นงนุช สิงหเดชะ : ยิงตำรวจ 5 ศพที่ดัลลัส “อเมริกา” (ย้อนยุคมืด) มาถึงวันนี้จนได้

AFP PHOTO / Laura Buckman

การเกิดเหตุซุ่มยิงตำรวจเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เสียชีวิตไปถึง 5 คน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหาหลายอย่างในอเมริกา โดยเฉพาะปัญหาการเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและปัญหาพฤติกรรมของตำรวจ ที่ถูกปล่อยให้เรื้อรังจนมาถึงจุดวิกฤตที่สุดแล้ว

วิกฤตถึงขั้นที่คนผิวดำต้องฆ่าตำรวจผิวขาวเพื่อล้างแค้นที่ทำกับคนผิวดำเกินกว่าเหตุบ่อยครั้งแบบนับไม่ถ้วน

การซุ่มยิงตำรวจดังกล่าว สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านั้น 2 วันติดกัน คือ 5 และ 6 กรกฎาคม ตำรวจยิงคนผิวเสียชีวิต 2 คนโดยไม่มีเหตุอันสมควร

แต่เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายก็คือเหตุการณ์วันที่ 6 กรกฎาคม ที่ตำรวจผิวขาวยิง ฟิแลนโด คาสติล ชายผิวสีวัย 32 ปีเสียชีวิต คารถ โดยแฟนสาวของเขาที่นั่งอยู่ข้างๆ ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์สดทางเฟซบุ๊ก

แฟนสาวของเขาเล่าเหตุการณ์ว่า ตำรวจเรียกตรวจเพราะไฟท้ายรถของคาสติลเสีย โดยเธอระบุว่าตำรวจเดินมาที่รถและสั่งให้นายคาสติลแสดงบัตรประจำตัว แต่ขณะกำลังล้วงกระเป๋าเพื่อหยิบบัตร ตำรวจก็ยิงทันที ไม่ใช่ยิงแค่นัดเดียว แต่ยิงถึง 5 นัด

แต่ที่สะเทือนใจและน่าแค้นใจที่สุดก็คือลูกสาววัย 4 ขวบของคาสติล ยังนอนหลับอยู่เบาะหลัง และตำรวจก็กระทำเกินกว่าเหตุโดยไม่ได้ดูให้รอบคอบว่ามีคนอื่นโดยเฉพาะเด็ก คนแก่ อยู่ในรถด้วยหรือไม่

เหตุการณ์นี้ทำให้คนในดัลลัส โดยเฉพาะคนผิวสีออกมาประท้วงเพราะรับไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว

และคืนนั้นเองที่มีสไนเปอร์ซุ่มยิงตำรวจดัลลัสที่ออกมาควบคุมฝูงชนเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 12 นาย

 

สไนเปอร์คนนั้นเป็นชายผิวสีวัย 25 ปี ชื่อ ไมคาห์ จอห์นสัน เป็นอดีตทหารกองทัพบกสหรัฐ เคยไปรบที่อัฟกานิสถาน สุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่สังหารด้วยระเบิดที่ติดกับหุ่นยนต์

ตามข้อมูลของตำรวจระบุว่า สไนเปอร์รายนี้ตะโกนว่า เขาผิดหวังที่ตำรวจฆ่าคนผิวสี เขาอยากฆ่าพวกผิวขาว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผิวขาว

การตายของตำรวจทั้ง 5 คน ก็น่าเสียใจพอๆ กับคนผิวดำที่ถูกตำรวจฆ่าแบบไม่มีเหตุอันควร

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตำรวจระดับสูงผู้มีอำนาจ คนในรัฐบาล คนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไม่คิดจะปรับปรุงเพื่อป้องกันปัญหาเลยก็คือวิธีการของตำรวจในการปฏิบัติกับผู้ต้องสงสัย

