันส์” ฮะ ฮะ ฮ่า

ไม่เท่านั้นยังมีเรื่องของพิธีกรหญิงบนเวทีที่บางช็อตก็ถูกมองว่าไม่เหมาะสม หรือเล่นเกินเลยไปก็มี ไม่นับถึงการวิพากษ์ถึงผลการตัดสิน ที่มีหลายรางวัลไม่ค่อยถูกใจผู้คนนัก

ส่วนโมเมนต์ดีๆ ที่หลายคนประทับใจก็ยังมีนะครับ ที่ถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษคือ การที่นักแสดงนำสองคนจาก The Godfather คือ โรเบิร์ต เดอนีโร และ อัล ปาชิโน ออกมาปรากฏตัวพร้อมกับผู้กำกับฯ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้นักแสดงทั้งสองจะปรากฏตัวจริงๆ คือไม่ได้พูดอะไรเลย ปล่อยให้ท่านผู้กำกับฯ พูดอยู่คนเดียว

แต่รัศมีความเป็นนักแสดงใหญ่ก็ฉายแววออกมาจนเอาอยู่แม้ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยอะไรสักคำ

สําหรับฮอลลีวู้ดแล้ว การที่นักแสดงคนหนึ่งสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว และยังคงมีผลงานต่อเนื่องมาจนบัดนี้ ที่แม้วัยจะล่วงเลยมานานก็ยังคงได้รับความชื่นชม และให้เกียรตินั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ยิ่งถ้าเป็นนักแสดงหญิงด้วยแล้ว จะต้องต่อสู้เพื่อให้เกิดการยอมรับและให้เกียรติจากทีมงาน จากนักแสดงด้วยกัน และจากผู้ชมมากกว่านักแสดงชายหลายเท่านัก ยิ่งในยุคเมื่อ 50-60 ปีก่อนนั้นพื้นที่ของนักแสดงหญิงค่อนข้างมีจำกัด

แม้พวกเธอจะมีโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ แต่ค่าตัวนั้นก็เทียบไม่ได้กับนักแสดงชาย ในขณะเดียวกันก็ต้องเอาตัวให้รอด โดยเฉพาะเรื่องการถูกคุกคามทางเพศให้ดีที่สุดอีกด้วย

อย่างที่เล่าไปเมื่อฉบับที่แล้วว่า กรรมการออสการ์มักชื่นชมการแสดงจากนักแสดงที่สวมบทบาทของตัวละครที่มีชีวิตจริง พอดีได้ชมเรื่อง “Judy” ที่ฉายทาง Netflix ที่นำเอาชีวิตของนักแสดงหญิงในตำนาน “จูดี้ การ์แลนด์” มาถ่ายทอด

จึงอยากจะเขียนถึงในฉบับนี้สักหน่อย

ภาพยนตร์ เรื่อง “Judy” ได้รับรางวัลออสการ์ 2020 สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก “เรเน่ เซลเวเกอร์” ซึ่งได้สวมบทบาทของ “จูดี้ การ์แลนด์” ได้อย่างประทับใจกรรมการจนเอาชนะคู่แข่งมากฝีมือในปีนั้นไปได้

ภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้จูดี้เป็นที่รักของผู้ชม ก็คือเรื่อง “The Wizard of Oz” ในบทสาวน้อย “โดโรธี เกล” ที่มีบทเพลงดัง “Somewhere Over the Rainbow” ที่เธอขับร้อง และยังคงความไพเราะมาจนทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นบทเพลงอมตะเพลงหนึ่งของโลกภาพยนตร์

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เปิดโลกแห่งความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักแสดงหญิงที่ชื่อ จูดี้ การ์แลนด์

นั่นคือ เธอได้รับการปฏิบัติที่เรียกว่า “จงใจเอาเปรียบ” จากค่ายหนังซึ่งก็คือ MGM ที่สร้างบาดแผลให้เธอมาตั้งแต่เข้าวงการจนถึงวันที่จบชีวิตลง

เธอถูกบังคับให้ใช้ชีวิตเพื่อการทำงานให้กับสตูดิโอเท่านั้น นับแต่การควบคุมอาหารเพื่อให้รูปร่างของเธอไม่เจ้าเนื้อเกินไป เธอจึงได้กินแต่ซุปไก่กับกาแฟดำ จนบางวันเธอแทบไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำงาน

ตามสัญญาเขียนว่าในช่วงวันของการทำงาน เธอจะได้รับสิทธิ์พักการทำงานเป็นเวลากี่ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงมันไม่เคยเกิดขึ้นเลย ทั้งที่เธอพยายามเรียกร้อง

เธอถูกบังคับให้กินยานอนหลับเพื่อควบคุมเวลานอน จะได้ตื่นมาทำงานตามเวลาได้ จึงทำให้เธอกลายเป็นคนติดยานอนหลับอย่างหนัก

ว่ากันว่าคนที่ตั้งใจให้ยานอนหลับเธอ และเคี่ยวเข็ญให้เธอทำแต่งานแม้อายุยังน้อย ก็คือแม่ของเธอเองเพราะเห็นว่าเธอเป็น “ตัวทำเงิน” นั่นเอง

อย่างนี้ต้องเรียกว่า “แม๊” แล้วกระมัง

ในภาพยนตร์ไม่ได้เล่าว่าเป็นแม่ แต่เป็นทีมงานที่มีหน้าที่ดูแลเธอโดยตรง โดยไม่สนใจความรู้สึกหรือจิตใจของเธอเลยแม้แต่น้อย ชั้นแต่จะกัดกินแฮมเบอร์เกอร์สักคำด้วยความหิวและอยาก ก็ยังทำไม่ได้

สิ่งหนึ่งที่ค่ายใช้หลอกล่อเธอเวลาเธอเหน็ดเหนื่อย และทำอะไรนอกกรอบ ก็คือ “คำยกยอปอปั้น” โดยบอกว่าเธอเป็นคนเก่ง มีพรสวรรค์ที่ต่างจากคนทั่วไปก็คือเสียงร้องเพลงอันมีเสน่ห์ เป็นคนที่แฟนๆ รักและชื่นชม และค่ายเป็นคนที่ให้โอกาสนี้กับเธอ แต่ก็พร้อมจะตัดโอกาสนี้ลงเมื่อไหร่ก็ได้

แต่พอถึงเรื่องเงินแล้ว จูดี้กลับได้เงินค่าตัวน้อยนิด ในเรื่อง The Wizard of Oz นั้น เธอได้ค่าตัวเพียงแค่ 500 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ในขณะที่นักแสดงนำชายที่รับบทเป็นหุ่นไล่กา หุ่นกระป๋อง และสิงโต ได้ค่าจ้างถึง 3,000 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ทั้งที่มีคิวถ่ายน้อยกว่าเธอ

นี่คือสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างนักแสดงหญิงกับนักแสดงชายในยุคก่อน

ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลต่อชีวิตของจูดี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงช่วงปลายของอาชีพนักแสดงและนักร้องของเธอ เธอยังคงต้องกินยาอยู่ ร่างกายก็ทรุดโทรมลงและอารมณ์ก็แปรปรวน

เรเน่ ที่รับบทจูดี้ เล่าให้ฟังว่า ผู้กำกับฯ รูเพิร์ต กูลด์ ไม่ได้ตั้งใจให้เธอเลียนแบบจูดี้แบบถอดแบบออกมา ทั้งรูปร่างหน้าตาและสีหน้าการแสดงออก

“ผมไม่ได้ต้องการให้เรเน่กลายเป็นแค่หุ่นขี้ผึ้งตัวหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาเลียนแบบจูดี้ การ์แลนด์ อะไรทำนองนั้น” รูเพิร์ตกล่าว เขาต้องการให้เรเน่เข้าใจในตัวตนของความเป็นจูดี้ และแสดงออกมาตามแบบที่เธอออกแบบไว้ให้ดีที่สุด

เรเน่ได้มีโอกาสแสดงออกถึงอารมณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะกับประเด็นความรักลูกสองคนที่เธอมีให้อย่างเต็มเปี่ยม และในขณะเดียวกันก็มีความกังวลที่ซ่อนอยู่ลึกๆว่าเธอจะต้องสูญเสียสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกไปให้กับสามีเก่า

