คารวาลัยยอดสตรีศรีล้านนา ‘เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน’ (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี 593

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

คารวาลัยยอดสตรีศรีล้านนา

‘เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน’ (1)

 

“เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน” อาจไม่ใช่คนมีชื่อเสียงโด่งดัง โดดเด่น จนเป็นที่รู้จักของสังคมล้านนาในวงกว้างมากนัก

ท่านไม่ได้เป็นทั้งนักวิชาการที่มีผลงานเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับของมหาชน หรือเป็นนักสังคมสงเคราะห์ผู้มีชื่อติดอยู่ตามวัดต่างๆ ในฐานะนักบุญจอมบริจาค

ทว่า ท่านเป็น “นักคิด-นักวางแผน” “นักขับเคลื่อนกิจกรรมทางวัฒนธรรม” ที่มีหัวใจร้อนรุ่มด้วยไฟปรารถนาจักสรรค์สร้างสังคมรอบข้างให้งดงาม แทบทุกลมหายใจ

เหนือสิ่งอื่นใด ท่านเป็นผู้ที่ “แบกรับความทุกข์ปัญหาสารพัดสารพันของเมืองลำพูนไว้บนสองบ่าอย่างไม่ยอมละวาง”

ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าทั้งๆ ที่ท่านจากไปแล้วเกือบ 130 วัน แต่…แต่ไม่มีวันไหนเลยที่ดิฉันจักไม่คิดถึงท่าน ซ้ำยังมิอาจรู้อีกด้วยว่า เมื่อไหร่กันเล่าที่ดิฉันจักหายจากอาการของโรคซึมเศร้านี้ได้

อันที่จริงดิฉันยังเขียนเรื่อง “วิรังคราช” ไม่จบ แต่ขอพักเรื่อง “ลัวะ” ไว้สัก 1-2 ตอน เพื่อเขียนถึงคนที่ดิฉันเคารพเสมือนญาติ และรักยิ่งประหนึ่งสหาย เป็น “เพื่อนชีวิต” ที่เราผูกพันกันเนิ่นนานเกือบสองทศวรรษ

เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน

ปูมหลังของเจ้าป้า

ดิฉันได้เรียบเรียงประวัติย่อของเจ้าป้าชวนคิด เพื่อใช้อ่านในงานวันฌาปนกิจของท่านเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ณ ศาลาสวดศพ วัดพระธาตุหริภุญชัย ดังนี้

เจ้าป้าชวนคิดเกิดวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2485 ตรงกับปีมะเมีย มีชื่อเล่นที่เรียกกันในหมู่ญาติสนิทว่า “น้อง” ท่านเป็นธิดาคนโตของเจ้าน้อยสิงห์ไชย ณ ลำพูน และแม่บัวคำ มีน้องสาวคนเดียวคือ คุณชวนชม ณ ลำพูน (พี่ก้อย) ซึ่งมีอายุห่างกันถึง 14 ปี

เจ้าน้อยสิงห์ไชยผู้นี้ถือเป็นทายาทของเจ้านายฝ่ายเหนือสองตระกูล ทั้งสายเจ้าหลวงลำพูน และสายเจ้าฟ้าเชียงตุง กล่าวคือ ฝ่ายบิดามีชื่อว่าเจ้าน้อยดาวเรือง สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 6 และเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 7

ในขณะที่ฝ่ายมารดาของเจ้าน้อยสิงห์ไชย ชื่อเจ้านางประภาวดี ตุงคนาคร เป็นธิดาของเจ้าน้อยดวงทิพย์ หรือเจ้าราชภาติกวงษ์ ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองเหล็ก และเจ้าฟ้าชายสาม เจ้าฟ้านครเชียงตุง แห่งราชวงศ์มังราย