ที่หลายครั้งแล้วพิสูจน์ว่าตำรวจไร้ดุลพินิจและใช้ความรุนแรง (ยิง) เอาไว้ก่อน

หากฝ่ายที่เกี่ยวข้องจดจำเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ที่เมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบครั้งนี้อีก

คราวนั้นตำรวจยิงชายวัยรุ่นผิวดำเสียชีวิต เหตุเพราะโต้เถียงกัน แล้วตำรวจยิงไปถึง 12 นัด

สุดท้ายอัยการตัดสินว่าตำรวจไม่ผิดทำให้เกิดจลาจลรุนแรงทั่วเมืองหลายสัปดาห์จนต้องประกาศเคอร์ฟิว

ขณะที่เหตุการณ์ล่าสุดนี้ ตำรวจก็ปกป้องกันเอง โดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อตำรวจตัวแสบที่ยิงนายคาสติลเสียชีวิต และพอมีเรื่องตำรวจถูกยิง 5 คน ทุกคนก็พูดถึงแต่การรำลึกไว้อาลัยตำรวจ แต่ไม่เคยมีการพูดว่าจะปฏิรูปแนวทางปฏิบัติสำหรับตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร

และไม่พูดถึงว่าจะเยียวยาผู้ตายอย่างไรและจะจัดการตำรวจที่เป็นต้นเหตุอย่างไร

วิธีแก้ปัญหาของอเมริกา ก็ยังเป็นวิธีที่ไม่ใช้สติปัญญาพิเคราะห์รากเหง้าปัญหา ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เก่งด้านวิเคราะห์ เช่นเดียวกับปัญหาการปล่อยให้พลเมืองพกพาปืนอย่างเสรี เฉลี่ยแล้วมีคนละ 1 กระบอก บางคนอาจมีถึง 3-4 กระบอก มีเหตุกราดยิงกันตายที ก็ออกมาแสดงวาทกรรมให้ความหวังที แล้วก็จบ สุดท้ายปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

ตำรวจเป็นอย่างนั้นเพราะได้รับการส่งเสริมให้ใช้กำลังความรุนแรงมาแต่ไหนแต่ไรจนกระทั่งมองว่าเป็นสิทธิของตัวเองอย่างเด็ดขาดที่จะทำกับพลเมืองอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะกับคนผิวดำ

ตำรวจมะกันไม่เคยมีจิตสำนึกเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน

ดังนั้น แม้จะเป็นประเทศที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยและเที่ยวสั่งสอนคนอื่นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เหตุการณ์ที่ดัลลัสและที่อื่นๆ ทั่วอเมริกากรณีปฏิบัติต่อคนผิวดำ เป็นการกระชากหน้ากากความเป็นอเมริกาว่าไส้ในยังเหยียดเชื้อชาติ ที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอตั้งแต่ยุคทาส หรือในทศวรรษ 1960 ที่มีการแบ่งแยกสีผิว โดยคนขาวทำตัวเป็นนายทาสของคนผิวดำ เช่น บนรถเมล์ก็ถูกแบ่งครึ่ง คนดำต้องนั่งด้านหลังเท่านั้นและต้องสละที่นั่งให้คนขาว ร้านอาหาร หรือที่อื่นๆ ก็ห้ามคนผิวสีเข้ามาปน

อีกประการหนึ่งการปล่อยให้พลเมืองทุกคนพกปืนได้อย่างเสรี นำมาซึ่งความหวาดระแวงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเมืองทั่วไป เวลามีปัญหาอะไร ตำรวจก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอีกฝ่ายมีปืน และตัวเองกลัวถูกยิงจึงต้องยิงผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ยิงให้แค่บาดเจ็บหรือสกัด แต่หวังให้ตายเลยทีเดียว

วงจรอุบาทว์แห่งความตายและความรุนแรงจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในอเมริกาและถี่ขึ้น