ฉากที่เธอปะทะคารมกับอดีตสามีเรื่องสิทธิ์การเลี้ยงดูลูกนั้น เรเน่แสดงออกถึงความหวงลูกและห่วงลูก ไปพร้อมๆ กับการไม่ยอมรับความจริงว่า ตนเองนั้นใกล้จะหมดความชอบธรรมในการดูแลลูกได้ เพราะปัญหาจากความไม่มั่นคงในการทำงานร้องเพลงของเธอ

ในขณะที่อาชีพการแสดงของเธอก็สั่นคลอน เมื่อได้มีโอกาสขึ้นเวทีเพื่อโชว์การร้องเพลงในกรุงลอนดอน จูดี้ก็ประหม่า ไม่มั่นใจในตนเองจนต้องใช้เหล้าดับความกังวล และมันก็มากเข้าจนในรอบการแสดงหนึ่งเธอก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ ล้มลงกับพื้นเวที

อารมณ์ของจูดี้แปรปรวนจนถึงกับมีปากเสียงกับคนดู และเธอก็ถูกสื่อเขียนถึงอย่างเป็นลบ ไม่น่าเชื่อว่านักแสดงนักร้องชื่อดังอย่างเธอจะถูกผู้ชมโห่และปาสิ่งของเข้าใส่

ไหนใครเคยบอกกับเธอว่า เธอเป็นที่รักที่ชื่นชมของแฟนๆ อย่างไรเล่า

การแสดงของเธอถูกยกเลิก ในขณะที่ชีวิตแต่งงานครั้งใหม่ของเธอก็พังทลายลงในเวลาอันรวดเร็ว หนำซ้ำเธอก็สูญเสียสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกไปจริงๆ จะมีอะไรที่ย่ำแย่ไปกว่าในช่วงเวลานี้

สิ่งหนึ่งที่พอจะเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำของเธอได้ก็คือ “การร้องเพลง” ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรักมาก วันที่เธอขอมาเยือนข้างหลังเวทีที่เธอเปิดการแสดงมาทุกคืน แต่เพราะฤทธิ์เดชการแสดงออกของเธอ ผู้จัดจึงยกเลิกการแสดงของเธอไป

อย่างไรก็ตาม เธอถูกขอร้องให้ขึ้นเวทีไปพบกับคนดูของเธอ และเธอก็ใช้โอกาสนั้นได้อย่างมีคุณค่าในความรู้สึก เธอร้องเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ และมันตรงกับชีวิตของเธอจริงๆ นั่นคือเพลง “Somewhere Over the Rainbow”

เธอร้องได้เพียงท่อนเดียวแล้วก็ร้องไม่ออก ความรู้สึกที่อัดแน่นมันจุกขึ้นมาถึงคอหอย

พลันที่แฟนเพลงของเธอคนหนึ่งลุกขึ้นเปล่งเสียงร้องท่อนต่อมาแทน แล้วผู้ชมคนอื่นๆ ก็พากันร้องตามจนกระหึ่มทั่วฮอลล์ จูดี้กลับมีพลังและชีวิตชีวาขึ้นมาทันที เพราะนั่นแสดงว่า “พวกเขายังรักเธอ”

 

จูดี้จบชีวิตในวัยเพียง 47 ปี ในปี 1969 ด้วยการที่เธอใช้ยาเกินขนาด ทิ้งไว้แต่ความทรงจำและตำนานของสาวน้อยแห่งดินแดนพ่อมดออซที่ใครๆ ก็หลงรัก

บางทีการจะได้อะไรบางอย่างมานั้น เราจำเป็นต้องจ่ายด้วยราคาที่แสนแพง

แต่หากเป็นการจ่ายด้วยความเต็มใจของเราเอง ไม่ว่าจ่ายแล้วจะได้รับกลับคืนมาแค่ไหนก็ตาม ก็คงจะดีและยังพอจะยิ้มได้ มากกว่าการที่เราต้องจ่ายเพราะถูกคนอื่นบังคับกะเกณฑ์ โดยหวังผลประโยชน์จากเราเป็นสำคัญ

หากเป็นเช่นนั้น สุดสายปลายรุ้งก็คงอยู่แสนไกล ไกลเสียจนเราไม่มีวันจะไปถึงอย่างแน่นอน •

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ JUDY ได้ที่นี่