ในวัยเด็ก เจ้าป้าชวนคิดเล่าให้ฟังว่าเคยนั่งช้างไปกับเจ้าพ่อ (เจ้าน้อยสิงห์ไชย) เพื่อเรียนภาษาอังกฤษกับบาทหลวงมิชชันนารีชาวอเมริกันแถววัดศรีชุม (ผามวัว) ตำบลบ้านกลาง ทำให้รู้สึกชอบวิชาภาษาอังกฤษและชอบสนทนากับชาวต่างชาติมากตั้งแต่นั้นมา

 

หลงใหลโลกตะวันตก

จนเกือบเข้ารีต

เจ้าป้าจบการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนจีนศึกษา (ต่อมามีชื่อว่า “มงคลวิทยา”) เป็นโรงเรียนเอกชนที่สอนภาษาจีน สมัยก่อนตั้งอยู่ที่ด้านหลังของ “คอก” หรือเรือนจำ (ปัจจุบันเรือนจำเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ของกรมศิลปากร)

ส่วนที่ตั้งโรงเรียนจีนศึกษานั้น เคยเป็นคุ้มของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ กับเจ้าหญิงส่องหล้า (น้องสาวคนเล็กของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์) ปัจจุบันคุ้มหลังนี้คือพิพิธภัณฑ์ชุมชน อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองลำพูน

การศึกษาระดับชั้นมัธยมต้นนั้น เจ้าป้าเรียนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ต่อมาใช้ชื่อโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ลำพูน เจ้าป้าเล่าให้ฟังว่า เจ้าน้อยสิงห์ไชยได้บริจาคที่ดินส่วนตัวแปลงหนึ่งเพื่อให้ปลูกสร้างอาคารหลายหลังในโรงเรียนแห่งนี้ด้วย

ความที่หลงใหลในการผจญภัย หนุนนำให้เจ้าป้าเดินทางไปศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง ถนนศรีอยุธยา แผนกศิลป์ภาษาฝรั่งเศส (หรือแผนกอักษรศาสตร์)

เมื่อใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วัยเด็กจนคุ้นชินแล้ว จึงตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่เกริกวิทยาลัยตั้งแต่รุ่นแรก สมัยที่เกริกวิทยาลัยยังตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ที่นี่เจ้าป้าเรียนสาขาการสอนภาษาอังกฤษ และวิชาโทบรรณารักษ์ เนื่องจากเวลาว่างของเจ้าป้าท่านชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว เจ้าป้ามีความสนใจในด้านภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ จึงสมัครเข้าทำงานในองค์กรคริสตจักร นิกายคาทอลิกที่โบสถ์แซงต์ปอลศรีราชา จังหวัดชลบุรี ช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานด้านศาสนาและวัฒนธรรมตะวันตกที่ประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ต่อมาเจ้าพ่อเริ่มวิตกกังวล ขอร้องให้ท่านกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ลำพูนด้วยกัน เพราะเกรงว่าเจ้าป้าจักเข้ารีตเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์

เจ้าป้าเล่าว่าช่วงนั้นกำลังรักอิสระ และต้องการเป็นตัวของตัวเอง ท่านจึงไม่ยอมเขียนจดหมายตอบกลับทางบ้าน และทุกครั้งที่ย้ายไปทำงาน ณ คริสตจักรไหน จักไม่ยอมบอกเจ้าพ่อเลย ทำเช่นนั้นอยู่นานหลายปี

ในที่สุดเจ้าป้าก็ใจอ่อนรู้สึกสงสารทางบ้าน ท่านตัดสินใจเดินทางกลับมาลำพูน ช่วงกลางวันยังคงทำงานแปลเอกสารให้มิชชันนารีคาทอลิกตามโบสถ์คริสต์ต่างๆ ในละแวกลำพูน-เชียงใหม่อยู่เช่นเดิมเหมือนสมัยใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ

ส่วนในช่วงภาคค่ำและเสาร์อาทิตย์ ท่านได้ลงทะเบียนเรียนต่อที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ต่อมาคือมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) ในสาขาที่ตนชอบ คือวิชาเอกบรรณารักษ์ วิชาโทการสอนภาษาอังกฤษ จนได้รับใบปริญญาอีกหนึ่งใบ สามารถประกอบวิชาชีพครูได้

