‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เปิดปูมความคิด-ภูมิปัญญา อีกบทบาทใหญ่ใน ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส’/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

 

‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’

เปิดปูมความคิด-ภูมิปัญญา

อีกบทบาทใหญ่ใน ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส’

 

หากพูดถึงเหตุการณ์การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ถือเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้

สำหรับในไทย เมื่อสำรวจแหล่งความรู้ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส ยังถือว่าน้อย

แม้จะมีหลายช่องทางมากขึ้นตั้งแต่หนังสือจนถึงพอดแคสต์ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ถูกนำเสนอในแง่เวลาเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีลย์ หรือมากสุดคือการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารี อองตัวเน็ตต์

ยังไม่มีการพูดถึงความรู้ที่หล่อเลี้ยง ผลักดันการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เปลี่ยนโฉมโครงสร้างการเมืองฝรั่งเศสครั้งใหญ่ในช่วงหลังปี 1789 จนถึงการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 1799 หรือเหตุการณ์รัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ ที่ทำให้นโปเลียน โบนาปาร์ตขึ้นมามีอำนาจ

แสดงให้เห็นว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส แม้ผ่านล่วงเลยมากว่า 2 ศตวรรษ แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ให้เข้าไปศึกษาอีกมาก

ด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศสยังมีอีกหลายแง่มุม จึงเป็นสิ่งที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้มีโอกาสศึกษาต่อในฝรั่งเศสและเข้าถึงคลังความรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติครั้งใหญ่ของโลก

นำไปสู่งานชิ้นล่าสุดอย่าง “ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส” ไปสำรวจอีกส่วนที่มีบทบาทมากอย่าง พลังขับเคลื่อนทางความคิดของบุคคลสำคัญ นำไปสู่การตัดสินใจที่กำหนดทิศทางในหน้าประวัติศาสตร์ยุคปฏิวัติฝรั่งเศส

ปิยบุตรเล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า เวลาพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศสในสังคมไทย จะมีสะวิงกันระหว่าง 2 ขั้วคือ ไม่ชอบก็ชิงชังเลย โดยที่ไม่ได้ดูในรายละเอียดในเหตุปัจจัยว่าอะไรที่ทำให้เกิดขึ้น ความแตกแยก และทำไมการปฏิวัติฝรั่งเศสกินเวลาแค่ 10 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นอีกระบอบ (ระบอบจักรพรรดิยุคนโปเลียน) ยังมีเหตุปัจจัยเศรษฐกิจ มีรายละเอียดแตกต่าง มีการถกเถียงของคนในสภา ยังมีอะไรอีกมาก

แต่ในสังคมไทยกลับถูกลดทอน พูดเรื่องนี้เท่ากับความรุนแรง อย่าไปเอาอย่าง มองเหมือนกีฬามวยปล้ำ มีฝ่ายธรรมะ-อธรรม ต่อสู้กัน หรือมองแค่ว่าถ้าปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นถูกต้อง เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกันต้องถูกหมดก็ไม่ใช่อีก

อาจเห็นด้วยในภาพรวมแต่ปลีกย่อยยังมีผิดถูกอีก ไม่อยากให้หลักศีลธรรมมาตัดสินเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ แม้แต่นักประวัติศาสตร์ยังตีความไม่เหมือนกัน จึงเป็นเหตุที่เขียนให้ไปไกลอีก มองว่าคนเหล่านี้คุยอะไรกันในสภา พวกเขามีแนวคิดอะไรกำกับอยู่

 

ในหนังสือ ได้นำเสนอเรื่องราวของบุคคล 2 คน นั้นคือ เอ็มมานูเอล ซีแยสซ์ กับ อเล็กซีย์ เดอ ท็อกเคอร์วิล ซึ่งทั้งคู่มีบทบาทคนละช่วงกัน แต่ก็ได้ให้แง่มุมเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่น่าสนใจ

