ไฟไหม้ ‘โรงละครศิลปากร’ และพระที่นั่งศิวโมกข์ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ไฟไหม้ ‘โรงละครศิลปากร’

และพระที่นั่งศิวโมกข์

 

ไฟไหม้ “โรงละครศิลปากร” ราว 62 ปีมาแล้ว (นับถึง พ.ศ.2565) ตอนกลางคืน 23.45 น. ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 ผมไปช่วยขนของหนีไฟไหม้ครั้งนั้นโดยไม่เคยรู้ว่าที่ตรงนั้นเป็นอะไร? สำคัญอย่างไร?

“โรงละครศิลปากร” (สมัยนั้นไม่เรียกโรงละครแห่งชาติ) เป็นอาคารไม้ หลังคามุงสังกะสี ใกล้ชิดติดกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร [ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอาคารดำรงราชานุภาพ ด้านติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

โรงละครศิลปากร เคยตั้งอยู่บริเวณนี้ (ด้านซ้ายของภาพ) อาคารดำรงราชานุภาพ ติดกับ (ด้านขวาของภาพ) พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

ลูกเสือดับเพลิง

พ.ศ. 2503 ผมอายุราว 15-16 ปี เป็นนักเรียนชั้น ม.6 (เทียบกับปัจจุบัน ม.4) โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ (ใกล้สะพานมัฆวาน และใกล้กระทรวงศึกษาธิการ) เป็น “ลูกเสือดับเพลิง” เพราะเป็นคนหนึ่งในหลายคนได้รับคัดเลือกจากโรงเรียนไปฝึกการดับเพลิงเบื้องต้น (ฝึกกับนายตำรวจชื่อศักดิ์ระพี ปรักกะมกุล) ที่สถานีตำรวจดับเพลิง พญาไท (ใกล้โรงพยาบาลสงฆ์)

9 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 ผมเป็น “เด็กวัด” (อนาถา) อยู่วัดเทพธิดาราม (ประตูผี) ขณะนั้นราว 5 ทุ่มกว่าๆ เตรียมตัวเข้านอน (กางมุ้งนอนริมระเบียงโบสถ์ ทำหน้าที่เฝ้ายามร่วมกับ “เด็กวัด” คนอื่นๆ คอยไล่ผู้ร้ายลอกทองเปลวจากประตูหน้าต่างโบสถ์ไปขายเอาเงินซื้อเฮโรอีนที่เพิ่งเริ่มแพร่หลาย) แต่ได้ยิน “เสียงหวอ” รถดับเพลิงแล่นไปทางสนามหลวง

หอประชุมศิลปากร (ภาพเก่า) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งต่อมาอาคารหอประชุมถูกปรับปรุงเป็นโรงละครศิลปากร (ปัจจุบันคือที่ตั้งของอาคารดำรงราชานุภาพ)

เลยวิ่งออกจากวัดตามเสียง “รถหวอ” และตามแสงไฟสีแดงทาบท้องฟ้า (ตามสัญชาตญาณที่เคยฝึกมาและเคยทำจริงแล้วหลายครั้งที่มีไฟไหม้บ่อยๆ ในกรุงเทพฯ) เมื่อถึงสนามหลวงจึงวิ่งลัดสนามตามเจ้าหน้าที่เข้าไปในอาคารใหญ่อยู่ใกล้กับบริเวณไฟไหม้ เสียงดังและแรงร้อนระอุของไฟไหม้ แต่มีน้ำโกรกไหลจากเพดานเหมือนห่าฝนอันมาจากรถน้ำฉีดดับไฟ