จากนั้น ปี 2511 จึงสอบบรรจุเข้ารับราชการครู โดยเลือกเป็นครูดอยสอนเด็กกะเหรี่ยงในถิ่นทุรกันดารแถวตำบลนาทราย อำเภอลี้ ท่านเล่าว่าสมัยนั้นการเดินทางจากอำเภอเมืองลำพูนไปลี้ด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลานานถึง 3-4 ชั่วโมง

อยู่ที่นาทรายสักพัก ก็ย้ายมาสอนระดับมัธยมที่โรงเรียนเวียงเจดีย์ อันเป็นโรงเรียนประจำอำเภอลี้ จากนั้นก็ถูกย้ายไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่นที่อำเภอแม่ริม เชียงใหม่

กระทั่งโรงเรียนสุดท้ายที่ท่านสอนก่อนจะตัดสินใจเออร์ลีรีไทร์ในวัย 57 ปี คือโรงเรียนบ้านอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน ทำให้ท่านมีความเข้าใจในธรรมชาติของ “เด็กพิเศษ” ที่มีความบกพร่องกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างดี

ผู้เขียนกับเจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน

เป็นเงาของกันและกัน

เจ้าป้าเป็นคน 2 บุคลิก มุมหนึ่งดูเหมือนเป็นคนหยิ่ง อหังการ แต่อีกมุมหนึ่งนั้น กลับชอบรับใช้สังคมแบบจิตอาสา หลังจากเกษียณได้สักระยะ ท่านจึงลงสมัครเป็นประธานชุมชนชัยมงคล ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธาน 2 สมัย ช่วงนั้นชุมชนชัยมงคลมีที่ทำการอยู่ในคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการที่ดิฉันได้รู้จักและสนิทสนมกับเจ้าป้าชวนคิด ประโยคแรกที่ท่านเข้ามาพบและพูดคุยกับดิฉันก็คือ

“อยากให้พิพิธภัณฑ์ลำพูนไปขอธรรมาสน์ไม้แกะสลักที่ชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้งานแล้ว จากวัดชัยมงคลมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ป้าเป็นศรัทธาวัดนี้ เดี๋ยวป้าจะช่วยพูดกับตุ๊ลุงเจ้าอาวาสให้”

เป็นการผูกไมตรีที่งดงามยิ่งเสียนี่กระไร ซึ่งดิฉันไม่มีวันลืมเลือนเลย แม้ว่าเอาเข้าจริงแล้ว ในทางปฏิบัติเมื่อลงพื้นที่วัดชัยมงคล จักถูกปฏิเสธจากเจ้าอาวาสก็ตาม อย่างน้อยที่สุด เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง “การมีน้ำใจ” ของเจ้าป้าที่ไม่อยากเห็นศิลปวัตถุถูกทิ้งทำลาย

เราจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมาด้วยกันตั้งแต่ปลายปี 2546 อีก 1 ปีถัดมากรมศิลปากรก็เริ่มขับเคลื่อนแผนแม่บทโครงการศึกษาและพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลก เจ้าป้าได้ร่วมเป็นมันสมองในการวางแผนโครงการนี้ด้วย

จากนั้นมาเจ้าป้าก็ค่อยๆ กลายสถานะจาก “แขกผู้ใหญ่” มาเป็น “หนึ่งในสมาชิกทีมงานของพิพิธภัณฑ์ลำพูน” เจ้าป้ากระโจนเข้าร่วมสำรวจโบราณสถานร้างตามป่าเขาลำเนาไพรกับดิฉัน ล้มลุกคลุกคลาน ไปไหนไปกันไม่ระย่อ จนเกิดคำพูดที่ว่า “พบ ดร.เพ็ญที่ไหน ต้องพบเจ้าป้าชวนคิดที่นั่น”

 