ปิยบุตรกล่าวว่า ในส่วนของซีแยสซ์นั้น ถ้าดูช่วงชีวิตของเขามีแนวคิดก้าวหน้ามาก แต่ปฏิวัติฝรั่งเศสจบกลับเป็นคนหัวอนุรักษนิยม เพราะในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์บูร์บง ซีแยสซ์ปรารถนาโค่นระบบอภิสิทธิ์ชนและขุนนาง และแทนที่ด้วยการสถาปนากลุ่มชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า “กระฎุมพี” หรือนายทุนน้อย ที่เป็นสามัญชนแต่สะสมทรัพย์ มีความรู้ ให้คนกลุ่มนี้มีบทบาททางการเมืองมากกว่าแค่ทำงานจ่ายภาษี จุดหมายของซีแยสซ์คือการส่งเสริมการเมืองใหม่แต่เป็นการเมืองโดยกระฎุมพี

“แต่พอการปฏิวัติรุดหน้า กลุ่มชนชั้นล่างสุดในฝรั่งเศส เรียกร้องสิทธิมากขึ้น ต้องการให้การปฏิวัติไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่รวมถึงเศรษฐกิจ ความเสมอภาคและการรับประกันสิทธิของพวกเขา การเรียกร้องจึงไปไกลอีกจนไปถึงระบอบสาธารณรัฐ คราวนี้ซีแยสซ์กลับเป็นอนุรักษนิยม เพราะการปฏิวัติไปไกลเกินจนโกลาหล อลหม่าน เกิดคำถามว่าจะหยุดการปฏิวัตินี้ยังไง จนในที่สุดซีแยสซ์ไปเป็นมันสมองให้กับนโปเลียน ทำการรัฐประหาร ปิดฉากการปฏิวัติ 1789 ลง ซีแยสซ์กลายเป็นคนย้อนแย้งในตัวเอง เป็นคนที่มีส่วนจุดการปฏิวัติ 1789 ด้วยงานเขียน “อะไรคือฐานันดรที่ 3″ แต่ปี 1799 กลับยุแยงนโปเลียนรัฐประหาร แล้วมาเป็นนักร่างรัฐธรรมนูญ (หรือเนติบริกร)” ปิยบุตรกล่าวถึงชีวิต 2 ด้านของซีแยสซ์ และว่า

ยังมีเรื่องเล่าว่า ตอนก่อนซีแยสซ์ตาย สติไม่ค่อยดี ได้เพ้อขึ้นว่า รัฐธรรมนูญคือเขา

 

ส่วนเรื่องราวของท็อกเคอร์วิลนั้น ปิยบุตรเล่าว่า ข้ามมายุคศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่ท็อกเคอร์วิลมีบทบาทในปฏิวัติฝรั่งเศสผ่านงานเขียนขึ้นชื่ออย่าง “ระบอบเก่าและการปฏิวัติฝรั่งเศส” เพื่ออธิบายว่า ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่แค่ 1789 แต่มีเหตุการณ์ก่อนหน้านี้จนนำไปสู่การระเบิดครั้งใหญ่ และบรรดานักประวัติศาสตร์มองว่า ทำไปทำมา การปฏิวัติฝรั่งเศสได้ทำในสิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยากทำแต่ไม่สำเร็จ นั่นคือ รวมประเทศ สร้างชาติที่เป็นเอกภาพ มีภาษากลาง ระบบกฎหมายเดียวกันใช้ทั้งประเทศ การปกครองแบบจังหวัดแล้วส่งผู้ว่าฯ จากส่วนกลางไปดูแล การปฏิวัติทำให้หมด

“จึงสรุปได้ว่า อย่ามองว่าการปฏิวัติหมายถึงการตัดขาดโดยสิ้นเชิง หลายเรื่องเอาของเก่ามาทำสำเร็จด้วย” ปิยบุตรกล่าว และว่า งานคลาสสิคอีกชิ้นของท็อกเคอร์วิลที่รู้จักคือ ประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ท็อกเคอร์วิลศึกษาเปรียบเทียบว่าเหตุใดสหรัฐหลังการปฏิวัติ 1776 สามารถสถาปนาระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพได้ ผิดกับฝรั่งเศสที่ล้มลุกคลุกคลาน