คนกลุ่มหนึ่งกำลังแบกขนสิ่งของขนาดใหญ่ ไฟมืดมองไม่เห็น ผมเข้าไปช่วยขนด้วยการลอดแขนกลุ่มผู้ใหญ่แล้วยกแขนของตัวเองทั้งคู่พ้นหัวเอาสองมือค้ำยันของใหญ่นั้น เมื่อสัมผัสของจริงจึงรู้ว่าเป็นแท่งหิน แล้วค่อยๆ เดินตามแห่ออกไปข้างนอกอาคาร พอพ้นตัวอาคารผมก็กลับเข้าไปในอาคารอีกครั้ง ช่วยเขาขนของอย่างอื่นจนไฟราผมก็เดินกลับวัดไปซุกหัวนอนในมุ้งที่กางไว้ริมระเบียงโบสถ์

เพลิงลุกไหม้โรงละครศิลปากรเสียหายทั้งหมด และลามไปติดพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งขณะนั้นเป็นสถานที่เก็บรักษาศิลาจารึก, ตู้พระธรรม และเอกสารโบราณ ทําให้ศิลาจารึกบางส่วนเสียหายเนื่องจากถูกไฟเผาจนเกิดความร้อนสะสม เมื่อโดนน้ำดับเพลิง ศิลาจารึกบางส่วนจึงแตกเสียหาย (เช่น จารึกสด๊กก๊อกธม 2 เป็นต้น) ส่วนตัวอาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมานก็เสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องบนที่ทําด้วยไม้ เช้าวันรุ่งขึ้น นักเรียนจากโรงเรียนนาฏศิลป์และโรงเรียนช่างศิลป์ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ก็เข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นําเอกสารโบราณที่โดนน้ำออกไปตากแดดที่บริเวณสนามหญ้าข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ [ภาพและคำบรรยายจาก สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชุดภาพส่วนบุคคลนายตรี อมาตยกุล] •

วันต่อมานั่งรถเมล์ผ่านสถานที่ไฟไหม้ เห็นเจ้าหน้าที่เอาสิ่งของเปียกน้ำที่ฉีดดับไฟออกไปวางผึ่งแดดให้แห้งเต็มสนาม เมื่อมองเห็นป้ายราชการจึงรู้ว่าเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” แต่ที่แล้วมาไม่เคยรู้จัก จึงไม่เคยเข้าไปดูสิ่งของในพิพิธภัณฑ์

อีก 4 ปีต่อมา สอบเอ็นทรานซ์ผ่านเข้าเป็นนักเรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (โดยไม่เคยรู้จักคณะนี้และมหาวิทยาลัยนี้ จึงไม่รู้มาก่อนว่าเรียนอะไร?) มีวิชาวาดเส้น เรียนกับ อ.จำรัส เกียรติก้อง ต้องไปเรียนวาดของจริงจากโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถึงเริ่มรู้จักพิพิธภัณฑ์จริงๆ ครั้นหลังจากนั้นเริ่มรู้เกี่ยวกับโรงละครศิลปากรและตำนานครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ร้องเพลงสมิงพระรามลาเมีย ประกอบละครราชาธิราช ในโรงละครศิลปากรที่ถูกไฟไหม้

นอกจากนั้น ครูเสรี หวังในธรรม ยังบอกในวงเหล้าเกี่ยวกับวีรกรรมโคนต้นมะขามสนามหลวงของครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ซึ่งบันเทิงเป็นอันมาก

เพิ่งรู้จากแหล่งข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ว่ามีภาพเก่า “โรงละครศิลปากร” และเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อ 2503 เลยรวบรวมมาพิมพ์แบ่งปันไว้ตรงนี้ •

 

โรงละครศิลปากร (ติดป้ายชื่อไว้ข้างบนอาคาร) มีผู้ชมแออัดอยู่ด้านหน้ารอเข้าชมเมื่อมีแสดงละคร (ไฟไหม้หมดเมื่อ พ.ศ.2503)
ในโรงละครศิลปากร (ภาพถ่ายเก่า) เมื่อมีการแสดงละคร (ในภาพนี้ละครเรื่องสังข์ทอง) คนดูนั่งชมแน่นทุกที่นั่งจนล้นและมีที่นั่งเสริม