ชีวิตนี้อุทิศแล้ว

เพื่อเมืองลำพูน

สืบเนื่องมาจากความสนใจเรื่อง “เมืองเก่า” และฝันอยากเห็นลำพูนเป็นเมือง “มรดกโลก” ทำให้เจ้าป้าได้แรมรอนเดินทางไปประชุม สัมมนาทางวิชาการตามสถาบันต่างๆ ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 10 เวที (ทั้งติดสอยห้อยตามดิฉัน หรือบางครั้งก็ฉายเดี่ยว)

กระทั่งเจ้าป้าเกิดการตกผลึกทางความคิดในด้านแผนการอนุรักษ์เมืองเก่า นำมาซึ่งการได้รับแต่งตั้งจาก สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องเมืองเก่าลำพูน

รวมไปถึงเจ้าป้ายังเป็นตัวแทนชาวลำพูนทั้งจังหวัดเข้ารับโล่รางวัลในฐานะที่จังหวัดลำพูนเป็นเมืองเก่าดีเด่นที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2552 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้คัดเลือกเจ้าป้าชวนคิด ให้เป็นตัวแทนคนลำพูนเข้ารับโล่รางวัลจากรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ก่อนจะจบตอนที่หนึ่งนั้น อยากให้ทุกท่านถ่องแท้กับ “ภาพลักษณ์ที่แท้จริง” ของเจ้าป้าสักหน่อย ภายนอกคุณอาจเห็นภาพสตรีผมสีดอกเลา ร่างเล็ก สูงเพียง 140 เซนติเมตร น้ำหนักเพียง 40 กิโลกรัม เดินเร็ว ปราดเปรียว พูดจาฉาดฉาน เสียงดังฟังชัด วาจาทระนง ดุดัน ใครเห็นแค่ผาดเผินอาจรู้สึกคร้ามกลัว

แต่เมื่อคุณหันมาพินิจสตรีผู้นี้ซ้ำอีกครั้ง คุณอาจจะต้องเปลี่ยนความคิด หากเหลือบไปเห็นซองสีน้ำตาลที่เธอถืออยู่ในเมือ ภายในเป็นกระดาษเอสี่ที่สตรีสูงวัยใช้เวลาประจงร่างขีดเขียนข้อความด้วยลายมือตัวเอง อดตาหลับขับตานอนทั้งคืน ความยาวกว่า 5 หน้า

“ซองอะไรหรือคะเจ้าป้า?”

“ป้าทำเรื่องถึงมหาเถรสมาคม ผ่าน ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดลำพูน ว่าขอให้ทบทวนการเช่าที่ ‘วัดร้างพระเจ้าเผ้อเหร้อ’ ของเทศบาลเมืองลำพูนเพื่อสร้างกาดโต้รุ่งโดยด่วน คือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการสร้างบ้านพักศึกษาธิการทับที่วัดร้าง ป้าเคยเห็นเศียร ‘พระมีหนวด’ สมัยหริภุญไชยทำด้วยศิลาแลงหุ้มปูนทาสีแดงองค์ใหญ่ฝังจมอยู่ใต้พื้นดิน กาดสร้างตรงไหนก็ได้ แต่หลักฐานด้านโบราณคดีสมัยหริภุญไชยในเมืองลำพูนเหลือน้อยเต็มทนแล้ว ป้ารู้ทั้งรู้ว่าจดหมายร้องทุกข์ของป้าคงเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจไม่ได้แน่ แต่อย่างน้อยที่สุด ก็อยากให้พวกเขารู้ว่า ยังมีคนที่รักและหวงแหนประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของบ้านเราเหลืออยู่”

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียว ซึ่งในทุกเศษเสี้ยวลมหายใจของท่านล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวทำนองนี้ เหตุนี้เองกระมัง การจากไปของท่าน ดิฉันจึงรู้สึกว่าได้สูญเสียอีกหลายส่วนเสี้ยวของลมหายใจตามไปด้วยเช่นกัน •