สิ่งหนึ่งที่ท็อกเคอร์วิลตั้งคำถามคือ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง หรือการปฏิวัติที่อยากให้เกิด แต่เป็นวัฏจักร พอเกิดปุ๊บ ปัญหาคือ ชนชั้นปกครองมีวิสัยทัศน์ควบคุมได้หรือไม่ พอกระแสลมเปลี่ยนแปลง แทนที่จะต่อต้าน ต้องเล็งเห็นว่าเปลี่ยนแน่ ถ้าเปลี่ยนจะมีส่วนเข้าไปควบคุมก่อนที่จะถูกกลืนกินได้ไหม กระนั้นแทนที่จะขวาง ก็เข้าไปคุม

ท็อกเคอร์วิลทิ้งท้ายว่า “แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า บรรดาผู้ปกครองหลายรัฐไม่เห็นเรื่องนี้ แต่ปล่อยโอกาสทองที่จะได้ควบคุมหลุดมือไป”

“ผมเขียนแล้วคิดถึงสังคมไทยไม่ใช่จะเปรียบเทียบ แต่เป็นเรื่องสากลโลกว่า การปกครองที่ไหนก็ตาม ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ถ้าไปกันราบรื่นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดเหตุผู้ถูกปกครองไม่ทนอีกและอยากเปลี่ยน ผู้ปกครองต้องคิดได้แล้วว่าจะปรับยังไง หรือเลือกจะยัน จะไม่เปลี่ยน แล้วสุดท้ายเกิดการปะทะ ท็อกเคอร์วิลเขียน เมื่อรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดการปฏิวัติ ทำไมชนชั้นปกครองไม่เอาอำนาจตัวเองเข้าไปคุมการเปลี่ยนแปลงนั้น แทนที่จะปล่อยให้สถานการณ์คาดเดาไม่ได้จนทำไม่ถูก” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรกล่าวสรุปแง่มุมของ 2 บุคคลนี้ว่า ทั้งซีแยสซ์และท็อกเคอร์วิลเป็นเสรีนิยม คือเฉดขั้วการเมืองแบบตะวันตก ขวาคือเสรีนิยม ที่เน้นปัจเจกชน แต่ซ้ายคือสังคมนิยมคนอยากให้รัฐแทรกแซงเพื่อความเสมอภาค

เทียบเฉดสีกับพรรคการเมืองทั่วโลกจะเป็นสายขวา-กลาง

 

ปิยบุตรกล่าวถึงแง่มุมทางปัญญาของ 2 นักคิดไม่ว่ารัฐธรรมนูญ ความเป็นชาติ ตุลาการแล้วมองในบริบทสังคมไทยว่า ทั้งสองเป็นนักกฎหมายทั้งคู่ ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส นักกฎหมายมีบทบาทมาก นักประวัติศาสตร์ถึงกับกล่าวว่า ปีแรกของการปฏิวัติ 1789 คือการปฏิวัติของนักกฎหมาย มีแต่คนเรียนกฎหมายที่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองในสภา มีการตั้งมุ้ง กำหนดวาระอภิปราย นอกสภาคือสโมสรทางการเมืองที่ไว้แลกเปลี่ยน อีกส่วนที่มีบทบาทคือเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้ความรู้กระจายถึงมือคนได้จำนวนมาก ซีแยสซ์เขียนหนังสือเพียงไม่กี่เดือนก่อนปฏิวัติ ก็ขายไปทั่วปารีสแล้ว ถ้าเปรียบยุคนี้คือโซเชียลมีเดีย พูดทีเดียวไปหมด นั้นทำให้นักกฎหมาย-สื่อสิ่งพิมพ์เป็นตัวเร่ง

อย่างไรก็ตาม ท็อกเคอร์วิลก็วิจารณ์นักกฎหมายด้วยกันอย่างเจ็บแสบว่า นักกฎหมายชอบรักษากรอบระเบียบ ชอบเบรก เวลาคิดอะไรก็จะเอาทุกอย่างที่อยู่ข้างนอกยัดมาไว้ข้างในเพื่อบอกถูก-ผิด จินตนาการของนักกฎหมายจึงแคบกว่าอาชีพอื่น เพราะจะเอาทุกอย่างยัดไว้ในกรอบ ท็อกเคอร์วิลพูดว่า ถ้าผู้ปกครองคนไหนฉลาดจริง ต้องเอานักกฎหมายไว้ข้างตัว

เพราะถ้าไม่มีอำนาจ พวกนักกฎหมายจะออกมาปฏิวัติ!