สนามหลวง พื้นที่ร่วมกันของหลวงกับราษฎร / สุจิตต์ วงษ์เทศ

(ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539 กรมศิลปากร 2539)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

สนามหลวง

พื้นที่ร่วมกันของหลวงกับราษฎร

 

สนามหลวงอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีมาแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในแผ่นดิน ร.1

เป็นบริเวณที่โล่งจัดไว้อย่างเดียวกับสนามหน้าจักรวรรดิของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ชั้นสูง ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ”

ต่อมา ร.4 โปรดให้เรียก “ท้องสนามหลวง” เนื้อที่เดิมมีอยู่เพียงครึ่งเดียวของสนามหลวงปัจจุบัน

เมื่อยกเลิกวังหน้าในแผ่นดิน ร.5 ได้ขยายเนื้อที่ออกไปอีกครึ่งหนึ่งแล้วแต่งเป็นรูปไข่และปลูกต้นมะขาม 2 แถวโดยรอบ (อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน)

พื้นที่โล่งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ยังไม่ทำเป็นรูปโค้งเรียก “สนามหลวง” อย่างทุกวันนี้ (แผนที่กรุงเทพฯ ทำในแผ่นดิน ร.5)

จับกบทุ่งพระเมรุ

ถ้าไม่มีงานพระเมรุก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าราวหนองบึงที่ชุมนุมของสารพัดสัตว์เลื้อยคลาน เป็นอาหารของไพร่บ้านพลเมืองที่ถูกเกณฑ์จากสงคราม ดังมีในเนื้อร้องเพลงลาวแพน (เวียงจันท์) น่าจะแต่งในสมัย ร.5

เพลงลาวแพนมีคำร้องแรกสุด 2 ชุด มีเนื้อความต่างกัน เรียกลาวแพน (พระลอ) ประกอบละครเรื่องพระลอ กับลาวแพน (เวียงจันท์) พรรณนาเหตุการณ์สงครามตีได้เวียงจันท์ (แล้วเผาทิ้ง) สมัย ร.3

ลาวแพน (เวียงจันท์) พรรณนาเชลยลาวถูกไทยกวาดต้อนจากเวียงจันท์ลงไปกรุงเทพฯ (สมัยนั้นยังเรียกอยุธยาเป็นชื่อเก่าตกค้าง) มีชีวิตอดๆ อยากๆ ลำบากลำบนแสนสาหัส ข้าวปลาอาหารขาดแคลน ถ้าหน้าฝนมีฝนตกก็ไปจับกบทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) มาต้มกินแกล้มเหล้า

ถูกทำเป็นรูปโค้งในสมัยหลัง (แผนที่กรุงเทพฯ ทำในแผ่นดิน ร.6)

สนามหลวงสมัยแรกถ้าไม่มีงานพระเมรุก็ปล่อยเป็นที่โล่งกลางกรุง (รกร้างเหมือนหนองบึงบุ่งทามในอีสาน) แหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ของไพร่บ้านพลเมือง หลังจากนั้นถูกใช้เป็นพื้นที่ของ “ผู้ดี” เป็นสนามกอล์ฟ, สนามแข่งว่าว, สนามแข่งม้า, การสวนสนามของทหาร ฯลฯ

สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน เป็นที่ “ติดตลาดนัด” เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ (ก่อนย้ายไปวังสราญรมย์ และต่อจากนั้นย้ายไปสวนจตุจักร) ส่วนวันธรรมดาเป็นที่มีกิจกรรมของประชาชน เช่น เช่าจักรยานขี่เล่น, เช่าจักรยานหัดขี่ (เพราะขี่ไม่เป็น), เล่นกลขายยา, หมอดู, ขายน้ำอัดลมใส่น้ำแข็ง, ขายปลาหมึกปิ้ง ฯลฯ หน้าร้อนเมษายนมีเล่นว่าว, แข่งตะกร้อลอดบ่วง, ออกร้านอาหารมีสุราเบียร์ ฯลฯ

สนามหลวงเคยมีชีวิตและวิญญาณทางการเมืองสมัยใหม่ เริ่มจากแป็นแหล่ง “ไฮด์ปาร์ก” (เลียนแบบอังกฤษ) แสดงความคิดเห็นทางการเมือง, เป็นแหล่งชุมนุมหาเสียงทางการเมือง, เป็นที่ชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ท้ายที่สุดยังเป็นศูนย์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ฯลฯ

ทุกวันนี้สนามหลวงถูกริบเป็นสมบัติรัฐราชการรวมศูนย์ แล้วกีดกันประชาชนพลเมืองมิให้ใช้งานสาธารณะเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน •

 

เพลงลาวแพน (เวียงจันท์)

มาข้อยจะกล่าว ถึงพวกลาวเป่าแคนแสนเสนาะ

มาสอเพาะ เข้ากับแคนแสนขยัน

เป็นใจความยามยาก จากเวียงจัน

ตกมาอยู่เขตขัณฑ์ อยุธยา

X X

อีแม่คุณเอ๋ย เฮาบ่เคยจะตกยาก

ตกระกำลำบาก แสนยามก็นี่นักหนา

พลัดทั้งที่ดินถิ่นฐาน พลัดทั้งบ้านเมืองมา

พลัดทั้งปู่พลัดทั้งย่า พลัดทั้งตาทั้งยาย

พลัดทั้งแม่ลูกเมีย พลัดทั้งเสียลูกเต้า

พลัดทั้งพงศ์ทั้งเผ่า ทั้งลูกเต้าก็หนีหาย

บักไทยมันเฆี่ยน บักไทยมันขัง จนไหล่จนหลังของข้อยนี่ลาย

จะตายเสียแล้วหนา ที่ในป่าดงแดน

X X

ผ้าทอก็บ่มีนุ่ง ผ้าถุงก็บ่มีห่ม

คาดแต่เตี่ยวเกลียวกลม หนาวลมนี่เหลือแสน

ระเหินระหกตกยาก ต้องเป็นคนกากคนแกน

มีแต่แคนคันเดียว ก็พอได้เที่ยวขอทานเขากิน

ตกมาอยู่ในเมือง ต้องถีบกระเดื่องกระด้อย

สีซ้อมตำต้อย ตะบิดตะบอยบ่อฮู้สิ้น

ถือแต่เคี่ยวเกี่ยวหญ้า เอาไปให้ม้าของเพื่อนมันกิน

เที่ยวซมซานไปทุกบ้านทุกถิ่น จะได้กินก็แต่เดน

แสนอึดแสนจน เหมือนอย่างคนตกนาฮก

มืดมนฝนตก เที่ยวหยกๆ ถกเขมร

ถือข้องส่องคบ จับกบทุ่งพระเมรุ

เปื้อนเลนเปื้อนตม เหม็นขมเหม็นคาว

จับทั้งอ่างท้องขึง จับทั้งอึ่งท้องเขียว

จับทั้งเปี้ยวทั้งปู จับทั้งหนูท้องขาว

จับเอามาให้สิ้น มาต้มกินกับเหล้า

เป็นกรรมของเฮา เพราะอ้ายเจ้าเวียงจันท์ เพื่อนเอย •