อีกอย่างหนึ่งเวลาพลเมืองถูกกระทำจากตำรวจ อย่าหวังว่าชาวบ้านจะได้รับความยุติธรรม เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ตำรวจไม่เคยถูกลงโทษ แม้จะชัดเจนว่าตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุ และภาคประชาชนก็อ่อนแรง ไม่ได้แข็งแกร่งแบบไทย ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดกับไทยรับรองว่าถูกล้อมโรงพักแน่

ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 ที่กลุ่มอัลกออิดะห์วินาศกรรมสหรัฐ ยิ่งกระตุ้นให้ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัยโดยไม่ใช้ดุลพินิจให้รอบคอบก่อนยิง เรียกว่าตำรวจสติแตกเพราะประสาทรับประทาน

อย่างไรก็ตาม โดยปกติตำรวจสหรัฐก็เป็นพวกโหดอยู่แล้วในการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัย ไม่เว้นว่าคนนั้นจะเป็นผู้หญิง เช่น คลิปตำรวจชายกระโดดถีบผู้ต้องหาหญิงที่ถูกจับมาโรงพักเพราะเธอโวยวายตามประสาว่าจับมาทำไม ไม่ได้ทำผิด

หญิงคนนั้นถูกใส่กุญแจมือไพล่หลังและนั่งบนเก้าอี้ ตำรวจนายนั้นกระโดดถีบเธอคาเก้าอี้จากด้านหลัง ทำให้เธอล้มคะมำไปด้านหน้า หน้ากระแทกพื้นพร้อมเก้าอี้

หรืออีกเหตุการณ์หนึ่ง ตำรวจเข้าไปจับตัวนักศึกษาหญิงผิวดำในห้องสอบ แทนที่จะจับด้วยการเชิญตัวมาดีๆ แต่ไม่รู้โกรธกันมาแต่ชาติปางไหน ตำรวจชายนายนั้นเอามืองัดพนักเก้าอี้ (โต๊ะสอบเป็นแบบตัวเก้าอี้และโต๊ะเชื่อมเป็นชิ้นเดียวกัน) จากด้านหลังให้คว่ำไปด้านหน้า จนนักศึกษาหญิงคนนั้นล้มหน้ากระแทกพื้นห้อง ต่อหน้าต่อตานักศึกษาคนอื่น

ตำรวจไทยที่บ่นกันว่าโหดหรือทำเกินกว่าเหตุยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของตำรวจมะกันด้วยซ้ำ

นี่คือความอัปยศของประชาธิปไตยในอเมริกา ประเทศซึ่งปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี แต่ประธานาธิบดีแทบไม่มีอำนาจจัดการอะไร เพราะแต่ละรัฐมีกฎหมายของตัวเอง เหมือนอยู่คนละประเทศ ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครเป็นศูนย์กลางให้พึ่งพิง เพราะว่าเสรีภาพท่วมท้นกันทุกฝ่าย

เป็นประชาธิปไตยที่ทำให้พลเมืองตาดำๆ ว้าเหว่ โดดเดี่ยว พึ่งใครไม่ได้

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรก ซึ่งชนะเลือกตั้งด้วยสโลแกนหรู “Change” แต่อยู่มาเกือบ 8 ปี ก็ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มีแต่พูดจาบ๋อแบ๋บ้อท่า เล่นโวหารไปวันๆ

แต่แปลก เวลาอเมริกามีปัญหาสิทธิมนุษยชน อย่างเรื่องคนผิวสี หรือเรื่องความรุนแรงจากการใช้อาวุธ ไม่มีเอกอัครราชทูตของประเทศไหนที่ประจำอยู่ในอเมริกา แม้แต่เอกอัครราชทูตไทย ออกมาวิจารณ์อเมริกา อย่างที่ทูตอเมริกันชอบทำกับประเทศอื่น

เพราะฉะนั้น คนไทยบางกลุ่มที่เอะอะ ก็วิ่งโร่ไปขอพึ่งสถานทูตอเมริกาให้ช่วยเหลือปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในไทยในตอนนี้ ก็พึงตระหนักว่าพึ่งผิดคนและน่าหัวร่อ